xs
xsm
sm
md
lg

ทัศนะว่าด้วย “เรื่องส่วนตัว” และมาตรฐานปราบโกงของประยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม. ถึงความคืบหน้าปัญหาเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมว่า เรื่องนี้ขอให้ฟังจากทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วกัน ได้ข่าวว่าวันนี้จะมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าการดำเนินการไปถึงไหนอย่างไร ก็ขอให้แยกแยะให้ออกว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร

“อยากทำความเข้าใจว่าหลายท่านอยากให้ผมใช้คำสั่งมาตรา 44 ก็ต้องอธิบายว่าที่ผ่านมาผมใช้ในเรื่องของการลงโทษ และที่ทำก็เพราะมีหน่วยงานเสนอขึ้นมา เช่น ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแจ้งขึ้นมาว่ามีการสอบสวนแล้ว และมีผลออกมาเช่นนี้ เห็นควรให้เอาออกก่อน ผมจึงใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆจะไปใช้กับใครก็ได้ ผมก็ต้องระวังตัวเองเช่นกัน กรณีนี้ก็เช่นกัน ก็ต้องรอฟัง ป.ป.ช.จะเสนอเรื่องขึ้นมา อย่าเอามาพันกันว่าทำไมผมไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ตรงนี้ แล้วไปใช้กับตรงนั้น อีกประการทุกคนอาจจะลืมไปแล้วว่าเรื่องนี้อะไรเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความบกพร่องส่วนตัว ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ซึ่งมีอยู่แล้ว เรื่องไหนเป็นเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่านำสองเรื่องมาปนกัน ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วทำให้เกิดความเสียหาย มีหลักฐานชัดเจนก็ว่าไปอีกแบบ ขอให้แยกแยะให้ออก ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจะยุติได้แล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สองเรื่องในคำชี้แจงที่จะต้องพูดถึงก็คือ เรื่องนาฬิกาเป็นเรื่องส่วนตัวเพราะไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินจริงๆหรือ อีกเรื่องก็คือที่อ้างว่า ยังไม่ใช้มาตรา 44 พักงาน เพราะที่ผ่านมาใช้ในเรื่องของการลงโทษ เพราะมีหน่วยงานเสนอขึ้นมา

พอได้ยินคำว่า “เรื่องส่วนตัว” ผมก็ได้ยินคนเขาพูดกันว่า “เอ้ยมันใช่เหรอ”

ว่าด้วย “เรื่องส่วนตัว” ข้ามเรื่องของ พล.อ.ประวิตรไปก่อนนะครับ ถามโดยทั่วไปว่า ถ้าเอกชนเอาประโยชน์อันมิควรได้อันเป็นข้อต้องห้ามของกฎหมาย มาให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทำได้หรือไม่ คำตอบคือ ทำไม่ได้ เราจะบอกว่านั่นเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน เพราะไม่เกี่ยวกับงบประมาณรัฐไหม

ที่ทำไม่ได้มีความผิดแม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวของคนสองคนก็เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดสำหรับคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐยังไงเล่า

มาตรา 103 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอํานาจตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และ จํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม

นอกจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรื่องการรับทรัพย์สินอื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 103 อธิบายว่า “ประโยชน์อื่นใด” หมายความว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

ดังนั้นมีคำถามว่า แม้จะพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินนั้นมีชื่อตามกฎหมายเป็นของบุคคลอื่น ผู้ถูกกล่าวหาเพียงแต่เอามาครอบครองใช้สอยนั้นเข้าข่ายเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ตามกฎหมายหรือไม่

แล้วอย่างนี้จะบอกว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว” ได้หรือ

ถ้าอย่างนั้นกรณีทักษิณเซ็นชื่อในที่ดินให้ภรรยาไปทำนิติกรรมกับรัฐ เพราะตัวเองเป็นสามีตามกฎหมายเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะมาตรา 100 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้แก่การดําเนินกิจการ ดังต่อไปนี้ (1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทํากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติ หน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอํานาจกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดําเนินคดี

ทักษิณจึงมีความผิดถูกตัดสินจำคุก เพราะมีกฎหมายบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้ การรับประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐก็เช่นเดียวกันมีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ในมาตรา103ที่ยกมาแสดง

ลองคิดดูสิครับว่า คนเรา “ด่ากัน-ใส่ร้ายกัน” เป็นเรื่องส่วนตัวไหม คำตอบคือเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วทำไมมีความผิด ก็เพราะกฎหมายบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ในกฎหมายอาญายังไงเล่า

เอาเถอะครับวันนี้แม้จะอ้างว่า เพื่อนให้ยืมนาฬิกาหรูมาใช้ ซึ่ง ป.ป.ช.จะต้องสอบที่มาให้ชัดแจ้งว่า คนที่อ้างเป็นเจ้าของนั้นได้มาโดยชอบไหม มีหลักฐานการซื้อขายไหม นำเข้ามาเมื่อไหร่เสียภาษีไหม แต่ดูแค่นั้นไม่พอจะต้องดูพฤติกรรมการครอบครองด้วย

กรณีของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมก็เช่นเดียวกัน แม้ภรรยาจะเอาหลักฐานมีเจ้าของรถมาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของรถจริง มีหลักฐานราชการคือการเป็นเจ้าของรถคันนั้น เจ้าของรถอ้างด้วยว่า ภรรยาของนายสุพจน์ไปช่วยงานบริษัทจึงมอบรถไว้ให้ใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ศาลเห็นว่า การครอบครองรถโดยพฤตินัยมากกว่า หลักฐานทางนิตินัยที่เจ้าของรถเอามาอ้าง

และเรื่องของปลัดสุพจน์ก็น่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ป.ป.ช.นำขึ้นฟ้องคดีในศาลในกรณีที่อ้างว่า “ยืมมา” ซึ่งต้องดูว่า การอ้างว่า “ยืมมา” ของพล.อ.ประวิตรนั้น ป.ป.ช.จะใช้บรรทัดฐานเช่นไร หรือถ้าไม่ฟ้องป.ป.ช.จะสามารถอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจถึงเหตุผลหรือไม่

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์อ้างเหตุยังไม่ใช้มาตรา 44กับ พล.อ.ประวิตรเหมือนกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ โดยอ้างว่าเพราะ “ที่ผ่านมาผมใช้ในเรื่องของการลงโทษ และที่ทำก็เพราะมีหน่วยงานเสนอขึ้นมา เช่น ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแจ้งขึ้นมาว่ามีการสอบสวนแล้ว และมีผลออกมาเช่นนี้ เห็นควรให้เอาออกก่อน”

คือ พล.อ.ประยุทธ์จะอธิบายว่า การใช้มาตรา 44 กับคนเหล่านั้นเป็น “การลงโทษ” และเพราะมีหน่วยงานเสนอขึ้นมาให้เอาออกไว้ก่อน

แต่เมื่อไปพ้นข่าวเก่าเมื่อเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม 59 คน ว่า ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ทุจริต ซึ่งเป็นการแจ้งข้อมูลเข้ามาและเพื่อให้สะดวกในการตรวจสอบและสอบสวนต่อไป โดยให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบ ซึ่งหากมีความผิดก็ว่ากันตามกระบวนการ และยืนยันว่า จะให้ความเป็นธรรม

ถ้าไปค้นข่าวคนที่ถูกคำสั่งก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็พูดในทำนองเดียวกันว่า ยังไม่มีความผิด แต่ถูกร้องเรียนจึงเปิดทางให้มีการสอบสวน

พล.อ.ประยุทธ์ พูดว่าคนที่ถูกใช้มาตรา 44 “ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ทุจริต” แต่ให้พักงานเพื่อสะดวกในการสอบสวน แต่วันนี้มาพูดว่า คนที่ถูกพักงานเป็น"การลงโทษ"ถ้าเป็นการลงโทษก็เท่ากับว่าคนเหล่านั้นมีความผิดหรือเป็นผู้ทุจริตแล้วใช้หรือไม่ แล้วคำพูดก่อนหน้านั้นคืออะไร

แต่ถ้าเราติดตามข่าว เราจะเห็นว่า คนที่ถูกพักงานส่วนใหญ่นั้นมีเรื่องถูกร้องเรียนอยู่ใน ป.ป.ช. แต่ยังไม่ถูกชี้มูลความผิดเช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ที่ถึงขั้นตอนนี้ก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน แต่วันนี้พล.อ.ประยุทธ์กลับพูดว่าเป็น “การลงโทษ” ตกลงคนเหล่านั้นถูกลงโทษเพราะมีความผิดแล้วเช่นนั้นหรือ

ถ้าผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการที่ถูกคำสั่งพักงานด้วยมาตรา 44 ได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์พูดวันนี้ว่าเป็น “การลงโทษ” ผมคิดว่า จะต้องทวงถามความเป็นธรรมว่า ตกลงผมถูกลงโทษด้วยความผิดอะไร เพราะโดยหลักแล้วแม้จะถูก ป.ป.ช.สอบสวน ก็ยังต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบที่ยังไม่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดและคดียังไม่ถูกศาลตัดสิน เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังถือว่าพล.อ.ประวิตรยังเป็นผู้บริสุทธิ์นั่นแหละ

แถมวันนี้คนที่ถูกมาตรา44นอกจากถูกพักงานโดยที่รอกระบวนการสอบสวนแล้ว ยังถูกสังคมตราหน้าว่า ทุจริตคดโกงทั้งที่ผลการสอบสวนยังไม่ออกมา และถ้าภายหลังถูกชี้มูลว่าไม่มีความผิด สิ่งที่สูญหายสูญเสียไปกับระยะเวลาที่ผ่านมาก็เอาอะไรมาชดเชยไม่ได้

ทำไมการแสดงออกต่อเรื่องทำนองเดียวกันของ พล.อ.ประยุทธ์จึงกลับตาลปัตร์ราวกับมีอารมณ์2ขั้วแบบนี้ ช่วยอธิบายด้วยสิครับ

ถามว่า ต้องรอให้เจ้าหน้าที่เสนอมาให้พักงานหรือครับ เขาจะเสนอไหม พล.อ.ประวิตรไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐตัวเล็ก เขารู้กันว่า เป็นเจ้านายเก่าของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนที่พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเคารพนับถือและการันตีว่า เป็นคนดี แม้กระทั่งวันเกิด พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องไปอวยพรถึงบ้านพัก ในขณะที่วันเกิดตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่า ไม่ต้องให้ใครมาอวยพรเพราะไม่ชอบแบบนั้น แล้วตกลงว่ามันดีไหม

แม้กระทั่งวันนี้น้องชายของ พล.อ.ประวิตรคือ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ถูก ป.ป.ช.สอบสวนว่า ร่ำรวยปกติ แต่ยังนั่งเป็นสนช.อยู่ แต่ตลกไหมครับตำแหน่งที่เล็กกว่านั้น คือ อบต. สจ. สท. ยังถูกคำสั่งพักงานเพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนเลย

คำถามว่ามาตรฐานของรัฐบาลที่ประกาศตัวว่าปราบโกงคืออะไร หรือความเข้มข้นในการปราบโกงนั้นเป็นเพียงวาทกรรมที่ทำให้ดูดีว่ารัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเท่านั้นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น