xs
xsm
sm
md
lg

คลังลดหย่อนภาษีช่วยSMEs "อุตตม"นัดถกหอการค้า29ม.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"สมคิด" สั่ง “ออมสิน - ธพว. - กรุงไทย” เลิกเป็นเสือนอนกิน รีบเชื่อมฐาน Big Data ปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี เล็งตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาคนระดับรากหญ้า-SMEsเกษตรกร-สตาร์ทอัป ด้าน “คลัง” เตรียมชง ครม.ให้ SMEs รายได้ไม่เกิน 100 ล.ต่อปี ลดหย่อนภาษี 1.15 เท่า รับมือค่าแรง "อุตตม" นัดถก “หอการค้าไทย” ป้องกันผลกระทบ 29 ม.ค.นี้

วานนี้ (25 ม.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมเพื่อมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารธนาคารออมสินว่า ตนได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธวพ.) และธนาคารกรุงไทย ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อร่วมออกแบบการปล่อยสินเชื่อตามพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย ทั้งนี้ เนื่องจากในอนาคตธนาคารไม่อาจทำตัวเป็นเสือนอนกินได้อีกต่อไป เนื่องจากคู่แข่งไม่ได้มีอยู่เฉพาะแค่ในสถาบันการเงินเท่านั้น แต่คู่แข่งที่น่ากลัวคือกลุ่มที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าว่าแต่ละรายนั้นเป็นเช่นไร เช่นเดียวกับประกันภัยที่ในอนาคตจะต้องมีข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของบุคคลเพื่อใช้เป็นตัวกำหนดความเสี่ยงในการทำประกัน สถาบันการเงินจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ธนาคารออมสินในฐานะที่ใกล้ชิดกับคนจนก็ควรมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาคนระดับรากหญ้า โดยดึงสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยให้องค์ความรู้ เป็นการสร้างหน่วยงานเพื่อแก้ไขคนจนแบบบูรณาการ เช่นเดียวกับการพัฒนาคนชั้นกลางซึ่งธนาคารออมสินได้มีส่วนกับปล่อยกู้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (เอสเอ็มอี) รวมถึง Start Up จึงจำเป็นต้องมีสถาบันที่จะช่วยช่วยพัฒนาคนเหล่านี้ด้วย โดยธนาคารออมสินจะต้องรวบรวมงานของธนาคาร โดยแบ่งกลุ่มงานออกเป็น 4 กลุ่ม คือ การดูแลคนระดับฐานราก,คนจน คนตัวเล็ก และ SMEs , การดูแลคนชั้นกลางที่มีรายได้สูง แต่ต้องการพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้น, กลุ่ม Start Up และกลุ่มสุดท้ายคือ คนสูงอายุ โดยแต่ละกลุ่มธนาคาร จะต้องมีการบริหารแบบเป็นทีม ทั้งส่วนที่ทำงานหน้าสำนักงาน (Front OFFICE) ,ส่วนกลางและส่วนที่เป็นหลังบ้าน (Back Office) เพื่อให้มีการทำงานที่ประสานกันได้

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่จะได้รับกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ระหว่าง 5 - 22 บาทต่อวัน ว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า พิจารณามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ด้วยการนำค่าจ้างทั้งหมดมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.15 เท่า จากมาตรการเดิมให้นำมาหักลดหย่อนได้เพียง 1 เท่า โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31 ธ.ค. 61 โดยคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไม่มาก ในทางกลับกันสามารถช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้จำนวนมาก" นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนโครงการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะ 2 ที่รัฐบาลจะเน้นเรื่องการจ้างแรงงานว่าในกรณีที่ผู้ประกอบการรายใดว่าจ้างแรงงานในกลุ่มนี้ จะสามารถนำรายจ่ายที่เป็นค่าจ้างแรงงานดังกล่าว มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.15 เท่า จากปกติที่เคยหักได้เพียง 1 เท่า ซึ่งจะช่วยให้บริษัทที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20 % สามารถลดภาระภาษีลงได้ 10%

ขณะที่ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า วันที่ 29 ม.ค.นี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เตรียมหารือร่วมกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถึงแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ครอบคลุมผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในระบบ 3 ล้านราย แบ่งเป็นภาคบริการ และภาคเกษตร ที่มีกว่า 2.5 - 2.6 ล้านราย ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าภาคผลิตที่มีอยู่ 4 แสนราย.


กำลังโหลดความคิดเห็น