xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เดิมพันอนาคต “รัฐบาล” “ร่างกม.EEC” ไม่ผ่านไม่ได้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใกล้โค้งสุดท้ายจึงต้องออกตัวแรงเป็นพิเศษเพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกันเต็มที่ งานนี้จึงเห็นดรีมทีมเศรษฐกิจที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ลงแรงแข็งขันดันให้ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 โดยเร็ว เพราะหากรัฐบาลและองคาพยพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแม่น้ำสาย สนช. ยังขืนยึกยักลากถ่วงกันต่อไปอีกก็มองเห็นอนาคตรำไรว่าที่ทุ่มเทกันมาสุดตัวก็อาจเสียเปล่า

ทั้งกับ “อนาคตของประเทศ” ที่อยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่งั้นก็ตกยุค ตกขอบเวทีโลก

ทั้งกับ “อนาคตทางการเมืองของรัฐบาลทหาร” ที่ต้องสร้างผลงานชิ้นโบแดง ดึงดูดนักลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างคะแนนนิยมเพื่อเป็นทุนสำหรับการเลือกตั้ง ถ้าเรื่องประมาณนี้ยังทำไม่สำเร็จ เป้าหมายใหญ่ที่คิดจะอยู่ยาวๆ ก็เลิกฝันกันได้เลย

ทั้งกับ “ชุมชน” ที่ได้รับบทเรียนราคาแพงลิบลิ่วจากโครงการพัฒนาของรัฐ จนบัดนี้ยังตกอยู่ในวังวนมลพิษ

ร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ที่ส่งผลในหลายมิติทั้งความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ทั้งอนาคตรัฐบาลทหาร ทั้งวิถีชุมชน จึงเดินมาถึงจุดไคลแม็กซ์ว่าจะสามารถทำคลอดออกมาได้ในไม่ช้าดังหัวหน้าทีมเศรษฐกิจวาดหวังหรือไม่ โดยตัวแปรสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายไม่ใช่แต่เสียงท้วงติงจากนอกสภาฯ หากเงื่อนไขตัวแปรสำคัญแท้จริงขึ้นอยู่กับองคพยพของ คสช. นั่นแหละว่าจะขัดขากันเองหรือไม่ ใช่ยื้อเพื่อต่อรองอะไรกันระหว่างกลุ่มก๊วนต่างๆ ที่แวดล้อมท่านผู้นำอยู่ในเวลานี้ หรือไม่ ?

พินิจพิเคราะห์ไป ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ที่ยังทำคลอดไม่ได้ อาจจะละม้ายคล้ายคลึงกับเรื่องก่อนหน้านี้ที่หัวหน้ารัฐบาล ดึงนายสมคิด เข้ามาคุมทีมเศรษฐกิจทั้งหมด ยกเว้นกระทรวงเกษตรฯ ซึ่ง “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ “เพื่อนบิ๊กตู่” นั่งคุมและคอยดึงขากันเองบรรเลงกันไปคนละคีย์กับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จนในที่สุดก็ต้องลุกไปเพราะผลงานโดยรวมไม่เข้าเป้ายกเว้นด้านงานประมงที่ยังดูแลต่อ และเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทัพกันใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จึงมอบหมายให้รองฯ สมคิด เข้ามากำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่งไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่วายที่มีเสือข้ามห้วยจากมหาดไทย เด็กในคาถา “พี่รอง” แห่งก๊วนเสือตะวันออก เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แถมก่อนหน้านี้ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษณ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังพูดเป็นนัยไม่โอเคกับการที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ขอเขย่าการใช้งบองค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) ของมหาดไทยร่วมสองแสนล้านสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า จนต้องมีการเคลียร์กันไปหลายยกกว่าจะจบลงแบบที่เข้าใจกันนะว่าเป้าหมายตรงกันคือศึกใหญ่เลือกตั้งที่รออยู่ข้างหน้าฐานเสียงรากหญ้าเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องสร้างคะแนนนิยม ถ้ามัวแต่ขัดแข้งขัดขากันไม่เลิกก็จบเห่ตั้งแต่ปี่กลองยังไม่ดัง

มาถึงร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ซึ่งเป็นหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนจะหอบเงินเข้ามาลงทุนในไทยหรือจะขยายการลงทุนเพิ่มหรือไม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทหารและองคพยพซึ่งหมายรวมถึงแม่น้ำสาย สนช. ช่วยกันถ่อช่วยกันพายมาตั้งแต่รัฐบาลประกาศนโยบายพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 นี้แล้ว

แรกๆ ก็ดูออกตัวกันคึกคักเข้มแข็ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจงัดเอามาตรา 44 หลายครั้งมาสั่งการเพื่อทะลุทะลวงอุปสรรคปัญหาให้โครงการนี้เดินหน้าไปให้ได้ สาธารณูปโภคหลายโครงการต่างเร่งกันเต็มสตรีม ทั้งโครงข่ายคมนาคม สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ดรีมทีมเศรษฐกิจต่างเดินสายโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่กลุ่มทุนในประเทศต่างขานรับกันเกรียวกราว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ.... (อีอีซี) ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงแล้ว และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกวันที่ 28 ก.ย. 2560 และที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์ 175 เสียง รับร่างหลักการพ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการร่วมแปรญัตติ จำนวน 30 คน กำหนดเวลาการทำงานต้องให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช. ลงมติต่อไป แต่เมื่อถึงกำหนดนัด ที่ประชุม สนช. เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 ได้มีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างกม.นี้ออกไปอีก 60 วัน ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ระบุว่าร่างกม.นี้ มีเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบและมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป

เป็นรายการสะดุดที่ดรีมทีมเศรษฐกิจพยายามทำความเข้าใจและเชื่อมั่นว่าคงไม่ดีเลย์ออกไปเนิ่นช้านัก แต่จนบัดนี้ก็ยังต้องลุ้นกันเหงื่อตก ปลายสายจากสถานี สนช.ยังไม่ตอบรับ

ตามไทม์ไลน์ที่วางกันไว้ หากนับวันเวลาปลายเดือน ม.ค. 2561 ที่ประชุม สนช. ก็คงเคาะผ่านวาระ 2 เข้าสู่วาระ 3 เป็นลำดับต่อไป และคงใช้เวลาพิจารณาไม่นาน อย่างช้าสุดที่ดรีมทีมเศรษฐกิจนายสมคิด คาดหวังคือ ทำคลอดออกมาได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

เว้นแต่จะมีอะไรๆ ในกอไผ่อย่างที่จับสำเนียงได้จากการเป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหัวข้อ “EEC ไม่มีไม่ได้” จัดโดยหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งนายสมคิด ย้ำว่า จะเดินหน้าทำงานจนถึงวันสุดท้าย จะผลักดัน EEC เกิดให้ได้ เพื่อทำให้ไทยไม่ตกขอบเวทีโลก และเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนให้มาไทยไม่หนีไปประเทศอื่น

“การทำประเทศไทย 4.0 มีคนกระแนะกระแหนะว่า 1.0 ยังทำไม่ได้เลย แต่ไม่มีผลกับผม เพราะเรามาครั้งนี้ มีโจทย์ในใจ เป็นโอกาสของชีวิต และโอกาสของประเทศไทย เหลือเวลาอีกเท่าไร จะทำจนถึงวันสุดท้าย และวันหนึ่งครั้งหน้าคนจะรู้ว่ามันจำเป็นต้องเกิด จะไม่เกิดก็ได้ ซึ่งถ้าไม่เกิด ท่านจะเห็นความสำคัญของประเทศไทยจะค่อยๆ ด้อยลง การลงทุนจะย้ายไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ การสร้างความมั่งคั่งจะทำได้ยาก การเชื่อมโยงสู่ดิจิทัล อีโคโนมี หรือยกระดับภาคการเกษตรก็จะทำได้ลำบาก อนาคตเราเลือกเองได้ไม่ว่าแบบไหน ถ้าอยากให้ไทยไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง สู้กับคนอื่นได้ เราต้องให้ EEC เกิดให้ได้ แต่ถ้าบอกว่าค่อยๆ ไปก็ได้ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ก็จะได้เห็นกัน เราจะให้เกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ แต่ผมจะทำให้เกิด” นายสมคิด กล่าว

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ยังสาธยายถึงความจำเป็นต้องมี EEC ว่า รัฐบาลมีเวลาเพียง 1 ปี ที่จะมุ่งพัฒนายุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อให้สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยรัฐได้เตรียมแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับในการเชื่อมโยงกับการค้าภูมิภาคไว้แล้ว

“.... EEC มีหรือไม่ อนาคตอยู่ในมือคนไทย แต่ตนมีหน้าที่ทำให้เกิด เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อุตสาหกรรมเดิมคงจะเติบโตได้ยาก จึงต้องต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีพื้นที่ EEC รองรับ เวลานี้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ส่งออก ลงทุนปีนี้ก็จะโตกว่าปีก่อน ขณะที่โลกเอง สหรัฐฯ มีนโยบาย American First เริ่มมีกำแพงภาษี อิทธิพลจีนเริ่มแผ่เข้ามาทุกที่และนโยบาย One Belt One Road ก็จะทำให้อาเซียนกลายเป็นบ่อทอง ทำให้ทุกประเทศเริ่มจะมีการติดต่อเชื่อมโยงกันมากขึ้น ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ และนี่คือโอกาสของ EEC ....” รองฯ สมคิด กล่าว

และไม่ว่า ร่างพ.ร.บ.อีอีซี จะเจอโรคเลื่อนออกไป แต่รองฯ สมคิด ยังเชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.อีอีซี ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สนช. วาระ 2 จะแล้วเสร็จในไม่กี่วัน และที่สุดจะคลอดออกมาได้ในไม่ช้า ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นปีนี้ เมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพ บ้านเมืองสงบ เศรษฐกิจเติบโต ทำให้เห็นอนาคตธุรกิจ และการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน

ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและกติกาการค้าของโลกมีอัตราเร่งที่เร็วมาก หากไทยอยู่เฉยๆ ก็จะถูกทิ้งห่างให้ตกขบวนในเวทีโลก ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อการรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม จึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนร่างกฎหมายที่เป็นหลักประกันความมั่นใจนักลงทุนนั้น “....ล่าสุดร่างพ.ร.บ.EEC อยู่ในชั้นกรรมาธิการ สนช. และคาดว่าจะจบวาระ 2 เร็วๆ นี้ จากนั้นจะเข้าสู่วาระ 3 ในเดือนก.พ. ก็จะทำให้มีกฎหมายรองรับทำให้มีการดูแลที่ดีขึ้น...” นายอุตตม กล่าวด้วยความเชื่อมั่น

เช่นเดียวกับ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ที่ชี้ให้เห็นถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค โดย EEC จะกลายเป็นสถานีหลักเศรษฐกิจไทยเชื่อมภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยเองมีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่ชัดเจน โดยวันที่ 1 ก.พ.นี้ จะเสนอแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC เพิ่มอีก 3 เท่าภายใน 8 ปี และมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เป็น 2.5 แสนล้านบาทในปีนี้

การทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นที่จะหอบเงินเข้ามาลงทุนในอีอีซี เพื่อสร้างผลงานชิ้นโบแดงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แต่การทำคลอดกฎหมายอีอีซีที่อยู่ในมือ สนช. ก็ไม่ได้ง่ายอย่างใจนึก ไม่เพียงแต่การขอแปรญัตติของสมาชิก สนช. เท่านั้น แต่ยังมีเสียงทักท้วงจากสังคมและชุมชนที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ในการอภิปรายของสมาชิก สนช. ที่แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.อีอีซี วาระแรกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน การขาดการรับฟังความเห็นที่เพียงพอ ความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการถมทะเล รวมทั้งเรื่องการยกเว้นข้อปฏิบัติตามกฎหมายปกติ และให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน ทั้งการถือครองที่ดินการเช่าที่ดินและการต่ออายุสัญญายาวถึง 99 ปี สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงการให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่คณะกรรมการนโยบายอีอีซีในการอนุมัติให้สิทธิประโยชน์ และยังไม่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมไทยจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างไร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงก็ยังไม่เห็นความชัดเจนนัก

ส่วนเสียงนอกสภา ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเมื่อกลางเดือนธ.ค. 2560 เสนอแนะมาตรการและข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบฯ หลังศึกษาร่างพ.ร.บ.อีอีซี ต่อรัฐสภาและครม. ใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง รัฐสภาโดย กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนี้ควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพื่อประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน สอง ควรแก้ไข ม. 36 ที่ว่าด้วยการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน สปก.เพื่อการอื่นเท่าที่จำเป็น และต้องชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม

สาม ควรแก้ไขเพิ่มเติม ม.37 และ ม.43 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาตหรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น และ สี่ ครม.กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 2/2560 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2560 ด้วยความระมัดระวัง

ส่วนกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch - อีอีซี วอร์ช) ซึ่งได้ยื่นหนังสือต่อประธานและรองประธาน สนช., นายกรัฐมนตรี รวมถึงเลขาธิการคณะกรรมการอีอีซี มีข้อเรียกร้องให้รัฐฯจัดการปัญหาจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวทางจัดการปัญหาในระยะยาวที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน, ไม่เร่งรัดโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่คัดค้านกันอยู่ โดยขอให้ศึกษาทางเลือกอื่นและผลกระทบรอบด้าน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น โครงการท่าเรือแหลงฉบับ เฟส 3,โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และโครงการนิคมอมตะนคร แห่งที่ 2 (รอยต่อชลบุรี-ฉะเชิงเทรา) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐฯจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนการอนุญาตดำเนินการ ส่วนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ใช้คณะผู้ชำนาญการตามชุดคณะที่มีไม่ให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะและไม่ให้กำหนดเวลาเป็นการเร่งรัด และการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 77 ของ รธน. 2560 เป็นต้น

การฟังเสียงทักท้วงและการเปิดช่องทางเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอีอีซีนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการให้ความสำคัญกับนักลงทุน ยิ่งหากพิจารณาในแง่ที่ว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นผู้เสียสละเพื่อความมั่งคั่งของประเทศในการพัฒนาพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดมากว่า 30 ปีแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเพิกเฉยได้

และหากกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาว่าด้วยกลไกไตรภาคี ที่มีองค์ประกอบ รัฐฯ-ทุน-ประชาชน มีความเข้มแข็งและได้ผลก็จะเป็นหลักประกันให้กับนักลงทุนด้วยว่าจะไม่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในระดับ “มึงสร้าง กูเผา” เหมือนเช่นในอดีต เพราะหากฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนที่เผชิญกับปัญหามลพิษในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งก็คือพื้นที่ของโครงการอีอีซีในเวลานี้ คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา นั้น จะออกมาในท่วงทำนองที่ว่า ขอให้ชุมชนและโรงงานของกลุ่มทุนอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข

ถึงชั่วโมงนี้ ร่างกม.EEC ไม่ผ่านไม่ได้แล้ว .... ก็ต้องถาม “บิ๊กตู่” จะผลักดัน อีอีซี ให้สำเร็จในเร็ววันเป็น วิน-วิน กันทุกฝ่าย ไทยแลนด์ไม่ตกขอบเวทีโลก รัฐบาลทหารได้ผลงานในโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง นักลงทุนมั่งคั่ง ชุมชนไม่ถูกทอดทิ้ง หรือจะปล่อยให้แม่น้ำสาย สนช. ลากถ่วงร่างกฎหมายนี้กันต่อไปให้ชวนสงสัยว่า มีอะไรในกอไผ่หรือเปล่า?

 
8 ความก้าวหน้า EEC

รายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ อีอีซี ซึ่งสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2561 มีผลดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1.ประกาศเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย

เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: เมืองการบินภาคตะวันออก หรือ Special EEC Zone: Eastern Airport City ขนาดพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน รองรับผู้โดยสาร 15-35-60 ล้านคน/ปี ในระยะ 5-10-15 ปี ตามลำดับ

เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ตั้งอยู่ในบริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ขนาด 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 120 ไร่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และ ชุมชน ด้วยการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม

เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd) บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 709 ไร่ เพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเดิมรองรับการเป็น Data Hub ของอาเซียน

นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,466 ไร่
นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,900 ไร่

2.อนุมัติกำหนดการดำเนินงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาระบบราง (รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนปัจจุบันและส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าสายสีแดง) เชื่อมโยง 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา) การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และระบบการจัดการขนส่งแบบบูรณาการทั้งรถไฟและท่าเรือแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ซึ่งเป็นโครงการหลักของ EEC ที่จะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์การทางเศรษฐกิจระดับโลก

3.ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 (ประกาศ EEC Track) เพื่อให้การลงทุนสำคัญใน EEC สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว โดยดำเนินกับ EEC Project List จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis) (2) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (3) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 (4) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 (5) โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และ (6) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

4.เห็นชอบกรอบแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 8 แผนงานย่อย ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (2) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (3) การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ (4) การพัฒนาศูนย์กลางการเงิน (5) การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี (6) การพัฒนาเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง (7) การประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และ (8) แผนปฏิบัติการการเกษตร ชลประทาน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

5.เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติ การการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การ วิจัย และเทคโนโลยี (พ.ศ. 2560 - 2564) และอนุมัติงบประมาณจากงบกลาง ปี 2561 สำหรับโครงการเร่งด่วนที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาบุคคลากรฯ ในกรอบวงเงิน 861.02 ล้านบาท

6.การชักชวนนักลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC รวม 160 ราย และ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้ชักชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC แล้ว 40 ราย โดย 11 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอการลงทุน

7.การลงนามความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เสริมสร้างความสัมพันธ์และเตรียมการวางแผนความร่วมมือด้านการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และมุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจพื้นฐาน และร่วมเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ดังนี้

ญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม(METI) (ลงนามโดยกระทรวงอุตสาหกรรม) KOBE Biomedical Innovation Cluster (KBIC) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และ HITACHI
จีน ได้แก่ ธนาคารไอซีบีซี (ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย)
ฮ่องกง ได้แก่ องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC)

องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization : UNIDO)

8.ร่างพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 และเข้าสู่กระบวนการของการนำเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 30 คน และกำหนดกรอบเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ประชุมมีมติรับหลักการ (ครบกำหนดวันที่ 26 พ.ย.60) และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … ครั้งที่ 5/2560 ที่ประชุมรับทราบการขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวออกไปอีก 60 วัน กำหนดซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มกราคม 2561



กำลังโหลดความคิดเห็น