xs
xsm
sm
md
lg

ขั้วอำนาจเปลี่ยนแล้ว : อะไรที่ถ่านหินและก๊าซฯ ทำได้ แสงแดดและลม + แบตเตอรี่ ทำได้ถูกกว่า

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ช่วงนี้คนไทยเราให้ความสนใจกับขั้วอำนาจทางการเมืองโดยเฉพาะการเมืองหลังการเลือกตั้งซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีระดับหนึ่งครับ แต่สำหรับผมแล้ว ผมให้ความสนใจขั้วอำนาจที่อยู่เบื้องลึกหรือเป็นฐานของระบบการเลือกตั้งมากกว่าครับ นั่นคืออำนาจในการจัดการระบบพลังงานของประเทศ เพราะพลังงานคือหัวใจสำคัญของประเทศ

นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมานานแล้วว่า “พลังงานคือชีวิต ถ้าไม่มีพลังงานก็จะไม่มีอะไรเคลื่อนไหว และไม่มีชีวิต” เพราะแม้แต่ตอนที่เรานอนหลับอยู่หัวใจก็ยังต้องการพลังงานในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบภายใน

ย้อนหลังไปประมาณ 200-300 ปีก่อน ตอนที่แหล่งพลังงานยังไม่ถูกรวมศูนย์และผูกขาดเหมือนทุกวันนี้ คนทั้งโลกมีความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจน้อยมากเพราะมือของแต่ละคนยาวใกล้เคียงกัน แต่ในวันนี้มหาเศรษฐีใหญ่ที่สุด 8 คนแรกของโลกมีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับคนชั้นล่างครึ่งโลกรวมกัน สาเหตุหลักพัฒนามาจากการผูกขาดแหล่งพลังงานฟอสซิลซึ่งรวมศูนย์ แม้มีบางคนใน 8 คนนี้ไม่ได้เริ่มมาจากกลุ่มพลังงานฟอสซิล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากระบบรวมศูนย์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ดังนั้น การรวมศูนย์จึงเป็นกลไกสำคัญของการก่อปัญหาโลกทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

รวมทั้งปัญหาโลกร้อนที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกได้โหวตให้เป็นปัญหาที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ชาวโลกต้องเผชิญ ก็มีสาเหตุสำคัญจากการเผาพลังงานฟอสซิลซึ่งได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่ทั้งระบบการผลิตและจำหน่ายยังคงเป็นระบบรวมศูนย์และผูกขาดอย่างไม่เสื่อมคลาย

แต่วันนี้ผมมีข่าวดีและข่าวใหญ่มาบอกครับ มันดีและใหญ่พอที่จะแก้ปัญหาของโลกที่ผมได้กล่าวมาแล้วได้ทีเดียว ผมมั่นใจครับแต่ทำนายล่วงหน้าได้เลยว่าข่าวอย่างนี้จะไม่ปรากฏในสื่อสาธารณะของสังคมไทยที่มีลักษณะผูกขาดเช่นเดียวกัน

ข่าวที่ผมกล่าวถึงมาจากผลงานวิจัยล่าสุดของกลุ่มวิจัย “Bloomberg New Energy Finance (BNEF)” ซึ่งอธิบายตัวเองว่า “เป็นองค์กรวิจัยที่ช่วยเหลือมืออาชีพด้านพลังงานในการสร้างโอกาส” ผมเองยังไม่มีโอกาสได้อ่านต้นฉบับของรายงานวิจัยดังกล่าว แต่ Mike Scott ได้เขียนลงเผยแพร่ใน Forbes เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ภายใต้ชื่อ “Power Shift: Anything Coal And Gas Can Do, Renewables And Energy Storage Can Do Cheaper” ซึ่งชื่อบทความนี้ก็ดัดแปลงมาจากที่นี่ครับ

วิธีการเปรียบเทียบต้นทุน ทาง BNEF ใช้การคำนวณหาต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยตลอดอายุโครงการหรือที่เรียกว่า LCOE ของโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆของโลก พบว่า ค่า LCOE ของกังหันลมบนบกในประเทศอินเดีย สวีเดน บราซิล และ ออสเตรเลียมีค่าต่ำที่สุด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้นทุนไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมบนบกมีราคาถูกกว่าที่ผลิตจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ (รวมทั้งนิวเคลียร์ด้วย) ในขณะที่ค่า LCOE ของโซลาร์เซลล์ ในอินเดีย จอร์แดน ชิลี และออสเตรเลียมีค่าต่ำที่สุด

บทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงประเทศไทยเรา แต่ก็พอจะเทียบเคียงกันได้เมื่อเทียบกับตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

รายงานวิจัยกล่าวว่า กังหันลมบนบกในอินเดีย (โดยคร่าวๆ นะครับเพราะอินเดียกว้างใหญ่ไพศาลมาก) ในต้นปีนี้มีค่า LCOE เท่ากับ 3.9 เซนต์ (หรือ 1.25 บาท) ลดลงจากปีก่อนถึง 46% ในขณะที่โซลาร์เซลล์เท่ากับ 4.1 เซนต์ (หรือ 1.31 บาท) ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2560 ถึง 45%

ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกันเท่ากับ 6.8 เซนต์ (หรือ 2.18 บาท) และ 9.3 เซนต์ (หรือ 2.98 บาท) ตามลำดับ (หมายเหตุ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เคยชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อประมาณปี 2556 สำหรับโรงไฟฟ้าเทพาเท่ากับ 2.67 บาทต่อหน่วย)

ในขณะที่การผลิตจากกังหันลมซึ่งลมไม่มีความต่อเนื่องแต่เมื่อนำมาเก็บลงแบตเตอรี่ (ทำให้มีความต่อเนื่องจะมีราคาต่อหน่วยอยู่ระหว่าง 1.09 บาทถึง 6.66 บาท (ช่วงกว้างมากหน่อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและตำแหน่งที่ชัดเจน)

ทำนองเดียวกัน โซลาร์เซลล์บวกแบตเตอรี่ (ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแม้ในเวลากลางคืน) จะมีราคาอยู่ระหว่าง1.50 บาทถึง 9.90 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า

ในบทความฉบับที่แล้ว ผมได้นำเสนอผลการพยากรณ์ราคาแบตเตอรี่โดย Tony Seba ว่าได้ลดลงอย่างรวดเร็วจากประมาณจาก $1,000 ต่อ kwh เมื่อปี 2010 แต่จะลดลงเหลือ $250 ในสิ้นปี 2561 แต่จากรายงานผลการวิจัยของ BNEF พบว่าแค่เพียง 3 เดือนแรกของปี 2561 เอง ราคาแบตเตอรี่ได้ลดลงมาเหลือเพียง $209 ต่อ kwh คือทั้งลดลงในเวลาที่เร็วกว่าและราคาต่ำกว่า ผมได้นำภาพดังกล่าวมาให้ดูกันอีกครั้งครับ

เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงนักเทคโนโลยียุคใหม่คนหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Gordon E. Moore เขาได้ใช้เวลาในการสังเกตมาเป็นเวลานานแล้วสรุปเป็นกฎเรียกว่า “กฎของมัวร์ (Moore’s Law)” พอสรุปได้ว่า “เทคโนโลยีที่ใช้สารของแข็งกึ่งตัวนำ (Solid State) จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัวในทุกๆ 18 ถึง 24 เดือน ในขณะที่ต้นทุนในการผลิตจะลดลงเหลือประมาณครึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน” (กฎนี้มาจากการสังเกต ไม่ได้ตรงเปี๊ยะเหมือนที่ผมได้เขียนมาแต่ใกล้เคียงครับ)

ถ้าเราดูจากกราฟในรูปข้างต้น พบว่าในสิ้นปี 2016 ราคาแบตเตอรี่ราคา $325 ต่อ kwh โดยอาศัยกฎของมัวร์ ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าประมาณสิ้นปี 2018 และ 2020 ราคาแบตเตอรี่จะลดลงมาเหลือประมาณ $165 และ $85 ตามลำดับ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการเก็บไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นสองเท่า

ยังมีอีก 2 ประเด็นที่โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ประเด็นแรกคือการตอบสนองความต้องการในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมากหรือที่เรียกว่าพีค (Peak) เช่น ระหว่างเวลาประมาณ 1-2 ทุ่ม ไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ก็สามารถนำมาใช้แทนได้

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องโรงไฟฟ้าหลักหรือโรงไฟฟ้าฐาน (Baseload) เรื่องนี้ผมได้เขียนบทความเรื่อง “มายาคติตัวที่สี่ : ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นโรงไฟฟ้าหลักไม่ได้” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (https://mgronline.com/daily/detail/9610000021800) ผลงานวิจัยชิ้นนี้ก็สามารถยืนยันได้

โดยสรุป ตามชื่อบทความเลยครับ ขั้วอำนาจเปลี่ยนแล้ว : อะไรที่ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติทำได้ แสงแดดและลม + แบตเตอรี่ ทำได้ถูกกว่า

ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น