xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มาตรการปราม ขรก.ทุจริต"ฉบับ คสช." คู่ขนานประเมิน 9 หมื่น"ผู้บริหารองค์การรัฐ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กำลังจะมีการประกาศใช้ “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาคราชการ”ตามที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเมื่อ วันอังคารที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายเลขานุการ คสช. รายงานว่า ที่ผ่านมามีการร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงานราชการ ต่อจากนี้จึงขอให้ “หัวหน้าหน่วยงานราชการ”เริ่มดำเนินการตรวจสอบข้อมูลทันทีให้ได้ผล
 
มาตรการในเบื้องต้นเขียนไว้ว่า เบื้องต้นใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับข้อมูล“การทุจริต”และหัวหน้าส่วนราชการองค์กรนั้น จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากพบข้อเท็จจริงว่า“มีการทุจริต”ให้ หัวหน้าส่วนราชการ“ผู้นั้น”มีอำนาจปรับย้ายบุคคลที่ถูกชี้มูลมาประจำการที่ “สำนักนายกรัฐมนตรี”ก่อนได้

โดยขณะนี้ มีตำแหน่ง“ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี”ไว้รองรับกว่า 100 ตำแหน่ง ข้อมูลของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ระบุว่า มีการใช้งบฯ ปรับปรุงห้องทำงาน อาคารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (อาคาร 44) จำนวนมาก มีห้องทำงานรับรองจำนวนมาก

กลับมาที่มาตรการข้างต้น มีการะบุด้วยว่า นอกจากนี้ หาก“หัวหน้าส่วนราชการ”พบว่า มีหลักฐานชัดเจน ที่สามารถชี้มูลได้ ให้ “ผู้บริหารส่วนราชการ”สามารถดำเนิน “มาตรการทางวินัย”ได้ทันที

“ทั้งการไล่ออก ตัดเงินเดือน หรือโยกย้ายตำแหน่ง และห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อตัดวงจรการแก้แค้นโดยไม่ต้องรอการดำเนินคดีทางอาญา เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของราชการเป็นไปอย่างโปร่งใส และจะต้องมีหลักประกันความปลอดภัยแก่พยานบุคคล หรือข้าราชการชั้นผู้น้อยด้วย แต่หากพยานให้ข้อมูลเท็จก็จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด”
                    
   เห็นว่า “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาคราชการ”มีคำสั่งจากรัฐบาล ให้ดำเนินการ“คู่ขนาน”ไปกับ “แนวทางการประเมินผู้บริหารองค์การ”ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับไฟเขียวจากนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

วันก่อน ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด อธิบดี /หัวหน้าส่วนราชการ เทียบเท่าอธิบดี 137 ส่วนราชการ และปลัดกระทรวง 16 กระทรวง ได้ร่วมประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล กับกระทรวงมหาดไทย และ ก.พ.ร. เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินผลและวิธีปฏิบัติ สำหรับใช้ในการประเมินตนเองของผู้ถูกประเมิน

ถามว่า “แนวทางการประเมินผู้บริหารองค์การ”คืออะไร

เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ได้รับการบ้านจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ให้กำหนด “แนวทางการประเมินผลผู้นำในองค์กร”เพิ่มจากการประเมินปกติประจำปี จำนวน 10 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน โดยให้ประเมินทุก 6 เดือน

โดยกลุ่มผู้ถูกประเมิน ได้แก่ ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า 28 คน อธิบดีหรือเทียบเท่า และผู้ว่าราชการจังหวัด 82 คน นายอำเภอ 878 คน ผู้บริหารท้องถิ่น ( อบจ. 76 คน / เมืองพัทยา 1 คน /เทศบาลนคร/เมือง 208 คน เทศบาลตำบล 2,233 คน และ อบต.5,333 คน) และ กำนัน 7,255 คน ผู้ใหญ่บ้าน 75,032 คน รวมผู้ที่จะถูกประเมิน 91,250 คน

ต่อมา ก.พ.ร. ได้เพิ่มตัวชี้วัด “แนวทางการประเมินส่วนราชการ ปี 2561 ในเชิงผลสัมฤทธิ์”เพื่อการปฏิรูปหัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยราชการ จำนวน 6 เรื่อง เพื่อได้รับทราบแนวทางปฏิบัติ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ การลดพลังงาน ลดเอกสาร ค่าใช้จ่าย การกำกับดูแลการทุจริต การส่งเสริมการใช้ดิจิตัลตามขีดความสามารถที่มีอยู่ การสร้างคุณธรรม จริยธรรมในองค์กร และการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ ดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น
 
ทีนี้มาดูตัวอย่าง “ตัวชี้วัด”10 คะแนน ประกอบด้วยอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ใช้คะแนนการประเมินตามตัวชี้วัดที่ 4.2 มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยการประเมินผู้บริหารองค์การจะดำเนินการประเมินปีละ 2 รอบ โดยรอบการประเมินที่ 1 (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 60 - 31 มี.ค.61) และรอบการประเมินที่ 2 (ตั้งแต่ 1 เม.ย.61 - 30 ก.ย.61)

เริ่มจากข้อ 1.“การลดพลังงาน”พิจารณาจากพลังงาน 2 ชนิด คือ พลังงานไฟฟ้า และ พลังงานด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยหากลดลงในแต่ด้านร้อยละ 10 เทียบกับค่ามาตรฐานการใช้พลังงานของแต่ละหน่วยงาน สำนักนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน จะใช้ระบบ e-report.energy.go.th. ประเมิน

กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบเดียวกันทั้ง 2 รอบการประเมิน (6 เดือน/12 เดือน) คิดค่าระดับคะแนนเต็ม 5 คะแนน เช่น คะแนน 0.5 มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงน้อยกว่าร้อยละ 2.00 หรือ สูงสุด 5 คะแนน มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงตั้งแต่ร้อยละ10.00 ขึ้นไป เป็นต้น

2. เรื่อง“การลดกระดาษ”ให้มีการพิจารณาจากการที่ส่วนราชการได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการทำงาน เช่น การถ่ายเอกสารสองหน้า การนำกระดาษกลับมาใช้ซ้ำ ถ่ายเอกสารเฉพาะสาระสำคัญๆ การนำส่งเอกสารวาระการประชุมผ่าน ระบบ e-mailเป็นต้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการทำงานดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนเงินงบประมาณที่ใช้จัดซื้อกระดาษลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ตั้งไว้สำหรับการซื้อกระดาษของปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เกณฑ์การให้คะแนน โดยวัดจากสามารถลดงบประมาณในการจัดซื้อกระดาษ ได้คะแนนเช่นเดียวกับ“การลดพลังงาน”

3. เรื่อง“การประหยัดงบประมาณ”ได้แก่ งบประมาณที่ส่วนราชการสามารถนำมาประหยัดได้นั้น จะต้องเป็นงบประมาณประเภทงบดำเนินงาน งบลงทุน งบเงินอุดหนุน และ งบรายจ่ายอื่น ที่เบิกจ่าย ในลักษณะค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งส่วนอื่นที่ส่วนราชการเห็นว่าจะสามารถนำมาประหยัดงบประมาณได้

4.“การกำกับดูแลการทุจริต”เป็นการประเมินการกำกับดูแลการทุจริตของผู้บริหารองค์การ สะท้อนจากผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) จากสำนักงานป.ป.ช. และ ป.ป.ท.

โดยเป็นการประเมินอย่างครอบคลุมมิติการกำกับดูแลการทุจริตของผู้บริหารใน 5 องค์ประกอบได้แก่ ความโปร่งใส (Transparency) ความพร้อมรับผิด (Accountability) ความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน(Corruption-Free) วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร (Integrity Culture) และคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน (Work Integrity) ให้มีการดำเนินงานที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

อันนี้ ใช้ผลการประเมิน ITA เป็นหลัก แบ่งออกเป็น 2 รอบการประเมิน รอบแรกพิจารณาจากคะแนน Evidence-Based Integrity and transparency Assessment (EBIT) มีคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน รอบสองจากผลการประเมิน ITA ร้อยละ 100 ส่วนเกณฑ์การให้คะแนน เช่น ได้คะแนน EBIT ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 199.99 คะแนน มีผลการประเมิน ITA น้อยกว่า ร้อยละ 50.00 เป็นต้น

5. “วิสัยทัศน์”หมายถึง ความสามารถในการกำหนดทิศทาง ภารกิจ และเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนและความสามารถในการสร้างความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรของหน่วยงานเพื่อให้ภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์ แบบประเมินในประเด็น “วิสัยทัศน์” ของผู้บริหารองค์การ มีคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยใช้ประเมินทั้ง 2 รอบ
            
        เกณฑ์การให้คะแนน ตรงนี้ มีการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองต่อพันธกิจและภาระหน้าที่ของส่วนราชการ (Mission base)/มีการถ่ายทอดวิสัยทัศน์เพื่อให้เกิดการดำเนินการทั่วทั้งองค์กร มีการกำหนดเป้าประสงค์และตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองต่อพันธกิจขององค์การทั้งระยะสั้นและระยะยาว ติดตามตัวชี้วัดและผลการดำเนินการขององค์การอย่างต่อเนื่อง มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง ความคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น**

6.“การบริหารงานในองค์การที่ริเริ่มแก้ไขข้อบกพร่อง”หมายถึง การพัฒนาและปรับปรุงการทำงานภายในหน่วยงานของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 อย่างน้อย 12 กิจกรรม เช่น การลดการใช้พลังงาน การลดปริมาณเอกสาร การลดภาระงบประมาณ การลดขั้นตอนการทำงาน และปริมาณงานที่ซ้ำซ้อน การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การแก้ไขปัญหาการทุจริต การเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การออกแบบระบบงาน การออกแบบกระบวนการทำงาน การจัดทำคู่มือการทำงานในหน่วยงาน (Work manual ) การมอบอำนาจภายในหน่วยงาน การประสานงานภายในองค์กร การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง เป็นต้น

เพื่อลดข้อผิดพลาดและจุดอ่อนในการปฏิบัติงาน เป็นการวัดความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมได้ตามแผนการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

7. ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลและขีดความสามารถที่มีอยู่และพัฒนาขึ้นทุก 6 เดือน หมายถึง การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แบบประเมินมีจำนวน 10 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน รวม 10 คะแนน โดยใช้แบบประเมินนี้ทั้ง 2 รอบ เช่น การประเมินตนเอง มีการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล โดยมีการกำหนดแนวทาง/แนวปฏิบัติในการพัฒนางานด้านดิจิทัล มีการการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนางาน มีการส่งเสริมให้ความรู้ด้านดิจิทัล/เทคโนโลยีสารสนเทศแก่บุคลากรในหน่วยงาน เป็นต้น

8. การสร้างคุณธรรม จริยธรรมในองค์การ คือ การประเมินการปฏิบัติงาน/บริหารงานโดยยึดหลักคุณธรรม และจริยธรรม ได้แก่ ซื่อสัตย์สุจริต ความถูกต้องชอบธรรม การยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน การยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การไม่เลือกปฏิบัติ และการเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของราชการ โดยเกณฑ์ประเมิน คะแนนต่ำสุด 50 คะแนน สูงสุดได้คะแนน 90 ขึ้นไป

9. การเสริมสร้างขวัญกำลังใจ/การดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา คำนิยามคือ เป็นการสำรวจเรื่องปัจจัยการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ/การดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา ,กลุ่มเป้าหมายผู้ตอบแบบสำรวจ : ข้าราชการทั้งหมดภายในหน่วยงาน ,ต้องได้รับผลการสำรวจผ่านระบบอย่างน้อยร้อยละ 80 ของจำนวนข้าราชการทั้งหมดภายในหน่วยงาน และการคิดคะแนนคิดจากคะแนนเฉลี่ยของข้าราชการทั้งหมดที่ได้ส่งแบบสำรวจ ผ่านระบบ Survey online ทั้ง 2 รอบ (ก.พ. 61 และ ส.ค. 61)

10. การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน (Integration)หมายถึง การที่ส่วนราชการสามารถประสานเพื่อให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของแผนงาน โครงการ กระบวนการ ข้อมูลสารสนเทศ การจัดสรรทรัพยากร การปฏิบัติการ โดยคำนึงถึงหลัก ประหยัด ความคุ้มค่า มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งในการบูรณาการนั้นจะต้องเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างประเทศ พร้อมกำหนดแผนงานการบูรณาการร่วมกัน รวมถึงกำหนดเป้าหมายผลผลิตสำคัญ ที่จะสามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณพ.ศ. 2561

เบื้องต้น รอบแรกประเมินผ่านไปแล้ว และเดือนเม.ย.นี้ จะเริ่มประเมินรอบ 2 คู่ขนานไปกับ “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาคราชการ”ปรามคนทุจริตไปพร้อม ๆ กับโยกย้ายข้าราชการไปคราวเดียวกัน .




กำลังโหลดความคิดเห็น