xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์การเมืองของคณะรัฐประหารที่ควรปรับเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การตัดสินใจเลือกจุดยืนทางยุทธศาสตร์แตกต่างกัน ย่อมสร้างผลลัพธ์ที่ตามมาแตกต่างกันไปด้วย ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อมีการรัฐประหารแล้ว คณะผู้ก่อการรัฐประหารมีแนวโน้มเลือกยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจทางการบริหารเป็นยุทธศาสตร์หลัก โดยอาจมียุทธวิธีที่แตกต่างกันออกไป ทว่าในยุคสมัยแห่งปัจจุบัน ก่อให้เกิดคำถามว่า ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจทางการบริหารยังมีความเหมาะสมอยู่อีกหรือไม่ เพราะเหตุใด

โดยพื้นฐานยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจบริหารของคณะรัฐประหารตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมามีอย่างน้อยสี่ตัวแบบ ตัวแบบแรกคือ “รัฐสร้างพรรค” หรือ การจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองและใช้อำนาจรัฐสนับสนุนเพื่อสร้างชัยชนะในการเลือกตั้ง ตัวแบบที่สองคือ “รัฐตั้งพวกให้มีอำนาจเต็ม” หรือ การไม่จัดตั้งพรรคการเมืองของตนเอง หากแต่สนับสนุนพรรคตัวแทนหรือนอมินี และกำหนดให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและลงมติไว้วางใจรัฐบาลได้ ตัวแบบที่สองอาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ตัวแบบที่สาม คือ “รัฐหนุนพรรค” ซึ่งกรณีนี้ คณะรัฐประหารไม่ตั้งพรรคโดยตรง แต่จะให้ตัวแทนไปจัดตั้งพรรคและรวบรวมให้กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ และตัวแบบที่สี่ “รัฐตั้งพวกให้มีอำนาจบางส่วน” หรือ อาจเรียกว่าเป็น ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมก็ได้

ตัวแบบ “รัฐสร้างพรรค” หรือ การที่คณะรัฐประหารจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเอง ปรากฎชัดในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัฐ และจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ดูเหมือนว่าประสิทธผลของตัวแบบนี้มีค่อนข้างต่ำ ดังหลังการรัฐประหารพ.ศ. ๒๕๐๐ คณะรัฐประหารใช้ตัวแบบนี้ในการสืบทอดอำนาจเพียงไม่ถึงปี จอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ก่อการรัฐประหารซ้ำ และหันไปใช้การปกครองโดยระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จแทน และอีกสิบกว่าปีหรือ พ.ศ. ๒๕๑๒ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ใช้ตัวแบบนี้อีก คราวนี้ใช้ประมาณสองปี ในที่สุดก็ตัดสินใจรัฐประหารตนเองเหมือนกันในปี ๒๕๑๔ และหันไปใช้ระบอบเผด็จการตามเดิม แต่คราวนี้ระบอบเผด็จการที่เคยใช้อย่างต่อเนื่องยาวนานในยุคก่อนหน้านั้น ก็ไร้ประสิทธิผลในการรักษาอำนาจ และจบลงด้วยการที่ประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่ และจอมพลถนอม ต้องถูกเนรเทศจากประเทศไทย

ความไร้ประสิทธิผลของตัวแบบ “รัฐสร้างพรรค” ในการเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ ทำให้คณะรัฐประหารในยุคต่อมาจึงไม่เลือกใช้ตัวแบบนี้อีกต่อไป แต่ได้ทำการปรับปรุงแนวทางให้ต่างจากเดิมเป้นตัวแบบ “รัฐตั้งพวกให้มีอำนาจเต็ม” ลักษณะของตัวแบบนี้คือ แทนที่คณะรัฐประหารจะจัดตั้งพรรคการเมืองเอง ก็หันไปให้เครือข่ายที่เป็นนักการเมืองจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อเป็นฐานข้างหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ใช้การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และลงมติไว้วางใจรัฐบาลได้ขึ้นมาเป็นฐานอีกข้างหนึ่ง ตัวแบบนี้เริ่มใช้อย่างเป็นรูปธรรมหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งกำหนดบทเฉพาะกาลให้สว.มีอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีได้จนถึงปี ๒๕๒๖ หลังจากบทเฉพาะกาลหมดอายุ แม้ว่าผู้นำทหารบางกลุ่มในขณะนั้นพยายามเคลื่อนไหวให้ต่ออายุบทเฉพาะกาลนี้ เพื่อจะได้สืบทอดอำนาจต่อไป แต่ทว่าถูกคัดค้านต่อต้านจากสังคม จนประสบความพ่ายแพ้ลงไป

อำนาจการบริหารประเทศหลังปี ๒๕๒๖ จึงอยู่ในมือของนักการเมือง แต่เนื่องจากไม่มีนักการเมืองผู้ใดที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มอำนาจนำและประชาชน ประกอบกับ "ปัญญาพลวัตร""พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากสังคม พรรคการเมืองจึงสนับสนุนให้พลเอกเปรม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จนพลเอกเปรมประกาศวางมือทางการเมือง และส่งมอบอำนาจให้นักการเมือง หลังการเลือกตั้งพ.ศ. ๒๕๓๑ นับว่าเป็นการยุติบทบาททางการเมืองลงไปได้อย่างสง่างามที่สุดในบรรดานายทหารที่เข้ามาสู่แวดวงการเมือง

กล่าวได้ว่า การใช้ตัวแบบ “รัฐตั้งพวกให้มีอำนาจเต็ม” ได้สร้างความมั่นคงในการสืบทอดอำนาจกว่าตัวแบบ “รัฐตั้งพรรค” ตัวแบบนี้มีจุดแข็งที่ ผู้นำรัฐประหารที่มาบริหารประเทศมีฐานะเป็นเสมือนคนกลางที่ประคองและสร้างสมดุลอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายทหาร-ราชการกับฝ่ายพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็เปิดช่องทางให้ประชาชนได้แสดงออกเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองในระดับหนึ่ง ความชอบธรรมของผู้นำรัฐบาลภายใต้ตัวแบบนี้อยู่ที่การดำรงตนให้อยู่ในคุณธรรม การสร้างประโยชน์แก่ประเทศ และการจัดการกับการทุจริตอย่างจริงจังจนเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ดังนั้นการที่พลเอกเปรม ได้รับการยอมรับและสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้งที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของตัวแบบ “รัฐตั้งพวกให้มีอำนาจเต็ม” แล้วหลัง พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็เพราะมีคุณธรรมในการบริหารประเทศจนที่ประจักษ์นั่นเอง

ต่อมา เมื่อเกิดการรัฐประหารในพ.ศ. ๒๕๓๔ คณะรัฐประหารยุคนั้นเลือกใช้ตัวแบบที่สาม หรือ “รัฐหนุนพรรค” หรือการที่คณะรัฐประหารส่งนอมินีลงไปดำเนินการจัดตั้งพรรค แต่ไม่ได้กำหนดให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และถึงแม้ว่าพรรคนอมินียุคนั้นได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าตัวแบบนี้ไร้ประสิทธิผล เพราะว่าประชาชนในยุคนั้นไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจการบริหารประเทศของคณะรัฐประหารอีกต่อไป

ประชาชนนับแสนได้ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่แกนนำของคณะรัฐประหารที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง คณะรัฐประหารจึงใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดก็ไม่อาจต้านกระแสการต่อต้านของประชาชนได้ คณะรัฐประหารจึงหมดอำนาจลงไป พร้อมๆกับทำให้เกียรติภูมิของกองทัพตกต่ำตามไปด้วยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

สำหรับการรัฐประหารปี พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะรัฐประหารไม่ได้วางเงื่อนไขในการสืบทอดอำนาจ เมื่อจัดการทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้นสงบลงชั่วคราว ก็วางมือปล่อยอำนาจไป แม้ว่าภายหลังหัวหน้าคณะรัฐประหารจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา แต่ก็เป็นไปเพื่อใช้ในการหาทางลงและปกป้องตนเองเป็นหลัก มิใช่เพื่อสืบทอดอำนาจ คณะรัฐประหารชุดนี้จึงไม่สร้างผลกระทบต่อเกียรติภูมิของกองทัพแต่อย่างใด และหัวหน้าคณะรัฐประหารก็จบบทบาททางการเมืองลงไปอย่างเงียบๆ โดยไม่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่เสียหายมากนัก

ทว่า การรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๕๗ คณะรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมีวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป ด้วยความที่สังคมการเมืองไทยมีความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างประชาชนกับพรรคการเมืองที่ครองอำนาจ อันเนื่องมาจากการทุจริตและใช้อำนาจในทางมิชอบพรรคการเมือง ประชาชนมีทัศนคติเชิงลบอย่างรุนแรงต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง จนลุกลามไปถึงการไม่ยอมรับการเลือกตั้ง สภาพการเมืองเช่นนั้นกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขในการสร้างความชอบธรรมแก่ คสช. ในการเข้ามาครองอำนาจ ภายใต้วาทกรรมที่สวยหรูว่าจะสร้างความปรองดอง จะจัดการกับการทุจริตอย่างเด็ดขาด และจะปฏิรูปประเทศ

จวบจนถึงวันนี้ แกนนำของคสช. ยังแสดงออกมาให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะใช้ยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจการบริหาร ด้วยการใช้ตัวแบบ “รัฐตั้งพวกให้มีอำนาจบางส่วน” ซึ่งกำหนดให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. เข้ามามีอำนาจร่วมกับพรรคการเมืองในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากพรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้ว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบแรก ภายใต้ตัวแบบนี้ แกนนำของคณะรับประหารไม่จัดตั้งพรรคการเมืองโดยตรง แต่จะใช้นอมินีในการจัดตั้งพรรคขึ้นมาแทน เพื่อสร้างฐานการเมืองเอาไว้ในสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ผมประเมินว่า ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจ ด้วยตัวแบบเชิงยุทธวิธีที่คณะรัฐประหารเลือกใช้ในปัจจุบัน ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมืองในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ด้านหนึ่งเป็นเพราะกระแสประชาธิปไตยทั้งภายในและภายนอกประเทศดำรงอยู่อย่างเข้มข้น ทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะถูกตรวจสอบจากประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งยากที่จะทำให้ผู้บริหารประเทศที่มีค่านิยมแบบทหารจะอดทนได้ และอาจหันไปตัดสินใจซ้ำรอยคณะรัฐประหารรุ่นเก่าๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองตามมา

อีกด้านหนึ่งมาจากเหตุผลที่ว่า ขณะนี้ความนิยมที่ประชาชนมีต่อพลเอกประยุทธ์ จันโอชาหัวหน้าคณะรัฐประหารตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลไม่อาจทำให้วาทกรรมอันสวยหรูที่ประกาศไว้ช่วงที่ขึ้นมาครองอำนาจใหม่ๆ เป็นความจริงขึ้นมาได้ แม้ว่าจะมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จและใช้เวลายาวนานร่วมสี่ปีในการบริหารประเทศมาแล้วก็ตาม ในทางกลับกันกระแสที่ต้องการให้คณะรัฐประหารปล่อยวางอำนาจทางการเมืองกลับยิ่งทวีมากขึ้นตามลำดับ

ดังนั้นยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจการบริหารดูจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งคณะรัฐประหารเอง และต่อเกียรติภูมิของกองทัพในภาพรวมด้วย เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดตามมาแก่ประเทศชาติ ผมคิดว่า คสช. ควรปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองเสียใหม่ จาก “ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจการบริหาร” ไปสู่ “ยุทธศาสตร์การตรวจสอบทางการเมือง” แทน โดยกำหนดเป้าประสงค์เพื่อ สร้างระบบการตรวจสอบการอำนาจที่เข้มแข็งในวุฒิสภาขึ้นมา

บทบาทการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมีความสำคัญและจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านและสร้างความเข้มแข็งแก่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต เพราะว่าปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาของการที่นักการเมืองมีอำนาจมากคือ กลไกการตรวจสอบที่เป็นทางการในรัฐสภาไร้ประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยความลำเอียง จนทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา หากสว.ในอนาคตที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีจุดยืนในการแสดงบทบาทตรวจสอบรัฐบาล ก็จะทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจมากขึ้น และช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะเผด็จการรัฐสภาในอนาคตได้

สำหรับแนวทางการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ มีดังนี้

1. หัวหน้า คสช. ควรประกาศต่อสาธารณะว่า จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง และประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน สำหรับบทบาทของรัฐบาลปัจจุบันก็ประกาศให้ชัดว่าจะมุ่งเน้นการทำหน้าที่ในการดูแลความสงบมั่นคงของบ้านเมือง และการเตรียมการเลือกตั้งให้ราบรื่นลุล่วงไปด้วยดี

2. เร่งรัดให้ สนช.ออกกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยเร็ว และดำเนินการให้เนื้อหาของกฎหมายไม่สร้างปัญหาที่ทำให้การเลือกตั้งต้องยืดเยื้อออกไป

3. ไม่จัดตั้งพรรคนอมินีหรือสนับสนุนพรรคการเมืองใดทั้งในที่ลับและที่แจ้ง พร้อมกับการแสดงจุดยืนความเป็นกลางทางการเมืองในฐานะเป็นผู้พิทักษ์ มากกว่าในฐานะที่เป็นผู้เล่นหรือผู้เข้าไปแทรกแซง และใช้กลไกอำนาจรัฐสร้างเงื่อนไขให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

4. การคัดเลือก สว. ควรคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ในการทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และมีความหลากหลายด้านอาชีพ ศาสนา อายุ ภูมิภาค ชาติพันธุ์ และเพศสภาพ

หากคสช.ดำเนินการตามที่เสนอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต และจะทำให้คสช.ดำรงอยู่ในความทรงจำที่ของประชาชน และอาจจะได้รับการจารึกลงประวัติศาสตร์การเมืองไทยในฐานะเป็นคณะรัฐประหารแตกต่างจากคณะรัฐประหารอื่นๆ

โปรดอย่าลืมว่า ในอนาคตสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้า ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน ในวันนั้นท่านประสงค์จะให้คนรุ่นหลังประเมินท่านในฐานะใด ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกกระทำในวันนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น