xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดไร้ระเบียบ ปัญหาที่รอจัดการอย่างสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เมื่อประชาชนถูกละเมิดและถูกข่มเหงรังแกติดต่อกันเป็นเวลานานจากผู้กระทำผิดกฎหมาย พวกเขาพยายามร้องขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ครั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือแทนที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรม กลับไม่ยอมบังคับใช้กฎหมายหรือใช้แบบเบี่ยงเบนเพื่อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิดประชาชนก็ต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมเองก็ใช่ว่าจะมีประสิทธิผลเสมอไป

บางครั้งกระบวนการยุติธรรมก็สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นธรรมและคลายความเดือดร้อนของผู้ถูกละเมิดได้ ทว่า มีหลายครั้งแม้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ความเดือดร้อนและความอึดอัดคับข้องใจของประชาชนก็ทวีความความข้มข้นยิ่งขึ้น ประชาชนจำนวนมากจึงหมดหวังกับระบบและกลไกของรัฐ บางคนก็ยอมจำนนทนต่อไป บางคนก็หลบเลี่ยงหลบหนีให้ห่างจากความเดือดร้อนนั้น

แต่บางคนลุกขึ้นมาต่อสู้และจัดการปัญหาด้วยวิธีการของตนเอง ซึ่งส่วนมากมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ระดับความรุนแรงที่ใช้ก็มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่การทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายร่างกาย จนถึงการทำลายชีวิต เมื่อประชาชนจัดการปัญหาด้วยความรุนแรง ก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจัดการหรือจับกุมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และปล่อยให้ผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนผู้มั่งคั่ง หรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐที่มากด้วยอำนาจลอยนวลไป และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนต่อไป

เหตุการณ์ในอดีตมักจบลงด้วยชัยชนะของผู้ร่ำรวยและผู้มีอำนาจรัฐ แต่โลกปัจจุบันและอนาคตร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นบ้าง เพราะโลกอยู่ในยุคสังคมออนไลน์ ซึ่งประชาชนมีเครื่องมือสื่อสารและสามารถนำเสนอปัญหาออกสู่สาธารณะได้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้สังคมรับรู้ปัญหาอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การขุดคุ้ยค้นหาข้อมูลในระดับลึกเกี่ยวกับที่มาที่ไปอันเป็นสาเหตุของปัญหานั้นๆไ ด้ ทำให้สังคมได้ทราบและเข้าใจถึงเครือข่ายสายใยของประเด็นปัญหาในหลากหลายมิติ และส่งพลังกดดันไปยังผู้มีอำนาจรัฐ จนต้องต้องลงมาแก้ไขปัญหานั้นๆ

ปัญหาความรุนแรงที่ผุดขึ้นมาสู่ระดับผิวน้ำ จนสังคมรับรู้ได้ทั่วถึงนั้น มักมีรากเหง้าที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์และอำนาจเสมอ กลุ่มที่เป็นปฐมเหตุของปัญหานั้นมีอยู่สองกลุ่มหลักคือ กลุ่มนายทุนนักธุรกิจ และ กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มนายทุนนักธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยตัณหาแห่งความโลภอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปรารถนาแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ยั้งคิด ไม่แยแสทั้งกฎหมายบ้านเมืองและความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมหรือโครงการที่พวกเขาจัดทำขึ้นมา

กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์เช่นเดียวกัน พวกเขาหวังได้รับผลประโยชน์ที่กลุ่มนายทุนหยิบยื่นให้ เพื่อแลกกับการอนุญาตให้กระทำกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือให้ละเลยการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐพวกนี้ละทิ้งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการโดยยอมรับใช้นายทุนอย่างเชื่องๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าอดสูยิ่งนัก

เหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาใช้ขวานทุบทำลายรถยนต์ที่จอดขวางหน้าบ้านตนเอง เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหาความล้มเหลวของรัฐอย่างชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย การทุบทำลายรถยนต์เป็นผลลัพธ์ของการจัดตั้งตลาดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของนายทุน เพราะเมื่อย่านใดมีตลาดย่านนั้นก็เต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า บ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยในบริเวณนั้น ก็เปลี่ยนจากสถานที่แห่งความเงียบสงบเป็นสถานที่แห่งความวุ่นวายสับสน ประชาชนที่อยู่ละวแกนั้นก็เปลี่ยนจากการอยู่เย็นเป็นสุข กลายเป็นอยู่อย่างเดือดร้อนเป็นทุกข์ เพราะถูกรบกวนด้วยความเสียงจอแจของผู้คน รถยนต์ และความเดือดร้อนจากพฤติกรรมมักง่ายของคนที่เข้ามาซื้อขายสินค้าในตลาด

ในระยะสิบกว่าปีมานี้ เป็นที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ ในบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการบังเกิดขึ้นของตลาดเป็นจำนวนมากนับร้อยแห่ง บางแห่งหากตั้งในบริเวณที่ห่างไกลจากบ้านพักอาศัยของผู้คน ความเดือดร้อนก็มีไม่มากนัก แต่ตลาดหลายแห่งกลับตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยของผู้คน ก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสแก่ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ

กระนั้นก็ตามแม้ว่าตลาดบางแห่งไม่ได้ตั้งในบริเวณบ้านพักอาศัยของผู้คน แต่ก็ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ ซึ่งจะไปเพิ่มระดับความรุนแรงของปัญหาการจราจรในบริเวณนั้นๆ ตามปกติ ถนนในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็มักมีปัญหาการจราจรหนาแน่นและรถติดเป็นประจำอยู่แล้ว ครั้นเมื่อมีการจัดตั้งตลาดขึ้นมา รถก็ยิ่งติดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าตลาดจำนวนมากไม่ได้เตรียมการจัดตั้งและสร้างที่จอดรถให้เพียงพอและจัดระบบการจราจรให้มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ตลาดหัวมุมบริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ ที่ติดกับทางด่วน และ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม บริเวณหัวมุมติดกับถนนรามอินทรา แถวซอยวัชพล เป็นต้น

นอกจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ในต่างจังหวัดก็มีตลาดใหม่ๆเกิดขึ้นหลายแห่ง และส่วนมากก็ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ การจัดตั้งตลาดในลักษณะนี้ กลุ่มนายทุนผู้จัดตั้งมักเลือกพื้นที่โดยคำนึงถึงความสะดวกของการคมนาคมเป็นหลัก เพื่อให้คนเข้ามาซื้อขายได้ง่าย โดยไม่สนใจเรื่องความปลอดภัยมากนัก เท่าที่เห็นและเคยผ่านตลาดบางแห่งพบว่า มีการจัดพื้นที่สำหรับจอดรถของลูกค้า แต่ไม่เพียงพอกับปริมาณรถยนต์ของผู้ที่มาซื้อขายสินค้า รถยนต์จำนวนมากจึงจอดอยู่ริมทางหลวงใกล้บริเวณตลาด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นตามมาด้วย

อันที่จริงการจัดตั้งตลาดมีผลบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่คนจำนวนไม่น้อย ดังนั้นหากมีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และไม่รบกวนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ การขออนุญาตอย่างถูกต้องในการจัดตั้งตลาด การเสียภาษีอย่างตรงไปตรงมาของเจ้าของตลาดและผู้ค้าขายจะทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต่างๆมีรายได้เพิ่มขึ้น การจัดระบบเรื่องความสะอาดและจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดปัญาหาสุขภาพและอุบัติเหตุ

แต่มีปรากฎการณ์แปลกประหลาดบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือตลาดบางแห่งที่จัดตั้งอย่างถูกต้องและเป็นระบบ มีการสร้างสถานที่อย่างถูกต้อง มีการจัดระเบียบเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย รวมถึงมีการจัดที่จอดรถอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ตลาดนั้นมักจะไปไม่ค่อยรอด ไม่ค่อยจะมีพ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขาย และประชาชนไม่นิยมไปด้วย

ต่างจากตลาดที่นายทุนจัดขึ้นอย่างไม่ค่อยถูกต้อง และหย่อนยานในการจัดระเบียบเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมีหรือมีน้อย กลับกลายเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมของพ่อค้าแม่ค้า และเมื่อมีผู้ค้าจำนวนมาก มีสินค้าหลากหลาย ก็ทำให้ผู้คนแห่เข้าไปจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือการเกิดผลกระทบทางลบขึ้นมา ทั้งเรื่องความสกปรก ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และความเดือดร้อนอื่นๆอีกมากมาย

การที่ตลาดไร้ระเบียบเติบโตและขยายมากขึ้น ขณะที่ตลาดมีระเบียบกลับไม่ค่อยเติบโตเท่าไรนัก ย่อมสะท้อนอุปนิสัยที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีของคนไทยจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่หากเราต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง รัฐบาลก็ควรมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการจัดระเบียบตลาดทั่วทั้งประเทศ โดยมอบหมายหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงตลาดที่ไร้ระเบียบทั้งหมด ให้กลายเป็นตลาดที่มีระเบียบ มีมาตรฐานทั้งในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ความสะดวก และความเป็นธรรมในการค้าขายระหว่างเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้า และผู้บริโภค หากตลาดใดแก้ไขปรับปรุงไม่ได้ในเวลาที่กำหนด ก็ต้องยุบเลิกไป

สังคมไทยมีตลาดดีๆ ที่มีการจัดระเบียบการค้าขายที่เป็นธรรม มีระเบียบเรื่องความสะอาด และความปลอดภัยอยู่ไม่น้อย หากรัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องการพัฒนาตลาดก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมมือกับผู้บริหารท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดคิดโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบในการดูแลตลาด เจ้าของตลาด ผู้จัดการตลาด ผู้ดูแลตลาด และพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และอาจส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันระหว่างตลาด เพื่อหาตลาดที่มีการจัดการที่ดีเป็นตัวแบบและมอบรางวัลให้เป็นประจำทุกปีก็ย่อมได้

สิ่งสำคัญคือรัฐอย่าคิดฝ่ายเดียวและกำหนดเองทั้งหมด เพราะในอดีตมีตัวอย่างมากมายที่หน่วยงานของรัฐฝ่ายเดียวคิดจัดตั้งตลาด แต่ไปไม่รอด การจัดตั้งตลาดต้องผสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย และหาความสมดุลย์ระหว่างการจัดระเบียบกับวัฒนธรรมและอุปนิสัยของคนไทย เพื่อให้ได้ตลาดในลักษณะที่มีระเบียบ ปลอดภัย ไม่สร้างความเดือดร้อน และขณะเดียวกันก็เป็นตลาดที่มีความเจริญเติบโตและเป็นแหล่งที่มีคนสนใจเข้ามาซื้อขายเป็นจำนวนมาก




กำลังโหลดความคิดเห็น