xs
xsm
sm
md
lg

ประตูนายกฯ คนนอกปิดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ผมคิดว่าปัญหาของบ้านเมืองตอนนี้คือ ความพยายามที่จะอยู่ในอำนาจต่อหลังเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ทำให้เงื่อนไขต่างๆ มันถูกกำหนดเพื่อให้เอื้อไปสู่การบรรลุเป้าหมายนั้น

แต่ปัญหาว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบไว้เพื่อให้เอื้อประโยชน์บั่นทอนพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยที่เขาชนะมาตลอดด้วยวันแมนวันโหวตนั้น เมื่อมาดูกันบนสถานการณ์ที่เป็นจริงแล้ว มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ระบบออกแบบให้พรรคใหญ่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยก็จริง แต่ดันทำให้การเข้ามาสู่เก้าอี้นายกฯ คนนอกเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เพราะเอาเข้าจริงจะต้องรวม ส.ส.ให้ได้เกินครึ่งคือ 251 คนขึ้นไป

ทั้งที่ช็อตแรกอาจคิดแค่ว่า ถ้ามี ส.ว. 250 เสียงแล้วอยู่ในมือก็จะสบายเสียงของสองสภาครึ่งหนึ่งต้องการ ส.ส.แค่ 126 คนเป็น 376 คนก็พอแล้ว แบบที่คุณไพบูลย์ นิติตะวัน พูดอยู่ตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันไม่ได้ นอกจากการขอมติเปิดทางคนนอกต้องการ 500 เสียงแล้ว หากเป็นรัฐบาลแล้วมี ส.ส.ในสภาแค่ 126 คน คุณบริหารไม่ได้ ยังไงก็ต้องมี ส.ส.เกินครึ่งคือ 251 คนขึ้นไปอยู่ดี

ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศตัวชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก ถ้าคิดตามพื้นฐานเก่า 2 พรรคนี้รวมกันมีโอกาสมากเลยที่จะได้ ส.ส.เกิน 251 คน แม้คิดตามระบบใหม่เพื่อไทยมีโอกาสมากที่จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย แต่ยังไงก็ยังเชื่อว่า 2 พรรคนี้รวมกันน่าจะได้ ส.ส.เกินครึ่ง

ไม่ได้หมายความว่า 2 พรรคนี้จะจับมือกันตั้งรัฐบาลนะครับ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ถ้า 2 พรรคทำแบบนั้นก็เหมือนทำร้ายน้ำใจมวลชนของตัวเองทำแบบนั้นก็โง่มาก แต่ 2 พรรคนี้เพียงแต่มีจุดยืนร่วมกันว่าไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก ถ้าพูดระบุเจาะจงลงไปให้ชัดก็คือ ไม่สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจ

บางคนบอกว่ารัฐธรรมนูญออกแบบไว้ว่า ถ้ายังตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาล คสช.ก็จะอยู่บริหารประเทศต่อไป แถมรัฐธรรมนูญยังเขียนไว้ให้ คสช.ยังมีมาตรา 44 ใช้ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ถึงตอนนั้นรัฐบาลอาจใช้มาตรา 44 ผ่าทางตัน หรือไม่ก็อยู่บริหารประเทศไปเรื่อยๆ

ส่วนตัวผมกลับคิดว่าไม่ง่ายนะครับ ในบรรยากาศที่ประชาชนเพิ่งออกจากบ้านไปเข้าคูหาเลือกตั้ง ต่างออกไปเลือกพรรคที่ตัวเองเชียร์ ผมคิดว่าตอนนั้นมันเป็นบรรยากาศประชาธิปไตยเต็มที่แล้ว คิดดูสิครับว่าประชาชนเขาจะยอมไหม อะไรจะเกิดขึ้น เพราะขนาดถึงตอนนี้ผ่านมา 4 ปีกระแสเบื่อหน่ายก็มามากแล้ว แล้วถึงตอนนั้นคิดสิว่าจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้บริหารประเทศมา 4 ปีแล้วประชาชนเขาคิดอย่างไร เสียงบ่นเบื่อขนาดไหน รัฐบาลบอกเศรษฐกิจดี แต่ถามชาวบ้านคนค้าขายดูสิเขาคิดอย่างไร ผมว่ามันมีคลื่นใต้น้ำอยู่ลึกๆ อาจจะมีกองเชียร์รัฐบาลประยุทธ์ที่บอกว่าไม่ต้องเลือกตั้ง เลือกแล้วก็ได้นักการเมืองชั่วกลับมาอีกอยู่ไปอย่างนี้แหละ แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ไปอย่างนี้ไม่ได้หรอก รัฐบาลเองก็รู้ว่าแม้จะมีเสียงเชียร์มันก็ไม่มากพอที่จะให้ดันทุรังต่อไปได้

แต่ผมคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ก็รู้นะครับว่า ประตูนายกฯ คนนอกนั้นยาก นอกจาก 2พรรคไม่เอาแล้ว ประชาชนก็ดูเหมือนจะไม่เอาด้วย เพราะสำรวจมาหลายโพลแล้วก็มีความเห็นตรงกันว่าไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอกไม่สนับสนุนพรรคที่ประกาศจะให้พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจ

มันก็เลยมีเรื่องพยายามที่จะยื้อเลือกตั้งออกไป เท่าที่ทำได้จนกระทั่งเลื่อนจากพฤศจิกายน 2561 ที่พูดไว้ตอนแรกไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562 แต่ดูเหมือนรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ว่า ยื้อไปกว่านั้นไม่ได้แน่ ก็เลยพยายามออกมาย้ำเพื่อให้เกิดความมั่นใจในระยะหลังว่ายังไงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ก็มีเลือกตั้งแน่ไม่เลื่อนไปกว่านั้นแล้ว

เท่าที่เห็นท่าทีของรัฐบาลและการส่งสัญญาณออกมาก็เหมือนรู้ตัวแล้วว่า ถ้าจะยังอยากเป็นนายกฯ ต่อต้องมาอยู่ในระบบไม่ใช่หวังลาภลอยจากเก้าอี้คนนอกซึ่งแทบจะปิดตายแล้ว จึงมีข่าวว่าจะอยู่ในพรรคโน้นพรรคนี้แบบแบ่งรับแบ่งสู้

ส่วนวันเลือกตั้งถึงเวลาจริงอาจมีเหตุปัจจัยให้เลื่อนออกไปอีกหรือไม่ก็เป็นเรื่องหนึ่งนะครับ ก็ดูเหตุผลในแต่ละเหตุการณ์ไป แต่ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่า รัฐบาลก็คิดว่าคงเลื่อนไปไม่ได้แล้ว ไม่นั้นมันจะเป็นขาลงดิ่งเหวไปมากกว่านี้ นอกจากมีปัจจัยนอกระบบที่ควบคุมไม่ได้

แล้วหากถามว่า หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ไปแล้ว ประเทศนี้จะเป็นอย่างไร ความขัดแย้งจะหายไปไหม ผมถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างในระยะที่รัฐบาลประยุทธ์เข้ามาสู่อำนาจแล้วที่จะทำให้ความขัดแย้งของคนในชาติหายไป ตอบได้เลยว่าไม่มี

ความเชื่อของมวลชนฝ่ายหนึ่งที่เชื่อว่าอำนาจเก่าต้องการเข้ามารักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเองไว้ยังอยู่ เขาเชื่อว่านี่เป็นเหตุที่นักการเมืองที่เขารักถูกทำลาย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่านักการเมืองนั่นแหละที่เป็นวิกฤตของบ้านเมืองเพราะเข้ามาแล้วก็โกงกินทำลายบ้านเมืองนำประเทศชาติไปสู่วิกฤต

สองสกุลความคิดนี้ไม่ได้หายไปไหน และกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ซึ่งผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรในระบอบประชาธิปไตย ทุกประเทศก็มีคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองหลากหลายประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศมีพรรคซ้ายจัด พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคขวาจัด พรรคกลางๆแต่ทำอย่างไรให้ความแตกต่างทางความคิดนั้นแข่งขันกันด้วยกติกาและแนวทางของระบอบประชาธิปไตย

เพียงแต่ทำอย่างไรถ้าประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงบนถนนแล้วไม่มีกองกำลังติดอาวุธอีกฝ่ายมาแอบไล่ยิงถล่มด้วยอาวุธสงครามเพื่อเข่นฆ่าฝ่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงข้ามกับตัวเอง ทำอย่างไรพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งแล้วไม่ลุแก่อำนาจไม่รับฟังเสียงข้างน้อยใช้เสียงข้างมากแก้ผิดให้เป็นถูก หรือสร้างนโยบายเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนต่อฐานธุรกิจของฝ่ายตัวเองโดยที่ประเทศชาติเสียประโยชน์

ทำอย่างไรให้ประชาชนที่เลือกพรรคของตัวเองให้ชนะเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจ แต่เป็นฝ่ายตรวจสอบพรรคที่ตัวเองเลือกเข้ามา ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ถ้าพรรคที่ตัวเองเลือกมาจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ คอร์รัปชันหาประโยชน์ก็จะนิ่งเฉยเสีย เหมือนตอนนี้ฝ่ายที่ไม่เอาทหารก็กล่าวหารัฐบาลทหารเรื่องทุจริตคอร์รัปชันแต่ไม่ทำแบบเดียวกันในวันที่รัฐบาลที่ตัวเองมีอำนาจ หรือกองเชียร์ทหารก็ทำเฉยที่รัฐบาลทหารทำในเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล แต่เคยด่าทอนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างสาดเสียเทเสีย

อย่างไรก็ตาม ทศวรรษแห่งความขัดแย้งของประชาชนนั้นมันทำให้ประชาชนเรียนรู้อะไรมากขึ้น ความคิดเรื่องจะสืบทอดอำนาจจึงเป็นความคิดที่ย้อนยุคไปมาก ประชาชนฉลาดขึ้นทำให้พูดได้ว่าประตูนายกฯ คนนอกนั้นปิดตายแล้ว

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น