xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิกฤตหมอกควันพิษ เชียงใหม่ อีกกี่ปีกี่ชาติ ถึงจะแก้ปัญหาได้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผู้จัดการสุดสัปดาห์” - สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน ฯลฯ คุกคามสุขภาพประชาชนมานานนับทศวรรษ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ของทุกๆ ปีปัญหามลพิษทางอากาศเวียนทวีความรุนแรงยากจะหลีกเลี่ยง แม้รัฐพยายามแก้ปัญหาก็ยังไม่เห็นผลในเชิงประจักษ์ แถมยังดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

กระทั่งนำมาซึ่งภาพวาดสะท้อนปัญหามลพิษทางอากาศที่ศิลปินบรรจงวาด “3 บูรพกษัตริย์ผู้สร้างเมืองชียงใหม่ สวมหน้ากากอนามัย” ป้องกันฝุ่นควัน และลุกลามเป็นเหตุให้พ่อเมืองเชียงใหม่แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เผยแพร่ในโซเชียลฯ ในข้อหาว่าด้วยการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ความว่า เป็นการลบหลู่ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่อันเป็นนับถือของคนเชียงใหม่ รวมทั้ง กระทบภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยว

รวมทั้งก่อให้เกิดกิจกรรมเคลื่อนไหวของภาคสังคมรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพระยะยาวจากปัญหาหมอกควันพิษ แสวงหามาตรการจัดการและป้องกันอย่างมีประสิทธิผลจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหวังแก้ปัญหาหมอกควันขาวขุ่นที่ปกคลุมทั่วเมืองเชียงใหม่ในช่วงหน้าแล้ง

ทั้งนี้ การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือ ที่ผ่านมาดูเหมือนยังไม่มีการรายงานคุณภาพอากาศอย่างตรงไปตรงมา สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ จ.เชียงใหม่ มีเพียง2 สถานนีเท่านั้น และคำนวณแค่เพียงค่า PM 10 จึงทำให้ไม่สามารถแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการรายงานคุณภาพอากาศ ต้องใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5

กระทั่งมีข้อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและรัฐบาลแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษทางอากาศในเรื่องมาตรการวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งทางเครือข่ายภาคสังคมเมืองเชียงใหม่ได้จัดทำระบบแจ้งเตือนคุณภาพอากาศภาคประชาชน People AQI สร้างระบบเฝ้าระวัง วัด และเตือนภัยคุณภาพอากาศด้วยตัวเองโดยใช้ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมี Dust Boy อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ และรายงานผลด้วย PM 2.5 AQI แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเตรียมตัวรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้องทันท่วงที

สำหรับมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ ด้วยสภาพอากาศเอื้อต่อการสะสมของหมอกควัน อากาศร้อนที่กดทับชั้นบรรยากาศ สภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาและแอ่งกระทะเป็นผลพวงจากปัญหาไฟป่า และการเผาพืชทางการเกษตร ทั้งจากในพื้นที่ภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะยาวต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

สถานการณ์การหมอกควันพิษเกิดขึ้นในเชียงใหม่มานานนับสิบปี ผู้คนจำนวนหนึ่งอยู่ร่วมกับหมอกควันพิษด้วยความเคยชิน โดยไม่รู้พิษสงเลยว่าฝุ่นละขนาดเล็กเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

อ้างอิงงานวิจัยของ นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า เฉพาะ จ.เชียงใหม่ มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ประมาณ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ในภาคอื่นๆ มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด เฉลี่ยประมาณ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน

แน่นอนว่า หากปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ อีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันในฐานะนักเคลื่อนไหวในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติ แสดงความคิดเห็นตอนหนึ่งผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ความว่า

“...ผู้ที่เจตนาดี เสียสละลุกขึ้นช่วยรณรงค์สร้างความตระหนักให้ประชาชน ก็ถูกภาครัฐ มองเป็นศัตรู ให้งดกิจกรรมรณรงค์ไม่พอ ยังทำเรื่องกล่าวโทษฟ้องร้องว่าทำเสื่อมเสียภาพลักษณ์

...จริงอยู่ว่า หลายคนอาจรู้สึกว่าการเผยแพร่ภาพ บรรพกษัตริย์ (แห่งอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ) สวมหน้ากากพิษเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ตามธรรมเนียม (แม้เป็นเรื่องปกติในสากล) แต่หากมองเจตนา ของผู้เผยแพร่ นั้นที่สุดไม่ใช่การลบหลู่ แต่ต้องการสร้างความตระหนักให้กับสังคม เพื่อหวังให้เกิดการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ในทุกภาคส่วน

...ผู้บริหารภาครัฐ โดยเฉพาะทางจังหวัด เป็นห่วงแต่ภาพพจน์ของตนเอง มากกว่า สุขภาพประชาชน ประชาชนรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำตัว เหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ไม่ฟังเสียงประชาชน เอะอะก็บอกจะฟ้องร้อง มองประชาชนเป็นศัตรู”

…ในฐานะเจ้าบ้านผู้มีความรับชอบ เราควรแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนถึงสถานการณ์ความรุนแรงของสภาวะมลพิษทางอากาศอย่างตรงไปตรงมา อยากให้เขาเห็นว่าเราคำนึงถึงความปลอดภัยสุขภาพของเขามากกว่าเงินในกระเป๋าของเขา ผมเชื่อว่า โดยวิธีคิดแบบนี้แม้เราอาจสูญเสียรายได้ไปบ้างในระยะสั้น แต่ชื่อเสียงของเราในการเป็นเจ้าบ้านที่รับผิดชอบจะสร้างความเชื่อมั่น ความรู้สึกที่ดี ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจท้องถิ่นของเราในระยะยาว”
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
นพ.รังสฤษฎ์ เปิดเผยกับผู้จัดการสุดสัปดาห์ว่า บทบาทของภาครัฐในการจัดการปัญหาหมอกควันอาจยังไม่ตระหนักเท่าที่ควร อาจเพราะยังไม่เห็นสเกลของปัญหาว่าจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายอย่างไร ไม่ได้มองว่าอีก 10 ปีข้างจะเผชิญกับอะไร การเพิ่มขึ้นของความชุกของโรคต่างๆ ที่กล่าวมาจะเพิ่มขึ้น และเกิดการสูญเสียทรัพยากรมากเพียงใด ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วจะวางแผนล่วงหน้าไม่ปล่อยปัญหาเกิดสะสม

ปัญหาเรื่องหมอกควันในเมืองเชียงใหม่ ทางการยังมองเพียงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวกระทบต่อรายได้ ปิดกั้นข้อเท็จจริงสถานการณ์หมอกควันซึ่งเป็นปัญหา กลบเกลื่อนความรุนแรงของสถานการณ์

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวต่อไปว่าปัญหาหมอกควันพิษเกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ประชาชนยังขาดองค์ความรู้ไม่ตระหนักถึงปัญหา โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยังไม่เข้าใจและเพิกเฉยกับการดูแลสุขภาพ เช่นเดียวกัน คนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสปัญหาฝุ่นควันพิษด้วยตัวเอง ปัญหาฝุ่นควันไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทยอีกต่อไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องตระหนัก

ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องเกรงกลัวว่าผู้คนจะแตกตื่น เพราะมันคือ Fact (ข้อเท็จจริง) การให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาไม่ก่อเกิดดรามา เป็นการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ปัญหาฝุ่นละอองเป็นปัญหาทั้งภูมิภาคต้องมีการพูดคุยหาแนวทางร่วมกัน ยกตัวอย่าง การพยากรณ์อากาศประจำวันต้องเพิ่มเติมรายงานคุณภาพอากาศเข้าไปด้วย เพื่อให้ประชนหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุด

อีกทั้ง ประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจผลเสียด้านสุขภาพอย่างแท้จริง ปัญหาเรื่องหมอกควันส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าอาการระคายเคือง แสบตา คอแห้ง ขี้มูกดำ ฯลฯ

“ฝุ่นละอองเหล่านี้มีส่วนประกอบหลายอย่าง บางชนิดมีสารก่อมะเร็งมีสารกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมลงไป และถ้ามันเล็กมากเกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5มันสามารถเข้าสู่ถุงลมดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เลย พอเข้าสู่กระแสเลือดนั่นแปลว่าทุกอวัยวะในร่างกายไม่ปลอดภัยแล้ว ไม่เฉพาะระบบการหายใจแล้วระบบทุกอย่างกระทบไปด้วย นำมาสู่โรคร้ายแรงหลายอย่าง โรคหัวใจ หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต”

เหล่านี้เป็นผลกระทบสุขภาพระยะยาวการสะสมสารพิษจะฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ รวมทั้ง กลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กและผู้สูงอายุ

“ฝุ่นขนาดเล็กมันไม่ก่อให้เกิดอาการทันที คนก็ชะล่าใจ ไม่เป็นมีอะไร แต่ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นทุกวันๆ สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสถานการณ์หมอกควัน มันเป็นพิษสะสมเรื้อรัง เราไม่มีใครหนีพ้น เพราะว่าทุกคนหายใจ เพราะฉะนั้นความเสี่ยงมันก็คูณจำนวนประชากรที่มีอยู่ทุกคนรับความเสี่ยงทั้งหมด ก็คือผลเสียที่เกิดอัตราการตายเพิ่มขึ้นด้วยโรคที่เพิ่มขึ้น มันเป็นภาระใหญ่ของสาธารณะสุขทั้งประเทศ”

รัฐต้องดำเนินนโยบายยึดหลักฐานเชิงประจักษ์ อย่าปิดบังข้อมูลใดๆ ที่สำคัญเรื่องกระบวนทางสังคมในแง่การมีส่วนร่วม อย่ามองประชาชนเป็นศัตรู การที่ประชาชนออกมารณรงค์ไม่ได้ทำให้ใครเสียหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหมอกควันพิษไม่เพียงเป็นปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครก็เผชิญวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน เนื่องด้วยสภาพอากาศนิ่ง บางวันก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ บางวันก็มีค่าสูงเกินมาตรฐาน

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญก็คือ คนเมืองไม่เคยได้รับผลกระทบจากหมอกควันจึงไม่มีการเตรียมตัวป้อง ไม่สวมหน้ากาก หรือสวมหน้ากากโดยที่ไม่รู้ว่าต้องสวมแบบใดถึงป้องกันฝุ่นละลองขนาดเล็กได้ ขณะเดียวกัน แม้อากาศไม่ดีแต่กลับมีคนออกกำลังกายกลางแจ้ง ซึ่งส่งผลอันตรายต่อร่างกายเพราะขาดองค์ความรู้

แน่นอน บทเรียนที่เกิดขึ้นกับทั้งสถานการณ์หมอกควันที่เชียงใหม่ และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กรุงเทพฯ เป็นสิ่งภาครัฐต้องทบทวนและดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น