xs
xsm
sm
md
lg

พรรคสุเทพ - พรรคประชาธิปัตย์สงสารพระแม่ธรณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

มีแนวโน้มว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ประกาศว่าจะวางมือจากการเมือง จะตั้งพรรคแน่ๆ ได้ยินชื่อมาแล้วถ้าใช้ชื่อนั้นจริงก็เป็นชื่อพรรคยาวมากขี้เกียจจำ

แต่ไม่แปลกหรอกเพราะสุเทพประกาศมาตลอดว่าจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขาชื่นชมว่าเป็นคนดีคนเก่งกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหลังเลือกตั้ง เมื่อไม่สามารถชักนำพรรคประชาธิปัตย์ให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้ สุเทพก็เลยต้องตั้งพรรคใหม่

ท่าทีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ชวน หลีกภัย นั้นชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์แน่ ไม่กล้าพูดนะครับว่าประชาธิปัตย์จะไม่เอานายกฯคนนอกเลย ผมว่าเขาอาจจะเอาถ้ามีคนที่คิดว่าเหมาะสม แต่กับ พล.อ.ประยุทธ์ตอนนี้ชัดเจนว่าไม่เอา

ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคของสุเทพจะต้องแย่งชิงคะแนนเสียงกัน

ถ้าเราไปดูผลการเลือกตั้งตั้งแต่ทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี2544 พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้พรรคของทักษิณมาตลอดไม่ว่าจะในชื่อพรรคไหน เรียกว่าแพ้แบบขาดลอยแพ้แบบสู้ไม่ได้มาตลอด เมื่อมีพรรคสุเทพมาแย่งคะแนนด้วยแล้ว ไม่ต้องบอกเลยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

มาถึงตอนนี้ใครจะคิดบ้างว่า การออกมาชุมนุมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ของสุเทพ แล้วประกาศตัวว่าเป็นอดีตกำนันบ้านนอก อดีตนักการเมืองที่ไม่เคยทุจริตแม้แต่บาทเดียวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่อนเซาะพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีพลพรรคของฝ่ายระบอบทักษิณนั่งยิ้มกระหยิ่มอยู่ในใจ

ถ้ามองไปที่พรรคเพื่อไทย อาจจะพูดได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกไปน้อยมาก มีความพยายามของฝ่ายทหารอยู่ที่จะเจรจากับกลุ่มก๊วนการเมือง เหมือนที่นครปฐมที่แอบไปพบกับพวกสะสมทรัพย์ แต่ถามว่าวันนี้ส.ส.เหนือและอีสานจะกล้าแยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทยไหม และถ้าแยกตัวออกมาแล้วจะสอบได้หรือสอบตก

แต่ถ้าถามว่าวันนี้มีอะไรที่ทำให้ทัศนคติการเลือกพรรคการเมืองของคนภาคเหนือและอีสานเปลี่ยนไป บอกตรงๆ ว่ายังมองไม่เห็นเลย แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะพยายามทำนโยบายประชานิยมในชื่อใหม่ว่าประชารัฐไทยนิยมก็ตาม

อย่างไรก็เชื่อว่าพรรคของทักษิณยังจะได้ ส.ส.200บวกขึ้นไป 200บวกนี่ประเมินแบบต่ำนะครับ

ถ้าเราไปไล่ดูปี 2544 ไทยรักไทยได้ 224 ปชป.ได้ 121 เลือกตั้ง 2548 ไทยรักไทยได้ 375 ปชป.ได้ 128 เลือกตั้ง 2549 โมฆะ เลือกตั้ง 2550 พลังประชาชนได้ 233 ปชป.ได้ 165 เลือกตั้ง 2554 เพื่อไทยได้ 265 ปชป.ได้ 159

สมมตินะครับว่า ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ นอกจากพรรคสุเทพ กับพรรคของไพบูลย์ นิติตะวันแล้ว สามารถรวมพรรคจังหวัดได้เช่น พรรคสุพรรณบุรี พรรคสุโขทัย พรรคบุรีรัมย์ พรรคชลบุรี พรรคนครปฐม พรรคโคราช ก็ต้องรวมกันให้ได้มากกว่า 250 คนจึงจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจได้

แต่ถ้าเราเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.200บวก พรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์เช่นเดียวกันจะต้องถูกทำให้เหลือทำไหร่ เพื่อไม่โหวตขัดขวางให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกร่วมกับพรรคเพื่อไทย คำตอบคือต้องทำให้พรรคประชาธิปัตย์เหลือประมาณ30-40เสียง

แต่ผมกลับเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์แม้จะถูกพรรคสุเทพบ่อนเซาะอย่างไรก็จะเหลืออย่างน้อย70-80เสียง เมื่อบวกกับ200ขึ้นไปของพรรคเพื่อไทยก็เกิน250เสียงครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส. ถ้าไม่มีอะไรดลใจและ2พรรคนี้ยืนยันหนักแน่นว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ ผมเชื่อว่าเก้าอี้นายกฯคนนอกของพล.อ.ประยุทธ์ปิดตายแล้ว

และเชื่อว่าคสช.ก็รู้ตอนนี้จึงต้องทำอย่างไรให้พรรคที่สนับสนุนตัวเองพร้อมนั่นคือยืดเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ เท่าที่มีช่องของกฎหมายให้ยืดไปได้

ต้องยอมรับความจริงนะครับว่า การแสดงท่าทีที่จะอยู่ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านพิธีกรรมเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญที่เขียนเปิดช่องเอาไว้นั้น ก็เอาเปรียบพรรคการเมืองต่างๆมากอยู่แล้ว แต่ถึงตอนนี้ก็ยังห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหว และลบชื่อสมาชิกพรรคการเมืองออกหมด เพราะบังคับให้สมาชิกต้องมายืนยันตัวเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ทำให้ทุกพรรคต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่หมด

แถมการเลือกตั้งองคาพยพที่อยู่ใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ก็เป็นคนควบคุมทั้งหมด ทั้งทหาร ตำรวจ มหาดไทย รวมไปถึงกกต.ที่เลือกมาด้วยมือตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นผู้เล่นที่ได้เปรียบคนอื่น ทั้งออกแบบกติกาเอง เลือกกรรมการเอง เพียงแต่มาเสียท่าตรงที่มีชัย ฤชุพันธ์ เขียนซ่อนไว้ว่า ถ้าจะเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีเสียง500เสียงของ2สภารับรองเสียก่อน นี่แหละที่เป็นปัญหาถ้า2พรรคใหญ่ไม่เอาด้วย

อุปสรรคของรัฐธรรมนูญนี่เองทำให้ทุกอย่างต้องชลอออกไปเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเพื่อให้พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มีความพร้อม ดูเหมือนว่า คสช.จะฝากความหวังไว้กับสุเทพในฐานะนักการเมืองลายครามที่สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกฝ่าย พร้อมๆกับการใช้อำนาจในการดึงก๊วนการเมืองในฝั่งทักษิณมาเป็นพวกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มีส.ส.รวมกันได้ไม่ถึง250คน

ในฝั่งต้านระบอบทักษิณนั้นการเกิดขึ้นของพรรคสุเทพนั้นเท่ากับเป็นการแย่งฐานเสียงกันเอง ส่วนฝั่งทักษิณต้องไปดูว่า คสช.จะใช้อำนาจรัฐกดดันให้ ส.ส.ฝั่งเพื่อไทยที่เป็นดาวฤกษ์ไม่ต้องพึ่งพิงฐานเสียงของทักษิณมาเป็นพวกได้เท่าไหร่ แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่ายากมากที่จะทำลายฐานเสียงของทักษิณไปภาคอีสานและภาคเหนือได้ ดีไม่ดี ส.ส.ที่คิดว่าดึงออกมาจากทักษิณได้จะกลายเป็น ส.ส.สอบตก เพราะสุดท้ายเขาก็เลือกพรรคมากกว่าเลือกบุคคล เพราะคสช.เข้ามาก็ไม่ได้ทำอะไรที่ทำลายความนิยมต่อทักษิณลงไปได้เลย นอกจากพยายามจะใช้นโยบายประชานิยมแบบทักษิณเท่านั้นเอง

กรณีของสุเทพยังเป็นเรื่องตลก ถ้าเราย้อนกลับไปที่เมื่อสุเทพนำประชาชนออกมาบนถนนเพื่อต่อสู้กับเผด็จการอำนาจนิยมเสียงข้างมาก ต่อมาเขาเป็นคนนำมวลชนเข้าไปขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเสียก่อน แต่วันนี้คสช.ครองอำนาจมา4ปีแล้ว ยังไม่มีการปฏิรูปอะไรเกิดขึ้นจริงเลย ทั้งๆที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จมีมาตรา44ที่ทะลุทะลวงได้หมด กลับมีข่าวว่าสุเทพจะตั้งพรรคเพื่อหนุนให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนให้อำนาจนิยมสืบทอดอำนาจ แล้วการปฏิรูปที่เรียกร้องอยู่ที่ไหนแล้วจะฝากความหวังกับใครได้อีก

ทำไมสุเทพจึงไม่ออกมาทวงเรื่องการปฏิรูปจากรัฐบาลนี้เลย ทั้งๆที่เป็นข้ออ้างสำคัญที่นำมวลชนออกมาขัดขวางมาเลือกตั้ง

แต่ก็ยังมีฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์บางคนพูดอยู่เหมือนกันว่า ถ้ายังไม่ปฎิรูปก็ไม่ต้องเลือกตั้ง แต่คำถามว่า วันนี้ผ่านมาเกือบ4ปีแล้ว เราจะคิดว่ารัฐบาลนี้จะเข้ามาปฏิรูปจริงๆ หรือ จะรอให้เขาปฏิรูปเมื่อไหร่หรือว่าก็อยู่กันไปแบบนี้เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าความพยายามของสุเทพที่จะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯจะสำเร็จหรือไม่ แต่เห็นได้ชัดว่า เป้าหมายที่สุเทพจะต้องบ่อนเซาะก่อนใครก็คือพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแย่งชิงฐานมวลชนมาให้ได้ ฝ่ายที่ลำบากใจก็คือ คนที่ออกไปชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และขัดขวางการเลือกตั้งก่อนที่ทหารจะเข้ามายึดอำนาจซึ่งเดิมเป็นฐานมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละ

ก่อนจะออกมานำมวลชนบนถนนนั้นพูดได้ว่า สุเทพแม้จะเป็นนักการเมืองที่มีบารมีแต่ไม่มีคะแนนนิยมเลย แม้จะได้เป็นส.ส.หลายสมัยแต่เป็นเรื่องที่วัดค่านิยมส่วนตัวได้ยาก เพราะคนใต้นั้นเลือกประชาธิปัตย์เป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว เป็นนักการเมืองประเภทเกรด C-ก็ว่าได้ ใครจะไปเชื่อล่ะว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ สุเทพที่ประกาศตัวว่าจะเลิกเล่นการเมืองแล้ว กลายเป็นผู้นำภาคประชาชน จะหวนกลับมาบ่อนเซาะพรรคที่ตัวเองเป็นนักการเมืองใต้ร่มเงามาตลอดชีวิตเพียงเพื่อสนับสนุนหัวหน้าคณะรับประหารให้อยู่ในอำนาจต่อไป

แต่ความแตกแยกของพรรคประชาธิปัตย์แม้จะเกิดขึ้นอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าหวั่นไหวอะไร พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคเก่าแก่ที่ยืนยงมากับระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งในบ้านเรา มีการแตกแยกของสมาชิกพรรคแล้วแยกไปตั้งพรรคใหม่หลายครั้ง แต่พรรคที่แยกไปก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้นาน แม้บางครั้งพรรคประชาธิปัตย์จะเหลือเพียงไม่กี่เสียงและแทบจะสูญพันธุ์ในเขตกทม. แต่พรรคก็ยืนต้านกระแสแห่ความเปลี่ยนแปลงและตกต่ำกลับมาเติบโตได้อีก แต่ก็เป็นการล้มแล้วลุกลุกแล้วล้มไม่สามารถผูกใจประชาชนได้อย่างมั่นคง

ปัญหาที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ถูกมองว่า เป็นพรรคที่ดีแต่พูด เก่งเมื่อเป็นฝ่ายค้านและอ่อนหัดเมื่อเป็นรัฐบาล ยุคสมัยของนายชวน หลีกภัย ที่เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 ที่คนเบื่อหน่ายในความเป็นปลัดประเทศนี่เองที่ทำให้คนหันมาเทคะแนนให้ทักษิณอย่างท่วมท้น แม้ตอนหลังประชาธิปัตย์จะได้บทเรียนจากทักษิณแล้วว่า พรรคต้องมีนโยบายนำพาประเทศไปข้างหน้าที่แจ่มชัด มีความพยายามสร้างนโยบายประชานิยมมาแข่งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ก็ไม่สามารถฝ่ากระแสที่คนติดใจในนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณไปได้ในภาคเหนือและอีสาน จนเกือบจะสูญพันธุ์จากทั้ง2ภาค

การจะกลับมาครองใจหรือเปลี่ยนความคิดของคนในภาคอีสานและภาคเหนือได้นั้นน่าจะต้องเป็นเรื่องยาวนานเป็นเจนเนอเรชั่นก็ว่าได้ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ของพรรคที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มายาวนาน

แต่งานนี้คนที่ร่ำไห้น้ำตาเป็นสายเลือดมากกว่าใครก็คือพระแม่ธรณีสัญญลักษณ์ของพรรคนี่เอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น