xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ ‘อย่างหนา’ แอฟริกาใต้ลาออก

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

<b>นายจาค็อบ ซูมา ที่เพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแอฟริกาใต้</b>
ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ สุดยอดแห่งผู้นำลื่นไหล ประธานาธิบดี จาค็อบ ซูมา วัย 75 ปี ของประเทศแอฟริกาใต้ ต้องยอมลาออกหลังจาก 9 ปีในตำแหน่ง เพราะแรงกดดันโดยผู้นำพรรคแอฟริกัน เนชั่นแนล คองเกรส พรรคเดียวกับอดีตผู้นำ เนลสัน แมนเดลา

ลาออกท่ามกลางความฉาวโฉ่สารพัด ทั้งการทุจริต คอร์รัปชัน พฤติกรรมน่ารังเกียจด้านเพศ ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนผู้หญิงอายุ 31 ปี ที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์ เหตุเกิดในบ้านของซูมานั่นแหละ แต่ก็รอดเพราะมีคำอ้างว่าเป็นการยินยอมของฝ่ายหญิง

ช่วงที่ตกเป็นข่าวเรื่องข่มขืนในปี 2005 ซูมาคุยโวว่าตัวเองก็รู้ว่าผู้หญิงคนนั้นติดเชื้อเอดส์ แต่ไม่กลัว ไม่ป้องกัน เพราะรีบทำความสะอาดร่างกายหลังจากเสร็จกามกิจ ในปีต่อมาศาลตัดสินยกฟ้องข้อกล่าวหา ซูมาพ้นจากคดี แต่ได้มีเซ็กซ์จริง

แต่ก็ยังทิ้งเงื่อนงำว่าฝ่ายหญิงยินยอมจริงหรือไม่ โดยพฤติกรรมนิยมเซ็กซ์ เป็นที่รู้กัน จาค็อบ ซูมามีเมียหลายคน มีลูกมากถึง 20 คน ซึ่งไม่แปลกถ้าพิจารณาถึงพฤติกรรมแบบชนเผ่า แต่ในสังคมสมัยใหม่ของทวีปแอฟริกา ถือว่าไม่เหมาะสม

ซูมา เผชิญข้อกล่าวหาคดีอาญาร้ายๆ รอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างน้อย 6 ครั้ง หลังจากชนะการเลือกตั้งในปี 2009 และ 2014 ถือว่ามีความคงทน อย่างหนา ลื่นไหล เหมือนกระทะเทฟล่อน ทอดไข่ไม่ติด ไม่ต้องใช้น้ำมันนั่นเลย

ประเทศแอฟริกาถือว่าเป็นประเทศที่ทันสมัยที่สุด มีความเจริญมากที่สุด โดยเฉพาะในยุคของการปกครองโดยคนผิวขาว ซึ่งเป็นรัฐบาลแบ่งแยกผิว จนมีการเปลี่ยนแปลงคนผิวดำ โดยเนลสัน แมนเดลา ออกจากคุกมาเป็นผู้นำที่โลกยกย่อง

พื้นเพดั้งเดิมของ จาค็อบ ซูมา เป็นลูกของตำรวจและแม่เป็นเพียงคนรับใช้ทำงานบ้าน เป็นสมาชิกพรรคแอฟริกัน เนชั่นแนล คองเกรส ตั้งแต่ยังหนุ่ม ถูกจำคุกโดยรัฐบาลแบ่งแยกผิวในปี 1963 จากนั้นก็ก่อตั้งขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ

ช่วงนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษนักต่อสู้เพื่อความทัดเทียมกันของคนทุกสีผิว ซูมาต้องหลบซ่อนตัวในประเทศโมซัมบิก และแซมเบีย จนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลโดยคนผิวขาวไปเป็นรัฐบาลคนผิวดำ นำโดยเนลสัน แมนเดลา

จาค็อบ ซูมา ช่วงติดคุกก็ได้อยู่ร่วมคุกร่วมสมัยเดียวกับ แมนเดลา นั่นแหละ แต่พฤติกรรมส่วนตัวต่างกันราวฟ้าดิน ช่วงดำรงตำแหน่งต่างๆ ซูมามีคดีพัวพันทั้งทุจริต ประพฤติมิชอบมากถึง 783 คดี ร้ายๆ ทั้งนั้น ยังไม่ได้รับการสะสางจนจบสิ้น

เป็นคดีเกี่ยวโยงกับการทุจริต ฉ้อฉล ซ่องโจร ที่ปรึกษาเคยโดนคดีอาญาข้อหารับสินบนในงานซื้อขายอาวุธในปี 2009 หลายฝ่ายเชื่อกันว่าการที่ ซูมาเป็นนักสะสมคดีอาญาร้ายแรง คงไม่รอดสันดอน อนาคตทางการเมืองจบ คงเข้าไปอยู่ในคุกแทน

ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ ซูมาใช้ลีลาเหนือชั้น เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และพยายามใช้วิธีการต่างๆ ลากยาวถ่วงยื้อกระบวนการยุติธรรม ถ้าเป็นนักการเมืองทั่วไป ไม่เจนจัด หรือจัดจ้าน โอกาสที่จะพ้นข้อกล่าวหาไม่ง่ายดาย

ซูมารอดมาได้เพราะความรอบจัด ลื่นไหล คดีอะไรก็เอาไม่อยู่ ความพยายามโดยกระบวนการด้านกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ เพราะตำแหน่งผู้นำรัฐบาลทำให้ซูมา ใช้อิทธิพลและเครือข่ายเพื่อนพ้องปกป้องทำให้ไม่ตกเก้าอี้ด้วยคดีอาญา

สุดท้ายเพราะพรรคที่ตัวเองสังกัดนั่นแหละที่รับไม่ได้ ทนไม่ได้อีกต่อไป บีบให้ซูมาลาออก สิ้นสุดการเป็นผู้นำที่มีแต่ความมัวหมองตลอดเวลา 9 ปีในตำแหน่งตลอดชีวิตทางการเมือง ซูมาอยู่บนเส้นทางไม่ธรรมดา ถูกมองว่าเป็นนักต่อสู้ เคยสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงที่เป็นรองประธานาธิบดี เคยรวมหัวกับพวกพยายามล้มประธานาธิบดีเอ็มเบกิ แต่ไม่สำเร็จ จนได้เป็นหัวหน้าพรรคในปี 2007

ซูมาจอมฉาวเข้ามารับตำแหน่งในจังหวะที่เศรษฐกิจของแอฟริกากำลังไปโลด ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เกิดวิกฤตเกือบล้มทั้งระบบ แถมยังมีตัวช่วยเมื่อประเทศเป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลกในปี 2010 ประสบความสำเร็จดียิ่ง

และยังอยู่เป็นผู้นำในช่วงที่ประเทศจัดงานศพของรัฐบุรุษ เนลสัน แมนเดลา ในปี 2013 หลังจากนั้นประเทศแอฟริกาเริ่มเผชิญกับความเลวร้ายเพราะซูมามีพฤติกรรมด้านลบ มีแต่เรื่องฉาวโฉ่ซึ่งได้เป็นตราประทับยุคของรัฐบาลนำโดยซูมา

ในปี 2016 ศาลสูงได้วินิจฉัยว่าซูมาได้กระทำผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สั่งให้ซูมาชดใช้เงิน 15 ล้านเหรียญสหรัฐคืนแก่รัฐบาล หลังจากถูกกล่าวหาว่าได้ใช้เงินจำนวนนั้นปรับปรุงซ่อมบ้านพักส่วนตัว แต่ซูมาก็ไม่ยอมใช้คืน สู้คดีด้วยการยื้อยาว

การสั่งซื้ออาวุธหลายรอบในช่วงปี 1990 ทำให้มีข้อกล่าวหาเรื่องเงินทอนต่อเนื่อง แม้พ้นจากตำแหน่งไป คดีก็ยังไม่ถูกยกเลิก ยังต้องรอดูว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำให้ซูมาติดคุกหรือไม่ ยังไม่มีรายงานความมั่งคั่งส่วนตัวของซูมา

กฎหมายไม่ได้ทำให้ซูมาพ้นจากเก้าอี้ผู้นำประเทศ แต่เป็นบรรดาแกนนำหลักในพรรคที่กดดันอย่างหนัก ไม่สนับสนุน มีหลายคนลาออกย้ายไปอยู่พรรคอื่นๆ ประชาชนชุมนุมเดินขบวนประท้วง ฝ่ายค้านรุมเล่นงาน จนไม่เหลือกองหนุนอีกแล้ว

ความล้มเหลวในงานบริหารของซูมาคือ “ไม่ทำตามสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผิวดำผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส”

เมื่อซูมาถูกบีบให้ลาออก รองประธานาธิบดี ไซริล รามาโพซา รักษาการแทน น่าจะอยู่จนครบเทอมจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งผู้นำคนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น