xs
xsm
sm
md
lg

จวกคสช.ปาหี่ยึดทรัพย์"ปู"…ปล่อยโยกเงินในบัญชีเกือบเกลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- ปชป. จี้ถาม คสช. ยึดทรัพย์"ยิ่งลักษณ์"ไม่ได้ ใครรับผิดชอบ จวกยับเล่นปาหี่การเมืองน้ำเน่ายิ่งกว่า นักการเมืองเสียอีก ด้าน"วิษณุ"ระบุ คลัง-กรมบังคับคดี เดินหน้าสืบทรัพย์ได้ หลังศาลยกคำร้องขอทุเลาแล้ว ระหว่างนี้เจออะไรก็ดำเนินการยึดได้เลย

นายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการยึดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ว่า ชัดเจนแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินในครอบครอง เห็นได้จากกรณีเงินฝากในบัญชีธนาคาร ที่พบว่ามีเงินรวม 24.9 ล้านบาท แต่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยกระทรวงการคลัง และกรมบังคับคดี สามารถยึดได้เพียง1.9 ล้านบาทเท่านั้น ยังไม่รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ จึงเกิดคำถามคาใจคนไทยว่า ตลอดเวลาเกือบ 4 ปี ที่รัฐบาลคสช. เข้ามาบริหาร และกำหนดทิศทางประเทศ ได้มีมาตรการป้องกันและปราบปราม การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายจำนวนมหาศาลในโครงการรับจำนำข้าว หรือไม่ อย่างไร เพราะหากมีความตั้งใจจริงในการติดตามทวงเงินเข้ารัฐ ก็สามารถสั่งดำเนินการแช่แข็งการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ได้ ตั้งแต่ปี 58 ที่เริ่มขั้นตอนตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีหลายฝ่ายได้เคยทักท้วงไว้ก่อนแล้ว ก็จะไม่เกิดความเสียหายซ้ำซ้อนเช่นนี้ขึ้น แต่กลับเพิกเฉย เสมือนยักคิ้วหลิ่วตา เปิดโอกาสให้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน จึงไม่น่าแปลกที่สังคมซึ่งจับตามองกรณีนี้ จะวิพากษ์วิจารณ์โดยครหาว่า ผู้มีอำนาจบางคนในรัฐบาล คสช. แอบจับมือเจรจาต่อรองกับนายใหญ่ เพื่อช่วยน้องสาว ใช่หรือไม่ อย่างไร และที่ชัดเจนคือ เหตุใดจึงปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯใช้กลไกของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน แอบหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ไปอยู่ประเทศอังกฤษ จนวันนี้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลนี้ ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่พอฟังขึ้นให้กับสังคมไทย เมื่อยึดทรัพย์คืนรัฐไม่ได้เช่นนี้ คสช. หรือใครจะรับผิดชอบ

"แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ เมื่อรัฐบาล คสช.ประกาศสงครามกับการทุจริต คอร์รัปชัน หรือการละเลยเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นเหตุให้รัฐและส่วนรวมเสียหายมหาศาล เช่น กรณีโครงการรับจำนำข้าว นอกจากปล่อยให้ผู้ต้องรับผิดชอบหลบหนีคำสั่งศาลแล้ว รัฐบาลคสช. ยังทำผิดพลาด บกพร่องต่อหน้าที่ซ้ำอีก ในการป้องกัน และติดตามทรัพย์สินเพื่อคืนแผ่นดิน ตามคำสั่งศาลฯ มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคดี ที่รัฐบาลคสช. มีพฤติการณ์แปลกๆ กระทำสวนทางกับคำพูด เล่นปาหี่การเมือง เข้าลักษณะหน้าไหว้ หลังหลอก พูดจากลับกลอกไปวันๆ แทนที่จะใช้เวลาที่เหลือ เร่งทำงานให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จับต้องได้ แต่กลับเล่นการเมืองน้ำเน่าเสียยิ่งกว่านักการเมืองที่ตัวท่านเคยดูถูก จึงไม่แปลกใจ ที่สังคมไทยจะมองว่า เป็นขาลง ของรัฐบาล คสช. เพราะการกระทำส่อเจตนาและมีนัยยะว่าสำคัญกว่าคำพูดเสมอ ซึ่งเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์คสช. ยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศไทย และสังคม จริงหรือไม่" นายวิรัช กล่าว

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ขั้นตอนของกระทรวงการคลัง หลังศาลปกครองยกคำร้องคำขอทุเลาการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ว่า สามารถเดินหน้าสืบทรัพย์ได้เลย เพราะคนที่เกี่ยวข้องมี 2 ส่วน คือ กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ทรัพย์ และกรมบังคับคดี ที่มีอำนาจในการยึด หรืออายัด ตามที่กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ได้ชี้ทรัพย์ หากไม่สามารถนำยึดได้ เพราะหาทรัพย์ไม่เจอ มันมีระยะเวลา 10 ปี ตามอายุความ ระหว่างนี้เจออะไรสามารถดำเนินการได้ จนกว่าจะมีการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอทุเลาใหม่ ซึ่งร้องได้เรื่อยๆ แต่คงต้องดูเป็นกรณีไป เพราะการร้องต่อศาลปกครอง ต้องดูว่าเขาร้องอะไร ถ้าร้องขอทุเลา แปลว่า สำหรับอนาคต ที่ผ่านไปแล้วถือว่าจบ

ส่วนที่ในคำสั่งยกคำร้องของศาล ระบุว่า มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์นั้น ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ ต้องเป็นผู้เสาะหา แล้วให้เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี ไปจัดการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนไม่จำเป็นต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้ว เพราะหน่วยงานต่างๆ ต่างรู้หน้าที่ตัวเอง เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาเช่นนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปบอกอะไรอีก ที่ผ่านมาก็ได้มีการอายัดอะไรไปพอสมควรแล้ว เท่าที่ทำได้ แม้จะยังไม่มากเท่าจำนวนที่พึงยึดก็ตาม

ส่วนทรัพย์สินที่อายัด หรือยึดไว้ ได้มีการนำเข้าคลังแล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นการอายัดเอาไว้ก่อน แต่ไม่ต่างอะไรกับการไปยึด เพราะไม่สามารถจะทำอะไรกับทรัพย์นั้น หรือยักย้ายไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ การจะนำทรัพย์ดังกล่าวเข้าคลังได้จะต้องให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาอะไรอีก เช่น ไม่มีคดี หรือจบเรื่องไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น