xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลในฝัน : รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

รัฐบาลในฝันหรือรัฐบาลในอนาคตของประเทศไทย คือรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชึ่งสามารถถือกำเนิดขึ้นได้ทันทีภายหลังฝันร้ายและการสิ้นสุดของรัฐบาล คสช.

รัฐบาลในฝันจะต้องมิใช่รัฐบาลกำเนิดจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่บกพร่องและเลวที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งถ้าหากบังคับใช้ตามโร็ดแม็ปก็จะนำมาซึ่งกลียุคและการสูญเสียเลือดเนื้อที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าสองครั้งก่อนในสมัย รสช.และ คมช.

ผมในฐานะนักศึกษาวิชารัฐธรรมนูญ เป็นผู้สอน และเป็นอดีตตุลาการรัฐธรรมนูญอาวุโสสูงสุด (ราชกิจจานุเบกษาแนบ) ได้เตือนครั้งแล้วครั้งเล่าและได้เขียนหนังสือทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นทั้งสองครั้ง

ทางเดียวที่จะป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ได้แก่การขอพระราชทานการปกครองระบบราชประชาสมาสัย และขอพระราชทานรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบริหารประเทศและปูพื้นฐานไปสู่ธรรมาธิปไตยแบบไทยอย่างแท้จริง สามารถผสมผสานมาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับนิติราชประเพณีและทศพิธราชธรรมของไทยได้เป็นอย่างดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานคำศัพท์และคำนิยามของระบบราชประชาสมาสัยว่า "พระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนร่วมมือและพึ่งซึ่งกันและกัน"

การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริดังกล่าวมิใช่สิ่งยาก ถ้าหาก คสช.เข้าใจราชประชาสมาสัย และเคารพในพระราชอำนาจของสถาบันกบัตริย์

"ในหลวง- ปวงชน-กองทัพ" ย่อมจะ"ร่วมมือแลพึ่งซึ่งกันและกัน" เพื่อนำพาประเทศชาติออกจากสภาวะอันไม่พึงปรารถนาในปัจจุบัน และป้องกัน มิให้เกิดกลียุคขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

มีผู้ถามผมอยู่เนืองๆว่า มาตรา ๔๔ ย่อมหมายถึงอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของพลเอกประยุทธ์หรือคสช.เหนือสิ่งอื่นใดใช่หรือไม่ และผมก็ได้ตอบทุกครั้งว่ามิใช่เลย ตราบใดที่ยังต้องพึ่งพระปรมาภิไธยอยู่ ตราบนั้นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ดั้งเดิมและต่อเนื่องยังคงอยู่กับพระมหากษัตริย์ไม่มีเปลี่ยนแปลง พลเอกประยุทธ์หาใช่องค์อธิปัตย์ที่ทรงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือฐานะของพลเอกประยุทธ์เมื่อใดและอย่างใดก็ได้

ผมเคยเชื่อและหวังว่า(เมื่อถึงวันนั้น)พลเอกประยุทธ์จะเข้าเฝ้าขอพระราชทานราชประชาสมาสัย เพรา ะท่านเคยพูดกับแม่ทัพนายกองเสมอตอนที่ยังเป็นผบ.ทบ.ว่า ราชประชาสมาสัย เหมาะที่สุดสำหรับประเทศไทย ผมว่าถ้าหัวหน้าคสช.ได้เข้าเฝ้าและรับพระราชทานเมื่อใด จะต้องถือว่าเป็น best case scenario (ภาพวาดอนาคตที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้) ของเมืองไทยทีเดียว เพราะนั่นจะเป็นการตั้งต้นโดยสันติไปสู่การพัฒนาธรรมาธิปไตยโดยไม่ต้องหวนกลับไปสู่น้ำเน่าและวงจรอุบาทว์อีก

แต่บัดนี้ ผมเกรงว่าความหวังจะหลุดลอย เพราะพลเอกประยุทธ์ดูเหมือนจะถลำลึกลงไปในลัทธิประชารัฐและไทยนิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว ผู้คนจำนวนมากพากันวิตกว่าตอนนี้บ้านเมืองเปรียบเสมือนเรือไร้หางเสือ เต็นไปด้วยความขัดข้องหมองใจและอนาคตที่มองไม่เห็น ผู้คนจึงหวังพึ่งพระสยามเทวาธิราชและพระราชอำนาจของในหลวงมากขึ้น

นักวิเคราะห์การเมืองไทยไม่สู้จะสันทัด และแทบจะไม่เคยใช้ scenario making มาวาดภาพอนาคตทุกๆทางที่อาจจะเป็นไปได้ของประเทศ ของรัฐบาลหรือขององค์การใดๆเลย คงมีแต่การทำนายและการวางแผนโดยอาศัยโหราศาสตร์บ้าง โพลบ้าง และสังคมศาสตร์(ด้อยพัฒนา)บ้าง scenario มิใช่การทำนายหรือการวางแผนแต่เป็นการวาดภาพอนาคตทุกแบบอันอาจจะเกิดขึ้นได้ตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาต่างๆ

ผมขอยกตัวอย่าง scenarios แห่งการสิ้นสุดของ คสช.(ไม่ครบ) ดังต่อไปนี้ และขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาจะกระทบกระเทียบผู้หนึ่งผู้ใดเป็นส่วนตัวเลย

คสช. จะถึงวันสลายตัวในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วย
ออกเพราะประชาชนเรียกร้อง (scenario 1)
ฝูงชนขับไล่ (2)
กองทัพกดดัน (3)
ผู้ ใหญ่แนะนำให้ออก (4)
ออกโดยสมัครใจ (5)
ออกเพราะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ (6)
ฯลฯ

ทั้งหมดข้างบนนี้เป็น bad case scenario บ้าง good case scenario บ้าง worst case scenario บ้าง แล้วแต่จะมองตามผลประโยชน์และจุดยืนของแต่ละบุคคลหรือองค์กร ตัวอย่างเช่น scenario (6) สำหรับผมเห็นว่าเป็น worst case scenario แต่คสช. อาจจะเห็นว่าเป็น good case scenario ในขณะที่ ระบบทักษิณถือว่าเป็น best case scenario เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะได้กลับมาเถลิงอำนาจอีกเป็นต้น

ผมขอยืนยันและย้ำ best case scenario สำหรับประเทศไทยตามทัศนะของผมที่กล่าวมาแต่ต้น นั่นก็คือการสถาปนาระบบราชประชาสมาสัยและการเริ่มต้นของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคำกราบบังคมทูลของหัวหน้าคสช.และหรือปวงชนชาวไทย เสมือนการกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดและตั้งต้นใหม่ของ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อีกครั้ง

รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมีนัยเช่นเดียวกับรัฐบาลของอังกฤษ มิใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแนวความคิดที่ผิดและบิดเบือนของการเมืองไทยปัจจุบัน เรื่อง นายกพระราชทานบ้าน เรื่องนายกคนนอ กบ้าง เรื่องนายกมาตรา 7 บ้าง ซึ่งไม่เข้าเรื่องทั้งเพ

รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือปัจจุบันพระบรมราชินีอังกฤษนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการพระราชทานคำแนะนำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของอังกฤษทั้งสิ้น

ผมเห็นว่าถ้าหากเราสามารถประยุกต์พระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาแม้เพียงครึ่งเดียว นำมาบวกกับนิติราชประเพณีไทยเรื่องทศพิธราชธรรมอีกกึ่งหนึ่ง ไทยจะกลายเป็นโมเดลที่น่าชื่นชมของระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขในโลก

การเริ่มต้นรัฐบาลของพระมหากษัตริย์รัฐบาลแรกของไทยนั้น จำจะต้องแตกต่างกับอังกฤษปัจจุบันอยู่บ้าง ตรงที่รัฐบาลเกิดก่อนและมิได้มีที่มาจากสถาบันนิติบัญญัติแบบอังกฤษ แต่เราก็สามารถจะออกแบบให้รัฐบาลและสถาบันแห่งอำนาจอธิปไตยทั้งหลายมีองค์ประกอบและระบบพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตยที่มีมาตรฐานในขณะที่เราจะต้องพัฒนาโครงสร้างของระบบ และองค์กรต่างๆ ขึ้นมาภายหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น