xs
xsm
sm
md
lg

“ป่าแหว่ง”ขัด รธน. ไม่ประชาพิจารณ์ก่อนสร้าง แนะตีความ“ป่าเสื่อมโทรม”ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาค ปชช.ชี้ข้อพิพาท “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ทำให้คนไทยตื่นตัวเรื่องธรรมชาติมากขึ้น ย้ำต้องดูความต่าง “ป่าสมบูรณ์-ป่าเสื่อมโทรม” ให้ชัด ระบุบางพื้นที่เคยเสื่อมแค่ฟื้นตัวเป็นป่าสมบูรณ์แล้ว วอน รบ.อย่ามองเป็นศัตรู ชี้คุณค่าทางนิเวศมีมูลค่ามหาศาลกว่า “บ้านพักสุดหรู” อีกด้าน “นักวิชาการ” เปิดประเด็น “บ้านพักผู้พิพากษา” อาจขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 67 ที่กำหนดถามผู้มีส่วนได้เสียก่อน หากเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ชุมชน สิ่งแวดล้อม แนะ “ชาวเชียงใหม่” ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าถูกละเมิด

จากกรณีปัญหาโครงการก่อสร้างบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 และข้าราชการตุลาการ บริเวณป่าเชิงดอย สุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ถูกภาคประชาชนและนักอนุรักษ์ต่อต้าน จนเกิดกระแสวิพาก์วิจาร์ในวงกว้าง พร้อมขนานนามว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง”

วานนี้ (12 เม.ย.) น.ส.ลักขณา ศรีหงส์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม ซึ่งเป็น 1 ใน 16 เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า ข้อพิพาทบ้านพักตุลาการครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนได้ท้วงติงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับสถาบันตุลาการ ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศก็ตาม แม้ผลลัพธ์อาจจะไม่ง่าย แต่ก็ทำให้ประชาชนตื่นตัว ตระหนักว่าหากไม่แก้ไขปัญหาลักษณะนี้จะหมักหมมต่อไป อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามของประชาชนต่อรัฐ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเป็นศัตรู และรัฐควรดีใจที่ประชาชนใส่ใจเรื่องส่วนรวมของประเทศด้วยซ้ำ อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะได้มามองร่วมกันว่าจะฟื้นฟูผืนป่าอย่างไร ใช้พื้นที่ป่าให้ตรงกับวัตถุประสงค์ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการหาโอกาสเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่เพียงแต่ผืนป่าดอยสุเทพ ยังจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดอยอื่นๆด้วย เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าพื้นที่ป่าสมบูรณ์เป็นอย่างไร เขตป่าถูกตีความใหม่ว่าบางพื้นที่ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม แต่มีการฟื้นตัวเป็นป่าสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะทำอะไรกับป่าลักษณะนี้อย่างไรไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

“เป็นปรากฎการณ์ใหม่ ที่ทำให้ได้รับรู้ว่า มีคนไทยโกรธเรื่องบ้านพักตุลาการที่เชิงดอยสุเทพมาก เพราะเห็นชัดว่าป่าถูกทำลาย ในฐานะคนดูแลโครงการเขียว สวย หอม ที่รู้สึกเสียดายคุณค่าทางนิเวศที่ถูกทำลาย ถือเป็นมูลค่าที่มหาศาลมากกว่าราคาอาคารและบ้านพักที่ก่อสร้าง แต่เราช่วยกันฟื้นฟูได้ หากร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องได้ป่าผืนนี้คืนมาก่อน” น.ส.ลักขณาระบุ

น.ส.ลักขณา กล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้ภาครัฐอาจจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา แต่ในส่วนของภาคประชาชนจะยังเคลื่อนไหวต่อไป โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในวันที่ 13 เม.ย.เป็นต้นไป เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจะเริ่มรณรงค์แจกริบบิ้นและสติกเกอร์สีเขียวให้กับผู้ที่อยากเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงสัญลักษณ์ ณ เฮือนคำปิน คูเมืองด้านในใกล้แจ่งขะต้ำ หรืออยากบริจาคผ้าและริบบิ้นสีเขียวก็สามารถนำมามอบให้ทีมงานได้ เพื่อเดินหน้าเป็นเครือข่ายที่บริสุทธิ์ต่อไป และหลังเทศกาลสงกรานต์จะมี 3 กิจกรรมใหญ่ที่สร้างสรรค์ และพร้อมเดินหน้าต่อคือ 1.โครงการเขียว สวย หอม จะจัดทริปเขียวชมป่าแหว่ง พาผู้สนใจและเยาวชนร่วมกิจกรรมเดินป่าแบบเทรลโดยรอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อให้ได้เห็นทรัพยากรธรรมชาติป่าต้นน้ำที่ยังอุดมสมบูรณ์ 2.ชมรมอนุรักษ์นกล้านนา จะจัดการดูนกในพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าและนกธรรมชาติ บริเวณเส้นทางท่องเที่ยวของหมู่บ้านห้วยตึงเฒ่าที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักษาป่าใกล้เมืองเอาไว้ในลูกหลาน และ 3.กิจกรรมการแสดงงานศิลปะจากศิลปินมืออาชีพและเยาวชนที่มาจากแรงบันดาลใจต่อสถานการณ์ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คาดว่าจะจัดกิจกรรมราวปลายเดือน เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้เกิดการถกเถียงประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ ดำเนินการสร้างบ้านพักผู้พิพากษาบริเวณผืนป่าเชิงดอยสุเทพ ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยระบุว่า แม้บริเวณโครงการจะไม่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนก็ตาม แต่เป็นที่รับรู้ว่า เป็นพื้นที่ป่าตามธรรมชาติ ที่เมอื่มีโครงการบ้านพักเข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนกลุ่มชาวเชียงใหม่ และนักอนุรักษ์หลายกลุ่ม ออกมาแสดงความเป็นห่วงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ รวมทั้งข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องด้านรักษาป่าไม้ของรัฐเอง ก็ชี้ว่าการสร้างอาคารต่างๆในโครงการเป็นการการปิดกั้นทางเดินของน้ำ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่การเกษตรด้านล่าง และผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตประชาชน ชาวเชียงใหม่ที่อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพด้วย ที่อาจจะได้รับผลกระทบ

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เมื่อพิจารณาในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างแล้ว อาจพิจารณาได้ว่า โครงการก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษาครั้งนี้ ขัดกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในขณะที่มีการริเริ่มก่อสร้าง มีสาระสำคัญว่า การดำเนินการใดๆของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง แต่การสร้างบ้านพักบริเวณผืนป่าเชิงดอยสุเทพเพียงแต่ได้รับอนุญาตจากทางราชการที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน ขณะที่ มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้การดำเนินการหรือการอนุญาตที่อาจจะส่งผลกระทบดังกล่าว รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ยังมีการเสนอในหมู่นักวิชาการด้วยว่า หากประชาชนชาวเชียงใหม่เห็นว่าสิทธิที่ตนได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญถูกละเมิด ก็สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของโครงการสร้างบ้านพักของศาลบริเวณผืนป่าเชิงดอยสุเทพว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่.


กำลังโหลดความคิดเห็น