xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิ-รัฐประศาสนศาสตร์คาบสมุทรภาคใต้ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

เผยแพร่:   โดย: เอนก เหล่าธรรมทัศน์


ที่สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น สนใจโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ หรือ บริเวณ มาก ไม่ว่าเป็นอำเภอ จังหวัด ภาค หรือ เป็น ท้องถิ่น โอกาสอันเนื่องมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดีหรือเป็นเลิศ ทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

เราเรียกการศึกษาในทำนองนี้กันว่า “ภูมิ-รัฐประศาสนศาสตร์” จะเพ่งดูข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของการพัฒนาดินแดนหรือพื้นที่ต่างๆ เป็นสำคัญ หรือ เป็นพิเศษ เสมอ

ในปัจจุบัน การเจริญเติบโตและการพัฒนาสร้างสรรค์-นวัตกรรมปรับย้ายจากด้านตะวันตกของโลกมาสู่ด้านตะวันออกโดยเฉพาะจีนมากขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการที่ผมเรียก “บูรพาภิวัตน์” ทำให้ทำเลที่ตั้งของไทยมีความสำคัญมาก เรามีภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศที่จัดว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย และ อาจจะดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเสียด้วยซ้ำ

ไทยเราในทางภูมิศาสตร์นั้นเชื่อมอาเซียนตอนบนได้แก่ พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม กับ อาเซียนตอนล่าง อันได้แก่มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียเข้าด้วยกัน เราเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และ เป็นตัวเชื่อมอาเซียนแทบทั้งมวลเข้ากับจีนและอินเดีย จีนนั้นบัดนี้เป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก ส่วนอินเดียนั้นน่าจะขยับขึ้นอยู่เป็นอันดับเจ็ด อนึ่ง ที่ตั้งอันเป็นเลิศของไทยนั้น ยังทำให้ญี่ปุ่นมาลงทุนมากกว่าประเทศอาเซียนอื่นใด และญี่ปุ่นนั้นก็มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

ข่าวดี : ทุกภาคของประเทศไทยล้วนมีศักยภาพสูงในการเจริญเติบโตขึ้นหมด ภาคเหนือจะได้เปรียบที่เชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ กับพม่า ลาว และเวียดนามตอนเหนือ ส่วน อีสาน ก็จะได้ประโยชน์มากเช่นกัน จีนที่เคลื่อนลงมาทางบกผ่านลาวก็จะมาเข้าไทยที่หนองคาย-อุดร ภาคอีสานนี้อยู่ชิดติดทั้งลาวและเขมร และอยู่ไม่ไกลจากเวียดนามเช่นกัน

ภาคตะวันออกขณะนี้เป็นบริเวณที่รับการลงทุนใหญ่จากญี่ปุ่นและต่อไปจะมาจากจีนด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเชื่อมโยงเขมรและเวียดนามได้สะดวก ส่วนภาคตะวันตก ก็รอรับลมเศรษฐกิจจากพม่าและอินเดียที่คาดจะพัดแรงขึ้นเป็นลำดับ

สรุปได้ครับว่าชายแดนของเราจะโตวันโตคืน เป็นพิเศษ เพราะล้วนติด หรือ ชิดใกล้กับเพื่อนบ้าน และกับจีนกับอินเดีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนขยายตัวเติบใหญ่ได้เร็วกว่าเราทั้งสิ้น เราสามารถ ถ้าทำเป็น ทำถูก เอากำลัง และ พลวัตรของเขามาดึงหรือมาดันเศรษฐกิจเราให้เดินหน้าได้อีกนาน จะมีก็แต่ภาคกลางของเราเท่านั้นที่อยู่ไม่ติดกับการเติบโตใหญ่ครั้งใหม่ของเอเชีย

ในบรรดาภาคทั้งหลาย ถ้ากล่าวในทางภูมิศาสตร์ ภาคใต้สำคัญมากและมีคุณค่า-มูลค่าสูงยิ่ง คาบสมุทรอันเรียวยาวของภาคใต้ กำหนดว่า หากจีนจะลงใต้ไปจนถึงเกาะชะวาในวันหนึ่ง ก็จะต้องผ่านคาบสมุทรภาคใต้ของไทยเท่านั้น และ หาก อินเดีย จะมุ่งมาทางตะวันออก ไปให้ถึงลาวเขมร และลงใต้ไปให้ถึงมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งในอดีตประเทศที่เอ่ยนามมาเหล่านี้ อยู่ในเขตอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียโบราณทั้งสิ้น จะไปให้ถึงดินแดนเหล่านี้ ได้ อินเดียต้องผ่านกรุงเทพฯและภาคใต้ของไทยเท่านั้น นี่คือข้อได้เปรียบยิ่งทางภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศของคาบสมุทรภาคใต้

ภาคใต้ ยังกั้น หรือ หากขุดคลอง จะเชื่อมสองทะเลสำคัญ คือ อันดามัน และ อ่าวไทย ของ สองมหาสมุทร อินเดียกับแปซิฟิก ซึ่งจะสำคัญกว่ามหาสมุทรอื่นใดในศตวรรษที่ 21 นี้ประเทศไทยนั้น น่าแปลกใจ ยังไม่ค่อยรู้ว่าตนมีสองมหาสมุทรสำคัญยิ่งของโลก เรายังรู้จักใช้”สมุทรานุภาพ” ของตนเองได้น้อยมาก ความจริง ประเทศไทยนั้น ขอกู่ก้องร้องเตือน เป็นประเทศภาคพื้นทะเลหรือภาคพื้นสมุทรด้วย กรุณาอย่าเผลอเห็นเป็นเพียงประเทศทางบกที่มีทะเลและชายหาดสวยเท่านั้น นี่คือคำแนะนำจากภูมิ-รัฐประศาสนศาสตร์

เร็วๆ นี้มีการพูดกันเรื่องการขุดคอคอกระและคลองไทยเพื่อให้ภาคใต้เชื่อมสองมหาสมุทรเข้าด้วยกัน ผมยังไม่สรุปว่าควรขุดหรือไม่ควรขุด และถ้าขุดควรขุดที่ไหน ข้อจำกัดหรือผลกระทบทางลบจากการขุดมีอะไร และจะป้องกัน บรรเทา หรือจะชดเชย เยียวยา อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องทำกันต่อไป อย่างรอบคอบ แต่ก็ต้องจริงจัง และ ไม่ล่าช้าเกินไป

จะขอเล่าประกอบอย่างเดียวว่า ภาคใต้นั้น สำคัญต่อการเดินทะเลโลกมาแต่ในอดีต นับย้อนหลังไปได้ถึงสี่พันปี จะเห็นร่องรอยการเดินเรือโดยอาศัยลมมรสุม ที่เชื่อมอินเดียกับเปอร์เซียในทางตะวันตกกับจีนในทางตะวันออก และต้องผ่านการข้ามคาบสมุทรภาคใต้ด้วยมาตลอด ในรอบสองพันปีมานี้ยังมีร่องรอยการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ขนส่งมาทางเรือ ทางตะวันตก มาไกลสุด จากดินแดนแถบเมอดิเตอเรเนียนของยุโรปส่วนทางตะวันออก นั้น มาไกลสุด มาจากญี่ปุ่น

ก่อนฝรั่งจะออกสู่โลกนั้น การค้าทางไกลของโลกที่สำคัญที่สุด ก็คือเส้นทางเรือที่มหาสมุทรอินเดียเชื่อมโยงเข้ากับทะเลจีนใต้และจีนตะวันออกนั่นเองและคาบสมุทรภาคใต้ตั้งแต่ยังไม่มีคนไทยอยู่ คือจุดที่เรือจากตะวันตกและตะวันออกจะระบายสินค้าและนักเดินทางลงลำเลียงหรือเดินทางข้ามคาบสมุทรแคบๆ ไม่กี่วัน ไม่กี่อาทิตย์ แล้วแต่รายละเอียด ข้ามไปลงอีกฝั่ง แล้วขึ้นเรือใหม่ เดินทางทางทะเลต่อไป

คนโบราณไม่ได้ข้ามคาบสมุทรกันแต่ที่คอคอดกระครับ หากข้ามกันเป็นล่ำเป็นสันตลอดคาบสมุทรอันยาวเหยียด คะเนกันว่ามีช่องข้ามเป็นคลองหรือเป็นทางเดินซึ่งต่อกับคลอง อยู่ร่วมสิบแห่ง ตั้งแต่ระดับประจวบฯ ลงใต้ไปเรื่อยๆ ถึงระดับระนอง ระดับกระบี่ ตรัง เพื่อข้ามไปยังอีกฝั่งทะเลที่ประจวบฯ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง เป็นต้น กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าโลกรู้มานานว่า ทั้งคาบสมุทรภาคใต้คือทางข้ามของสินค้าและนักเดินทางทางเรือจากสองมหาสมุทร

ในอดีตอันไกลโพ้น คือเมื่อ 600 -2000 ปีที่ผ่านมานั้น ขอย้ำ โลกยังไม่เดินเรือลงใต้ไปช่องแคบมะลักกากัน เพราะหนึ่ง ย่อมจะเสียเวลากับการเดินเรือไปมากกว่าการถ่ายของถ่ายคนข้ามคาบสมุทรโดยทางบก และสอง ช่องแคบมะลักกา นั้น เต็มไปด้วยโจรสลัดพื้นเมืองที่จะคอยมาขโมยของ ปล้นชิงสินค้า หรือ ชิงเอาเรือ และ คุกคาม ทำร้ายคนเดินเรือ ต้องรอมาจนถึงคริสตศตวรรษที่ 15 คือประมาณ หนึ่งร้อยปี หลังตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงเกิดเมืองมะลักกาที่มีสุลต่านที่เข้มแข็ง สามารถปราบโจรสลัดลงได้ จากนั้นมาการเดินเรือผ่านการเดินบกข้ามคาบสมุทรภาคใต้ของไทยจึงค่อยลดความสำคัญลง และลดลงจนเป็นศูนย์เลย ก็เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเข้าคุมช่องแคบมะลักกาโดยเด็ดขาด เปิดสิงคโปร์เป็นเมืองท่า และ ห้ามหรือกีดกันไม่ให้สยามขุดคอคอดกระ หรือคลองใดๆ ขึ้นมา เป็นทางผ่านหรือสร้างเมืองท่าขึ้นมาท้าทายสิงคโปร์

อังกฤษได้ใช้อำนาจทางการทูตและการทหารเปลี่ยนสิงคโปร์เกาะเล็กๆซึ่งหลายร้อยปีที่แล้วเป็นเสมือนซอยเล็กๆ ถ้าเราเปรียบกับการคมนาคมทางบก ให้เป็นทางหลวงมหึมา ในทางกลับกัน คาบสมุทรภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่ของไทยถูกลดสถานะครั้งใหญ่จากทางหลวงใหญ่ ลงมาเป็นตรอกเล็กๆ หรือ พูดให้จริงกว่าอีก คือ กลายเป็นซอยตันไปเสียเลย

ความจริงอันขมขื่นในทางการทูตและภูมิ-รัฐประศาสนศาสตร์ เป็นอย่างนี้แหละครับ น่าเสียดาย และก็เป็นมาร่วมสองร้อยปี โดยไทยเราไม่ค่อยตระหนักกัน

ด้วยเหตุนี้แหละครับ ผมอดไม่ได้ที่จะสนับสนุนกระบวนการที่คิดจะใช้สมุทรานุภาพ ใช้คาบสมุทรภาคใต้ให้เป็นแต้มต่อทางเศรษฐกิจ คิดขุดคลองกระ หรือ คลองไทย เชื่อมสองมหาสมุทร ขยับเส้นทางหลักในการเดินเรือของโลก จากสิงคโปร์ ผ่านช่องแคบมะลักกา ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ขยับมันให้สูงขึ้นให้เหนือขึ้น มาอยู่ที่คาบสมุทรของไทยแทน โดยจะเป็นที่ไหน ก็สุดแท้แต่จะคิด จะมีกี่คลองก็ได้ โดยระมัดระวังไม่ให้เสียสภาพธรรมชาติและเสียศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว ทำอะไรใหม่ นั้น ไม่จำเป็น ไม่ควรเป็น อุปสรรคกับของเก่า ต้องไม่ไปทำร้ายหรือไปทำลายของเดิมด้วยครับ

ว่าไปแล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เขื่อมโยวต่อยอดการเขื่อมสองมหาสมุทร จะเรียกว่า”เศรษฐกิจคาบสมุทรภาคใต้” ก็ได้ น่าจะเริ่มคิดได้แล้ว น่าจะมีศักยภาพไม่น้อยกว่า อีซี การเชื่อมสองมหาสมุทรนั้น น่าจะสำคัญยิ่งกับอนาคตชาติ ไม่น้อยกว่าการแปรเปลี่ยนไทยเป็น 4.0 ประเทศไทยนั้นถ้ากล้าคิด กล้าทำ และทำอย่างระวังรอบคอบ แต่ก็เร็วพอควร จะระดมความรู้และทุนได้จากทั่วโลก รวมทั้งจากจีน เราจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ให้สมกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเราดีติดระดับต้นของโลกทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น