xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาลสั่งไม่ต้องจ่าย 9.6 พันล้าน ใกล้อวสาน “ค่าโง่คลองด่าน” แต่ “วัฒนา อัศวเหม” ยังคงลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด กระบวนยุติธรรมก็ทำงานได้เที่ยงตรงสำหรับ คดีค่าโง่คลองด่าน โดยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 ศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้รัฐจ่ายค่าโง่ให้กับ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) เป็นเงินประมาณ 9.6 พันล้านบาท ซึ่งคำตัดสินนี้ทำให้คดีค่าโง่คลองด่านใกล้ถึงบทอวสานโดยสมบูรณ์ รอเพียงแต่ว่าหลังศาลปกครองกลางตัดสินออกเช่นนี้แล้ว ฝ่ายเอกชนจะอุทธรณ์ต่อ ศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วันนี้หรือไม่ หากไม่ร้องก็ถือว่าจบ ถ้าหากร้องแล้วศาลปกครองสูงสุด ไม่รับ ก็ต้องจบ เว้นแต่ร้องแล้ว ศาลปกครองสูงสุด รับอุทธรณ์ก็ต้องไปว่ากันยกสุดท้าย

การดึงอ้อยออกจากปากช้างในคดีนี้ก็ถือว่ายากอักโข จากยกแรกๆ ที่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สู้แบบตั้งใจมาพ่ายแพ้จนถึงยกเกือบสุดท้ายที่พลิกเอาชนะฝ่ายเอกชนหลังจากมีการผลัดเปลี่ยนกันมาหลายรัฐบาล ผลัดเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผลัดเปลี่ยนอธิบดี คพ. หลายชุด รวมทั้งผลัดเปลี่ยนทีมสู้คดีใหม่ในครั้งนี้จาก คพ. ที่เคยเป็นตัวหลัก มาเป็นฝั่งกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายค่าโง่ให้เอกชน

งานนี้ต้องยกเครดิตให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีมติเมื่อปี 2559 ให้กระทรวงการคลัง หาทางรื้อฟื้นคดีเพื่อไม่ให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่แก่เอกชน และหนึ่งในคีย์สำคัญที่ทำให้รัฐเป็นฝ่ายพลิกชนะคดี ก็คือ นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ ดูแลกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ที่ได้รับมอบหมายจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ

นายประภาส ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ศึกษาเรื่องนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลางและกรมควบคุมมลพิษ และลงมือร่างหนังสือลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ในการปิดแง่มุมทางกฎหมายให้รอบคอบที่สุด รวมทั้งศึกษารายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรม และคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการทุกฉบับ จากนั้นได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นขอให้พิจารณาคดีใหม่ที่ศาลปกครองกลาง และเสนอให้ คพ. และกระทรวงการคลัง ร่วมกันยื่นคำร้อง เพราะคาดหมายได้ล่วงหน้าว่าหากกระทรวงคลัง เป็นผู้ยื่นศาลอาจจะถูกยกคำร้อง เพราะมิได้เป็นคู่ความในคดีเดิมโดยตรงแม้จะเป็นหน่วยงานที่ต้องชำระเงินให้แก่ผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็ตาม

การยื่นคำร้องใหม่คราวนี้ เป็นไปตามที่นายประภาส คาดหมายล่วงหน้า โดยศาลปกครองกลาง วินิจฉัยว่า กระทรวงการคลัง ไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคำพิพากษาโดยตรง จึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่ คพ. เป็นผู้คัดค้าน เป็นคู่กรณีในฐานผู้ว่าจ้างฯ และเป็นคู่สัญญา จึงมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่

ส่วนในประเด็นการมีพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า โครงการดังกล่าวต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบของราชการ มีการเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน คำขอพิจารณาคดีใหม่ จึงเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ การที่ คพ. ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานบุคคล พยานเอกสารในชั้นสืบพยานในคดีอาญาที่ นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดี คพ. และนางยุวรี อินนา ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ คพ. ตกเป็นจำเลย ในความผิดทุจริตเอื้อประโยชน์เอกชนในการทำสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านต่อศาล ถือเป็นหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏในการพิจารณาศาลปกครอง มาก่อนหน้านี้ จึงถือได้ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ระบุว่าหากมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนไปในสาระศาลสามารถสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ได้

สำหรับการวินิจฉัยในคดีที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 6 คน หรือกิจการร่วมค้าฯ ร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 ที่ให้ คพ.ชำระเงินจำนวน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,434,636 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ โดยคดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ตัดสินให้รัฐจ่ายให้เอกชนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลฯ วินิจฉัยประเด็น ดังนี้

1.บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นส่วน ผู้นำโครงการของกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ได้กล่าวอ้างคุณสมบัติด้านการเงินของบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ กรุ๊ป จำกัด โดยไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าบริษัทดังกล่าวจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบในโครงการ และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีส่วนรับผิดชอบการลงทุนเฉพาะงานเดินระบบและซ่อมบำรุง ซึ่งมีมูลค่าของงานประมาณร้อยละ 10 ของราคาโครงการ แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ คพ. คือ นายปกิต กับพวก ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของ คพ. กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้รับจ้าง ให้ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิเข้าประกวดราคา

2.นายปกิต กับพวกในฐานะเจ้าหน้าที่ คพ. ร่วมกันประกาศท้องที่ที่จะขายที่ดินสำหรับใช้ในโครงการ ซึ่งห่างไปจากที่บริษัทมอนต์โกเมอรี่วัตสัน เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้ทำการศึกษาไว้กว่า 20 กิโลเมตร โดยไม่มีผลศึกษาที่ดินรองรับ ส่งผลกระทบต่อราคาโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด เป็นผู้เสนอขายที่ดินในบริเวณดังกล่าว ที่มีความสัมพันธ์ในเชิงบริหารและเชิงทุนกับผู้บริหารที่มีอำนาจลงนามของบริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนในกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี

3.นายปกิต กับพวก ได้ร่วมกัน ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดการประกวดราคา (TOR) ทำให้ที่ดินของกลุ่มบริษัทมารูเบนี่ คอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาอีกรายหนึ่งขาดคุณสมบัติ จึงเหลือที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในความควบคุมของกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีเพียงรายเดียว ทำให้กลุ่มบริษัทอีกรายหนึ่งไม่มีที่ดินที่จะใช้ดำเนินโครงการและขอถอนตัว

4.สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตรวจร่างสัญญาและกำหนดให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับผิดร่วมกันและแทนกันตามสัญญา แต่นายปกิต และพวก ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความเป็นให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี รับผิดร่วมกัน โดยตัดข้อความที่ให้บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องรับผิดร่วมกันออก และในการลงนามในสัญญาได้ให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้ลงนามแทนกิจการร่วมค้าฯ และบริษัทนอร์ทเวสต์ฯ โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ยื่นครั้งการประกวดราคา ซึ่งต่อมาบริษัทแม่ของบริษัทนอร์ทเวสต์ฯ ได้แจ้งขอถอนหนังสือมอบอำนาจเดิมต่อเจ้าหน้าที่ คพ.แล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบโดยอ้างว่าเป็นปัญหาภายในที่ไม่เกี่ยวกับ คพ. อันเป็นการช่วยเหลือกิจการร่วมค้าฯ หลังจากนั้นได้มีการยินยอมให้บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ผู้ร้องที่ 6 ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนบริษัทนอร์ทเวสต์ฯ

การกระทำของนายปกิตและพวก ที่ได้ดำเนินการขัดต่อระเบียบของทางราชการและมติครม.และกฎหมาย ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม การจัดหาที่ดิน การประกวดราคา และมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย โดยผู้ที่จะรับประโยชน์คือบริษัทคลองด่านมารีนฯ และกิจการร่วมค้าฯ

สัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่มีผลผูกพัน คพ. ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ คพ. ชำระเงินจึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ เนื่องจากการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง อธิบายว่า คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด หลังจากนี้ต้องดูว่าเอกชนคู่ความจะยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาใหม่นี้ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน หรือไม่ หากไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาใหม่นี้คดีจึงจะถึงว่าที่สุด คือให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการ กรมควบคุมมลพิษ ไม่ต้องชำระเงินใดๆ ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขณะนี้ คพ.ได้จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว 2 งวดแล้ว งวดแรก 3,000 กว่าล้านบาท งวดที่ 2 จำนวน 2,000 กว่าล้านบาท ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่ง หากถึงที่สุดแล้วกรมควบคุมมลพิษ ชนะคดีก็ต้องเรียกเงินที่จ่ายไปทั้งหมดกลับคืนสู่รัฐ
 
เมื่อคดียังไม่สิ้นสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ในส่วนของเงินชดเชยที่ต้องจ่ายไปให้กับเอกชนในงวดแรกและงวดที่ 2 นั้น ทาง ป.ป.ง.ได้ทำการอายัดเงินที่จ่ายไปไว้แล้ว ส่วนงวดที่ 3 และ 4 ยังไม่มีการจ่าย ดังนั้น จึงไม่ต้องรีบเพิกถอนมติ ครม.ที่มีคำสั่งให้ชดเชยค่าเสียหายกับเอกชนตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการ และยังต้องรอคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต ตัดสินความผิดทางอาญาในคดีนี้ที่จะตัดสินในชั้นฎีกาในวันที่ 7 มี.ค. 2561 ด้วย ซึ่งคำตัดสินที่ออกมาจะถูกนำไปใช้ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 ศาลแขวงดุสิต ได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีฉ้อโกงซื้อที่ดินและสัญญาโครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ คพ.ยื่นฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี และพวก รวม 19 ราย เรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 23,000 ล้านบาท ออกไปก่อน เนื่องจากจำเลยที่ 11-13 , 15 และ 19 ไม่มาศาล โดยจำเลยบางคนยังไม่ได้รับหมาย ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาครั้งที่ 2 ในวันที่ 30 พ.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

สำหรับคดีฉ้อโกง ศาลแขวงดุสิต ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2552 พิพากษาว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2-19 เชื่อมโยงมีการแบ่งหน้าที่กันทำกลุ่มหนึ่งเป็นผู้รวบรวมที่ดินนำขายให้แก่โจทก์ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโครงการ โดยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวออกโฉนดโดยมิชอบแล้วนำมาขายให้กับโจทก์ใช้ก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านโดยไม่มีบริษัทผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินการ มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2-19 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องอันเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลได้ลงโทษ จำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17 ,18 และ 19 เป็นเวลาคนละ 3 ปี ซึ่งจำเลยกลุ่มนี้เป็นกรรมการบริษัท ยกเว้นจำเลยที่ 19 คือ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย ส่วน บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง , บ.ประยูรวิศว์การช่าง , บ.สี่แสงการโยธา(1979) , บ. กรุงธนเอนยิเนียร์ , บ.เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ , บ. คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ และ บ.ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ จำเลยที่ 2, 4, 6, 8, 10, 12 , 16 ให้ปรับรายละ 6,000 บาท

สำหรับจำเลยที่ 19 คือ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา จำคุก 10 ปี เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2551 ฐานใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจให้เจ้าหน้าที่ที่ดินจ.สมุทรปราการ ออกโฉนดที่ดินใน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ เนื้อที่ 1,900 ไร่ ที่รัฐประกาศหวงห้ามให้ที่ดังกล่าวใช้เป็นที่ทิ้งขยะมูลฝอยและถนนสาธารณะให้กับบ.ปาล์มบีชฯ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายวัฒนา ได้หลบหนีคดีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ จึงออกหมายจับติดตามตัวมารับโทษ คดีนี้มีอายุความ 15 ปี

หลังคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น จำเลยยื่นอุทธรณ์คดี และศาลอ่านคำตัดสินศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2556 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง เนื่องจากศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ช่วงเวลาที่ บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ซื้อที่ดิน ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการก่อสร้างบำบัดน้ำเสียจะใช้ที่ดินบริเวณใดบ้าง โดย คพ.เพิ่งมีโครงการชัดเจนว่าจะใช้ที่ดิน ต.คลองด่านในเดือน ก.พ. 2539 ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พวกจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือดำเนินการใดๆ ให้คณะกรรมการคัดเลือกของ คพ. ให้เลือกที่ดินของ บ.คลองด่านมารีนฯ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-19 จึงฟังขึ้น
อย่างไรก็ดี ถึงตรงนี้ คงต้องลุ้นกันต่อว่า ศาลปกครองสูงสุด กับศาลฎีกาคดีฉ้อโกง จะตัดสินคดีถึงที่สุดเช่นใด ผ่านไปร่วมสองทศวรรษมหากาพย์ทุจริตคลองด่าน ค่อยๆ ทยอยปิดฉากลง

 
ไทม์ไลน์คดีค่าโง่คลองด่าน

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2554 คณะอนุญาโตตุลาการ ที่มีนายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ เป็นประธาน ได้มีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ย ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ดังกล่าวข้างต้น แต่รัฐยื้อยังไม่จ่าย กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลฯ มีคำสั่งให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ กรมควบคุมมลพิษ จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2557 ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ที่มีคำสั่งให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2558 ที่ประชุมครม. มีมติให้สำนักงบประมาณ เบิกจ่ายงบรวมเป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท เพื่อชำระค่าเสียหายแก่กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยแบ่งการชำระเงินออกเป็น 3 งวด คือ งวดแรกภายในวันที่ 21 พ.ย. 2558 ชำระ 40% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงินกว่า 3,174 ล้านบาท และอีกกว่า 21.71 ล้านเหรียญสหรัฐ งวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พ.ค. 2558 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ และงวดที่ 3 ภายในวันที่ 21 พ.ย. 2559 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ลงโทษนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา อายุ 54 ปี ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานสมคบกับเอกชนทุจริตทำให้ราชการได้รับความเสียหายร้ายแรง โดยให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี ซึ่งศาลให้ประกันตัวในระหว่างการอุทธรณ์คดี

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ปปง.มีมติสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยค่าผิดสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่รัฐบาลยังค้างจ่ายให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG อีก 2 งวด เป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาท และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินรวมประมาณ 5,800 ล้าน เพราะสัญญาก่อสร้างโครงการฯ เกิดขึ้นจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น สมคบกับกิจการร่วมค้าในทุกขั้นตอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา ตามคำพิพากษาของศาลอาญา ซึ่งมีผลในทางกฎหมายให้สัญญาดังกล่าวเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นและเพิกถอนโฉนดที่ดินแล้ว

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 ศาลปกครองกลาง ซึ่งได้รับคำร้องขอให้รื้อคดีนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยใหม่ ได้มีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายไว้ก่อน จนกว่าคดีที่รื้อขึ้นพิจารณาใหม่นี้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กระทั่งนำมาสู่คำตัดสินของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา




กำลังโหลดความคิดเห็น