xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้งในปี 2562 จะเกิดขึ้นหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

แม้ว่ารัฐบาลสื่อสารออกมาหลายครั้งว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนว่าคนจำนวนหนึ่งในสังคมไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง ยิ่งมีเหตุการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับเนื้อหาของ พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส.และ สว. และเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ซึ่งจบลงด้วยการที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลด นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง ก็ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งให้สูงขึ้นไปอีก

อันที่จริงเหตุการณ์ที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป มิใช่เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นหัวหน้ารัฐบาลเคยกล่าวในที่สาธารณะว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งสามารถเป็นอย่างนั้นได้หากให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทันทีภายหลังที่ พ.ร.ป. พรรคการเมืองถูกประกาศใช้ ทว่ารัฐบาลก็ไม่ยอมให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมด้วยข้ออ้างว่าประเทศยังไม่สงบเรียบร้อย เกรงว่าหากอนุญาตให้มีการทำกิจกรรมการเมืองจะนำไปสู่ความวุ่นวาย

ข้ออ้างแบบนี้ด้านหนึ่งสะท้อนความไม่พร้อมในการรับมือกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐบาล และอีกด้านหนึ่งสะท้อนความต้องการขยายเวลาในการครองอำนาจต่อไป

เมื่อจวนตัวเข้าก็เลยใช้มาตรา 44 แก้ไขเนื้อหาบางส่วนของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง และยอมเปิดให้มีการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในเดือนมีนาคม ส่วนพรรคการเมืองเก่าก็ให้เริ่มดำเนินกิจกรรมตามขั้นตอนของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ในเดือนเมษายน

ควบคู่ไปกับ พ.ร.ป. พรรคการเมือง ก็คือ พ.ร.ป. คณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งก็เกิดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาอีกจนได้ ด้วยผู้มีอำนาจต้องการคณะบุคคลใหม่ทั้งชุดเข้ามาเป็นกรรมการเลือกตั้ง จึงกำหนดให้ กกต.ชุดเดิมทั้งหมดสิ้นสภาพไปภายหลังที่มีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ และกำหนดให้มีการเลือกสรร กรรมการเลือกตั้งชุดใหม่ขึ้นมา ขณะที่กรรมการองค์กรอิสระอื่นกลับปฏิบัติอีกแบบ อย่างเช่น ป.ป.ช. ซึ่งกำหนดให้กรรมชุดเดิมทั้งชุดทำหน้าที่ต่อไป เหตุผลสำคัญคือต้องการให้ กรรมการ ป.ป.ช. บางคนที่เคยอยู่ภายใต้เครือข่ายสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นของผู้มีอำนาจรัฐเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไปได้ โดยเขียนกฎหมายแบบเอื้อกันสุดๆ ด้วยการยกเว้นคุณสมบัติต้องห้ามบางอย่างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เมื่อ พ.ร.ป. กกต. ประกาศใช้ก็มีการสรรหาตามกระบวนการและส่งรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาแก่สนช.เพื่อรับรอง ปรากฎว่า สนช.ไม่รับรองแม้แต่คนเดียว ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง การทำแบบนี้ของ สนช. เป็นการเพิ่มตัวแปรที่ส่งผลต่อการเพิ่มระดับความไม่แน่นอนลงไปในสมการเลือกตั้งอีกตัวแปรหนึ่ง จนทำให้ผู้คนตั้งข้อสงสัยว่า หากครั้งต่อไป สนช.เกิดไม่รับรอง กกต.ชุดใหม่อีกครั้งอะไรจะเกิดขึ้น

คนที่มองโลกแบบสวยงามก็ว่าคงคิดไม่มีอะไรเพราะ กกต.ชุดเดิมก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนคนที่มองโลกตามความจริง เห็นว่านี่เป็นสัญญาณแห่งความต้องการขยายเวลาการครองอำนาจต่อไปให้ยาวนานที่สุด คนที่อยากอยู่ในอำนาจนานๆ อาจไม่ใช่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์และเสพสุขจากสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกระจายอยู่ในหลายองค์การโดยเฉพาะใน สนช. อาจมีมากหน่อย ทันทีที่มีการเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้ก็จะหมดอำนาจลงไป การสมคบคิดกันของคนบางกลุ่มใน สนช. และกลุ่มอำนาจรัฐบางกลุ่มเพื่อยื้อเวลาเลือกตั้งออกไปจึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้สูง

ครั้นมาถึง พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ว.และ ส.ส. ก็มีเหตุการณ์ที่บ่งชัดได้ว่า เจตนาการเลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นเรื่องจริง นั่นคือการขยายเวลาเริ่มบังคับใช้ พ.ร.ป. ส.ส. ออกไป 90 วัน นับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยกลอุบายทางกฎหมายแบบนี้จึงทำให้การเลือกตั้งไม่อาจจัดขึ้นได้ทันในปี 2561 ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศเอาไว้ อย่างเร็วสุดที่จะจัดเลือกตั้งได้คือเดือนกุมภาพันธ์ 2562

มิหนำซ้ำ สนช. ยังเขียนเนื้อหา พ.ร.ป. การเลือกตั้ง สว. ในแบบที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)อีกด้วย ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นและทำให้ต้องส่ง พ.ร.ป. การเลือกตั้งสว.ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากผลการของการตีความออกมาว่า ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ก็จบลงไป แต่หากผลออกมาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเริ่มกระบวนการร่าง พ.ร.ป. สว.ใหม่ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปประมาณ 2-6 เดือน

สำหรับแรงจูงใจในการเขียนเนื้อหาของ พ.ร.ป. สว.ให้แตกต่างจากร่างของ กรธ. นั้น จะเป็นแรงจูงใจที่ผุดมาจากความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจในเรื่องหลักการและวิธีการของตนเอง หรือ จะเป็นแรงจูงใจที่ถูกขับเคลื่อนจากความคาดหวังผลประโยชน์อย่างอื่นนั้น ล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

มีการประเมินผลลัพธ์ของการตีความแตกต่างกันระหว่างฝ่ายอำนาจรัฐ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง โดยฝ่ายอำนาจรัฐมองว่าไม่มีผลกระทบต่อการทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป แต่นายสมชัย วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป การวิเคราะห์ของนายสมชัย สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐเป็นอย่างสูง อันที่จริงกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐทั้งคสช.รัฐบาลและสนช. ต่างก็ไม่พึงพอใจกับบทบาทและการให้สัมภาษณ์หลายครั้งของนายสมชัย เพราะมักจะนำเสนอความคิดเห็นและการวิเคราะห์ที่แตกต่างจากสิ่งที่ฝ่ายอำนาจรัฐต้องการอยู่เสมอ

ในที่สุดหัวหน้าคสช.ก็เลือกใช้มาตรา 44 สั่งปลดนายสมชัย ออกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง การตัดสินใจเช่นนี้เป็นการตัดสินใจที่สนองความต้องการทางอารมณ์ของกลุ่มตนเองเป็นหลัก ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญบับนี้ที่มีความหมายน้อยอยู่แล้ว ยิ่งด้อยค่าลงไปอีก และสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของการใช้อำนาจแบบเผด็จการอย่างชัดเจน

การปลดนายสมชัย นอกจากส่งผลให้ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งยิ่งเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังสร้างความกังวลต่อคนจำนวนมากว่า การใช้อำนาจในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ในอนาคต ตามอารมณ์และความปรารถนาของผู้มีอำนาจ ซึ่งนับวันการใช้เหตุผลยิ่งลดลงตามลำดับ

เท่าที่สดับฟังมาจากหลายฝ่าย มีการวิเคราะห์กันว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ยังคงต้องการให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 แต่บรรดาคนรอบตัวและกลุ่มอำนาจรอบข้างบางกลุ่มต้องการให้ขยายการเลือกตั้งออกไปให้ยาวนานที่สุด ด้วยเหตุผลที่ต่างๆนาๆ บางส่วนก็เชื่ออย่างบริสุทธิ์ว่า ภายใต้การปกครองแบบ “ศาสตราธิปไตย” ปัจจุบัน เป็นการปกครองที่ดีทำให้บ้านเมืองสงบสุขไม่มีเรื่องขัดแย้ง แต่บางส่วนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลในระบอบปัจจุบัน จึงยังต้องการเสพอำนาจและผลประโยชน์ต่อไปให้ยาวนานที่สุด และพยายามวางระบบกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปในอนาคตด้วย

หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้ว และไม่มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แต่อาจไม่ใช่เดือนกุมภาพันธ์ดังที่รัฐบาลแถลง แม้กระนั้นการจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2562 ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ด้วยว่า มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่เพียงใดในการรักษาคำพูดของตนเอง และมีสมรรถนะเพียงใดในการควบคุมกลุ่มอำนาจรอบตัวให้อยู่ในแถว

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่อาจไม่มีการเลือกตั้งในปี 2562 เงื่อนไขที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นเช่น การใช้เทคนิคทางกฎหมายหรือกลไกอำนาจบางอย่างที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก การเกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มอำนาจรัฐและนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งโดยกลุ่มอำนาจรัฐกลุ่มใหม่ การเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจรัฐปัจจุบันกับประชาชน และความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประชาชนที่มีความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน จนเกิดความไม่สงบหรือจราจลขึ้นมา

สถานการณ์ทางการเมืองในระยะหนึ่งปีถัดจากนี้เป็นสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวสูง การใช้อำนาจของฝ่ายรัฐและการตัดสินใจทางการเมืองหลายอย่างในปัจจุบันดูเหมือนเป็นการบั่นทอนความชอบธรรมของตนเองและเติมเชื้อเพลิงแห่งความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งในปี 2562 ตกอยู่ในสถานะของการแขวนอยู่บนเส้นด้ายอันเปราะบางยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น