xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่ออดีตที่ลบไม่ได้ ไล่ล่าอนาคตใหม่ของธนาธร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

พรรคอนาคตใหม่ภายใต้การนำของเศรษฐีหมื่นล้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายทุนนิตยสารฟ้าเดียวกัน นิตยสารที่มีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอห้ามพระมหากษัตริย์แสดงพระราชดำรัสต่อสาธารณะนั้น ได้พื้นที่ในสื่อไปพอสมควรเหนือพรรคอื่นทุกพรรค

จากการเปิดตัวกลุ่มบุคคลที่ก่อตั้งพรรคโดยวัยแล้วต้องนับเป็นคนรุ่นใหม่ แม้ไม่ค่อยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงต่อสาธารณะ แต่ถือเป็นกลุ่มคนที่มีคนติดตามในโซเชียลตามแบบยุคสมัยในระดับหนึ่ง เพียงแต่ยังมองไม่ออกว่า ผู้ก่อตั้งพรรคแต่ละคนนั้นจะแปลงเป็นคะแนนเสียงในสนามเลือกตั้งอย่างไร

ยังมองไม่เห็นนะว่าจะมีกระแส ธนาธรฟีเวอร์แบบสมัครฟีเวอร์ หรือแบบจำลองฟีเวอร์

แม้จะมีคนทำโพลล์ในทวิตเตอร์ว่าพรรคนี้จะมาแรงมากเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองเก่า แต่ผมก็ยังไม่เชื่อว่าจะแรงในสนามจริง โพลล์ทวิตเตอร์อาจจะถูก ซึ่งแปลว่าผมอาจจะผิด แต่ผมยังเชื่อว่า เลือกตั้งครั้งหน้ายังแข่งขันกันท่ามกลางอารมณ์การแบ่งขั้วการเมือง แม้ทักษิณจะล่องลอยเป็นสัมมเวสีไปนานแล้ว แต่ยังคงเป็นอารมณ์เอาไม่เอาทักษิณเหมือนเดิม


ต้องยอมรับนะครับว่า พรรคอนาคตใหม่ที่แท้ก็เป็นแดงเฉดหนึ่งในสงครามสี แม้พรรคนี้จะโจมตีว่า เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” ถ้ามองว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งมาทั้งนั้น แม้แต่ธนาธรเองก็ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาตลอด

แต่ส่วนตัวผมคิดว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้นเป็นทศวรรษที่เรียนรู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นของประชาชนทั้งสองฝ่าย แม้จะมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันออกเป็น2ขั้ว แต่ก็ถือเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นมันไม่ใช่ทศวรรษที่สูญเปล่าในทัศนะของผม

ขณะเดียวกันผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยอยากออกไปจาก2ทางเลือกนี้ แต่ถามว่า วันนี้เราเห็นพรรคทางเลือกที่สามหรือยัง ตอบตรงๆว่ายังไม่เห็นนะครับ แม้จะมีพรรคที่ประกาศตัวหนุนประยุทธ์ให้เป็นนายกฯต่อ แต่ในความจริงประยุทธ์ก็คือขั้วตรงข้ามของทักษิณนั่นแหละ และพรรคอนาคตใหม่ก็คือพรรคที่ถูกจัดไว้ในขั้วของทักษิณไม่ใช่ทางเลือกที่สามที่จะพาออกจากความขัดแย้งที่แท้จริง

พรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นมวลชนเสื้อแดงในเฉดที่เอียงไปทางไม่เอารัฐประหาร และบางคนที่มีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถามว่านี่เป็นข้อหาที่ป้ายสีทางการเมืองหรือไม่คำตอบก็คือ ต้องย้อนไปดูว่า ผู้นำพรรคนี้มีจุดยืนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีตไว้อย่างไร อนาคตใหม่นั้นยังมองไม่เห็นแต่อดีตนั้นลบไม่ได้

มีคนบอกว่า พรรคอนาคตใหม่ก็คือ Niche Market ของฝั่งระบอบทักษิณที่อำพรางตัวมาจับตลาดคนรุ่นใหม่และคนเมืองที่พรรคเพื่อไทยเข้าไม่ถึง

ช่วงไม่กี่วันมานี้จึงมีการเอาคำสัมภาษณ์เก่าของธนาธรขึ้นมาโจมตีจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่พิสูจน์ได้ว่า เป็นคำพูดในอดีตของธนาธรจริง ไม่ว่าจะเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ เรื่องความคิดให้รัฐไทยเลิกอุปถัมภ์พุทธศาสนา เรื่องมุมมองต่อแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

มีเพียงอันเดียวเท่านั้นที่ธนาธรหยิบมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เป็นการทำลายกันโดยการสร้างความเท็จเป็นการเมืองแบบเก่า ที่มีการทำอินโฟกราฟิกเป็นรูปธนาธรและโลโก้ของพรรค พร้อมกับมีข้อความว่า “งานแรกของพรรคหลังได้รับการเลือกตั้งคือ แก้มาตรา 112 คืนเสรีภาพให้คนไทย”

แต่ปรากฎว่า ฝ่ายที่ทำภาพนั้นคือ เพจองค์กรเสรีไทยซึ่งเป็นเพจของคนเสื้อแดงด้วยกัน ซึ่งเมื่อดูจุดยืนของเพจที่ทำน่าจะมีความคิดว่า จะหาแคมเปญมาสนับสนุนพรรคนี้มากกว่าแต่ถ้าต้องการทำลายล้างธนาธรจริงก็ต้องแปลว่าคนเสื้อแดงกลัวพรรคอนาคตใหม่จะมาแย่งคะแนนพรรคเพื่อไทยอะไรทำนองนั้น

ส่วนเมื่อมีอินโฟกราฟิกคำสัมภาษณ์ของธนาธรข้อความว่า “รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนที่เท่าเทียมกันกับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรจะถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย”

ข้อความนี้ถูกจัดทำโดยเพจประชาไทซึ่งชัดเจนว่ามีจุดยืนสนับสนุนธนาธรเช่นเดียวกัน แต่กลายเป็นว่า มีเสียงวิจารณ์จากเกือบทุกฝ่ายว่า ธนาธรไม่เข้าใจปัญหาของ3จังหวัดใต้และเรื่องศาสนาที่แท้จริง แล้วแนวคิดสุดกู่นี้จะเป็นนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ไหม

ธนาธร ได้โพสต์เฟซบุ๊กแก้ข้อกล่าวหานี้ว่า ว่า ความเห็นของผมเรื่องศาสนาที่ได้รับการพูดถึงอยู่ตอนนี้ ผมขอชี้แจงว่าสิ่งที่ผมแสดงความคิดเห็นไว้ถูกตัดออกมาจากบริบทของมัน การแสดงความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้ กระทำไว้นานแล้ว และก่อนการเกิดขึ้นของพรรคเสียอีก ดังนั้นมันจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่เพิ่งแสดงความคิดเห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นนโยบายพรรคได้

“โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สังคมไทยควรเป็นสังคมที่ไม่นำเรื่องศาสนาซึ่งเป็นสิทธิและความเชื่อส่วนบุคคล มาสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ผมเข้าใจความคับข้องใจของทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมที่ต่างตกเป็นเหยื่อของความขัดแยัง ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน เพื่อยุติความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง”ธนาธร โพสต์

คำถามว่าคำพูดของธนาธรถูกตัดต่อและพูดไว้นายแล้วแบบที่อ้างจริงหรือ คำตอบคือ ไม่เลยครับธนาธรเพิ่มพูดเมื่อเดือนพฤษภาคม2560นี่เอง เพิ่งผ่านมาไม่กี่เดือน แล้วถูกตัดตอนจริงไหม คัดทั้งคำถามของจีเอ็มและคำตอบนั้นมาให้อ่านกัน

GM : เราพูดถึงเรื่องหนังสือเยาวชนที่สังคมไทยมุ่งสอนเรื่องคุณธรรมมากกว่าจินตนาการ แล้วส่วนตัวคุณเชื่อในศาสนาไหม

ธนาธร : ผมคิดว่าทุกคนมีพระเจ้าของตัวเอง แล้วคุณก็คุยกับพระเจ้าของคุณเองได้โดยไม่ต้องผ่านวัด โบสถ์ หรือมัสยิด คุณคุยกับพระเจ้าของตัวคุณได้ แม้กระทั่งระหว่างการวิ่ง คุณก็คุยกับพระเจ้าได้ คุณไม่ต้องไปตักบาตร ไปมิสซา หรือละหมาดเพื่อจะคุยกับพระเจ้า สิ่งที่ผมเชื่อก็คือศรัทธาทางศาสนาควรจะเป็นศรัทธาที่เปิดกว้าง และไม่ควรมีวัดหรือศาสนา หรือองค์กรใดมาบังคับหรือเชิดชูความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มากกว่าความเชื่ออื่นๆ เช่น รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนที่เท่าเทียมกันกับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรจะถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย ที่นี่คุณจะนับถือยูดาย คุณจะนับถือเต๋า นับถือเซนก็ได้ เหมือนอย่างธรรมกาย ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับธรรมกาย รัฐก็ไม่ควรไปยุ่ง ปัญหาคือถ้ารัฐไปยุ่ง มันก็จะซับซ้อนวุ่นวายไปหมด

นี่คือคำถามและคำตอบเต็มๆ จะเห็นว่าคำถามไม่ได้มุ่งไปที่คำตอบนั้น แต่ธนาธรก็ตั้งใจพาไปเพื่อถ่ายทอดจุดยืนของตัวเองเรื่องศาสนา

นอกจากนั้นความเห็นของธนาธรเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของถูกนำมาส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดียว่า “เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นวาทกรรมแบบหนึ่งเท่านั้นเอง”

ปรากฎว่า ข้อความนี้มาจากการสัมภาษณ์นิตยสารสารคดีตั้งแต่ปี 2550 ลองไปอ่านคำพูดเต็มๆ กันดู

สารคดี : ถ้านิยามว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งตนเองได้ และสร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เพิ่มการลงทุน

ธนาธร : ผมคิดว่ามีนักวิชาการคนหนึ่ง คือคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พูดไว้ชัด คือทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้แต่กระแสชุมชนนิยม มันมีรากฐานอย่างหนึ่งคือ ข้างในมันดี และข้างนอกมันเลว อะไรก็ตามที่มันเลวมันมาจากข้างนอกหมด เราอยู่ข้างในเราก็ดีกันอยู่แล้ว โดยที่เราลืมไปอย่างหนึ่งว่า มันเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมา เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง พูดถึงชุมชนนิยม หรือแม้แต่ในประเทศไทย เราบอกว่าเราไม่เปิดเสรีเพราะเรารู้สึกว่าอะไรก็ตามที่มาจากข้างนอกมันสร้างกิเลส มันสร้างความโลภ มันเอาอะไรต่างๆ ที่ไม่ดีในเชิงจริยธรรมในเชิงศีลธรรมเข้ามา แล้วเราก็พยายามปลูกฝังความคิดแบบชาตินิยมขึ้นมา แท้จริงแล้วการชูเรื่องชาตินิยมก็เพียงเพราะคุณต้องการปกป้องทุนชาติ เพราะคุณรู้สึกว่าถ้าปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาคุณเสียประโยชน์ เพราะคุณแข่งขันสู้บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้ไม่ได้ ถามว่าเศรษฐกิจพอเพียง คุณปิดประเทศหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ปิดประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้เข้ามา ผมถามว่าคุณแข่งขันสู้เขาได้หรือเปล่า ดูธุรกิจใหญ่ๆ ของไทย วันนี้เหลือธุรกิจอะไรบ้างที่ยังเป็นของคนไทย ที่ยังเป็นของทุนชาติอยู่ ผมรู้สึกว่าเหลือไม่เยอะ เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ต้องพูดถึง รถยนต์ไม่มีแล้วที่เป็นของคนไทย ธนาคารแต่ละแห่งไม่มากก็น้อยมีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ แม้แต่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ผู้เล่นก็เป็นต่างชาติทั้งหมด ผมกำลังบอกว่ากระแสพวกนี้มันมีส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดแบบทุนชาติที่พยายามปลุกกระแสชุมชนนิยม กระแสอนุรักษ์ท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อที่จะใช้กระแสนี้ปกป้องธุรกิจของตัวเอง เพราะฉะนั้นในแง่นี้ชาตินิยมจึงเป็นเครื่องมือของนายทุนระดับหนึ่ง ถ้าถามผมเป็นนายทุนผมชอบไหม ชาตินิยม ชูเลยใช้ของไทย คุณผลิตรถยนต์คุณต้องซื้อของจากบริษัทคนไทย ผมแฮปปี้ แต่ถามว่าท้ายที่สุดใครล่ะได้กำไร ทุนชาติและทุนต่างชาติก็ได้กำไรเหมือนกัน การสะสมทุนก็กระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มคนระดับสูงบางกลุ่มเหมือนกัน ถามว่าแล้วทุนชาติกับทุนต่างชาติต่างกันอย่างไร ไม่ต่างกัน เพียงแต่เรามีมายาคติ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นวาทกรรมแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำพูดเก่าของธนาธรทั้งสิ้น เป็นอดีตที่กำลังตามหลอกหลอนอนาคตใหม่อย่างไม่ลดละ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น