xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกพุ่ง10.26%-“สมคิด”ปลื้ม...ดันไทยร่วมTPP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - "พาณิชย์" เผยส่งออกเดือนก.พ.มูลค่าทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.26% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 แต่บาทแข็งค่า เริ่มทำรายได้เงินบาทลดวูบ ย้ำหากแข็งค่าต่อเนื่อง ผู้ส่งออกเดือดร้อนแน่ วอนทุกภาคส่วนหาทางแก้ไข แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงค่าเงินให้นานขึ้น และซื้อขายด้วยเงินสกุลอื่นแทน พร้อมหาตลาดและสินค้าดาวรุ่งใหม่ส่งออก หลังพบสถานการณ์ส่งออกเกษตร-อาหารเริ่มมีปัญหา ด้าน “สมคิด” พอใจตัวเลขส่งออกขยายตัวดี แม้เผชิญเงินบาทแข็ง ชี้เป็นหน้าที่ผู้ว่าฯธปท. ต้องดูแลไม่ให้กระทบส่งออก พร้อมสนับสนุนไทยเข้าร่วมหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP ) หวั่นตกขบวน-แพ้เวียดนาม

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.พ.2561 มีมูลค่าการส่งออก 20,365.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.26% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 643,705.8 ล้านบาท ลดลง 0.56% ลดลงครั้งแรกในรอบ 12 เดือน นับจากเดือนก.พ.2560 ที่ลดลง 5.28% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,557.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.0% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 626,231.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.69% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17,474.5 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกในช่วง 2 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 40,466.6 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 13.77% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.296 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.13% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 39,778.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 20.06% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.290 ล้านบ้านบาท เพิ่มขึ้น 8.90% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 688.5 ล้านเหรียญฯ หรือ 5,342.2 ล้านบาท

"การส่งออกของไทยเดือนก.พ.2561 ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เพราะสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัว โดยเชื่อมั่นว่า ทั้งปี จะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 8% จากปีก่อน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มทำให้รายได้ของผู้ส่งออกในรูปเงินบาทลดลงแล้ว โดยเดือนก.พ. ลดลง 0.56% ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา หากยังปล่อยให้แข็งค่าไปเรื่อยๆ จะทำให้รายได้ของผู้ส่งออกลดลงไปเรื่อยๆ แม้จะยังไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย เพราะยังมีความต้องการสินค้าไทยมากขึ้น แม้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้น แต่ในอนาคตยอมรับว่าน่าเป็นห่วง"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ คงไม่สามารถร้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง แต่เชื่อว่า ฝ่ายนโยบาย โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์ และหารืออย่างใกล้ชิดกับรมว.คลัง และผู้ว่าธปท.อยู่แล้ว กระทรวงฯ จึงทำได้เพียงเสนอแนะให้ผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงค่าเงินให้นานขึ้น เช่น 6 เดือน จากปัจจุบันที่ 3 เดือน เพราะยังมีความผันผวนอยู่ เนื่องจากปีนี้ยังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกี่ครั้ง รวมถึงผู้ส่งออกไทยควรซื้อขายด้วยเงินสกุลอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ ผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงในหลายสินค้า ทั้งข้าว มันสำปะหลัง กุ้ง และยังมีมาตรการกีดกันการค้าจากคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ทำให้สถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเริ่มมีปัญหาบ้างแล้ว ดังนั้น สนค.จึงได้ศึกษาหาตลาดใหม่ๆ ที่จะส่งออกสินค้าเหล่านี้ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมถึงจะหาสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ เช่น สินค้าเกษตรนวัตกรรม เพื่อเจาะตลาดโลกให้มากขึ้น

*** “สมคิด” พอใจตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวได้ดี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกดือน ก.พ.ล่าสุด เติบโตในระดับกว่า 10% ถือว่าน่าพอใจ แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้น และยังมีการเกินดุลการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้น

“การส่งออกที่ขยายตัวได้กว่า 10% นั้นไม่ใช่จุดจบ แต่ยังมีสิ่งดีที่ยังรออยู่ข้างหน้า เพราะประเทศไทยได้ผ่านจุดถดถอยไปแล้ว และกำลังเข้าอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่ไทยได้ดำเนินการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะทำในอีก 2-3 ปีที่จะถึง ไปจนถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะเป็นตัวพลิกโฉม สร้างมิติใหม่ให้เมืองไทย”

ทั้งนี้ หากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในเทคโนโลยีสามารถเดินหน้าได้ตามแผน จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยในการพลิกประเทศได้อย่างแน่นอน
"ประเทศไทยผ่านจุดถดถอยไปแล้ว ดังนั้นอย่าไปมองว่าเราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ มันฟื้นจากการกระตุ้นมานานแล้ว
“ตอนนี้เรากำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูป อย่ามองว่าเราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยผ่านจุดถดถอยไปแล้ว จึงอยากให้เปลี่ยนมุมมอง ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ อย่าไปมองอะไรเป็นชิ้นๆ เป็นโครงการ เช่น ลงทุนรถไฟรถไฟความเร็วสูง มันไม่ใช่ แต่เจตนาคือไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจมา 2 ปีแล้ว เราเปลี่ยนโอกาสให้เป็นการเติบโตแล้ว และอยากให้คอยดูตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงนี้ที่เชื่อว่าจะขยายตัวได้เป็นอย่างดี" นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP ) เพราะขณะนี้มีหลายประเทศได้เข้าร่วมไปแล้ว เช่น เวียดนาม ซึ่งการเข้าร่วมจะทำให้มีโอกาสส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น สหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ง่ายขึ้น ดังนั้นหากไทยไม่ยอมเข้าร่วมก็อาจจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าและการลงทุนได้ อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียจากการเข้าร่วม TPP ดังกล่าว
ส่วนสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ที่ผ่านมากระทรวงคลังได้มอบนโยบายให้ ธปท.ไปแล้ว จึงเป็นหน้าที่ที่ ธปท. จะต้องไปดูแลตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง

"เราไปสั่งการหรือก้าวก่าย ธปท. ไม่ได้ ธปท.รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ ถ้าเงินไหลออกไปพรวดเดียวก็คงไม่ดี และเขาเองก็คงไม่อยากให้ออกไปหมด" นายสมคิด กล่าว

สำหรับสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก ที่ประมาณ 40% ต่อ GDP โดยการกู้เงินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องดูด้วยว่านำไปทำอะไร ที่ผ่านมาไทยกู้เงินเพื่อมาลงทุนด้านดิจิทัล ลงทุนในสิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งสินค้าต่าง ๆ ก็จะโตแบบก้าวกระโดด ตัวเลข GDP ก็จะขยายตัว และตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะลดลงดังนั้นเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเงินที่จะเอาไปขับเคลื่อนการลงทุน

"ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเอาเงินไปลงทุนในเรื่องของอนาคต ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้เศรษฐกิจฐานราก ทั้ง 2 ประเด็นเดินหน้าควบคู่ ขนานกันไป ถือเป็นการเอาเงินไปลงทุนในด้านสังคม อีกด้านก็เพื่ออนาคต ซึ่งต่างชาติชื่นชมและเห็นด้วยในสิ่งที่เราทำทั้งหมด ว่าสิ่งที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่นี้ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาทุกอย่างจะต้องสมดุล" นายสมคิด กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น