xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกโต9.9%ทุบสถิติสูงสุดในรอบ6ปี-ทบทวนขึ้นค่าแรงหวั่นSMEพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - "พาณิชย์" ปลื้มปี 60 มูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.36 แสนล้านเหรียญฯ โต 9.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี ได้ดุลการค้า 1.3 หมื่นล้านเหรียญฯ หลังเศรษฐกิจโลก-คู่ค้าฟื้น ดันส่งออกไปซีแอลเอ็มวี-อินเดีย มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน พร้อมคาด ปี 61 แนวโน้มดีต่อเนื่อง ประมาณการขยายตัวที่ 5-7% ด้าน "กกร." นัดแถลงข่าววันนี้ (23ม.ค.) แนะรัฐบาลทบทวนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาทต่อวัน หวั่นซ้ำเติมเอสเอ็มอี ปล่อยลอยตัวเป็นกลไกที่ดีสุด หากต้องขึ้นควรมีมาตรการดูแลเอสเอ็มอีเร่งด่วน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ว่า ในปี 60 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 236,694 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.9% จากปี 59 สูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 55 ที่ขยายตัวถึง 15.15% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 8.008 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.06% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 222,763.5 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 14.71% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 7.629 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.77% ส่งผลให้มีดุลการค้าเกินดุล 13,930.7 ล้านเหรียญฯ หรือ 378,476.6 ล้านบาท

ขณะที่เฉพาะเดือนธ.ค.60 การส่งออกมีมูลค่า 19,741 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 8.63% เมื่อเทียบกับ ธ.ค.59 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 642,582.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.36% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,019.2 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 16.60% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 659,753.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.67% ส่งผลให้มีดุลการค้าขาดดุล 278.1 ล้านเหรียญฯ หรือ 17,171.2 ล้านบาท

โดยสาเหตุที่ทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 60 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เกิดจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และอินเดีย มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 25,191 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 13.1% และมูลค่า 6,487 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 25.8% ตามลำดับ

“จากการที่เศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นมาก จนส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

***คาดการณ์ปี 61 ส่งออกขยายตัว 5-7%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 61 ว่า สนค.ได้ประมาณการการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไว้ที่ 5-7% เมื่อเทียบกับปี 60 ด้วยมูลค่า 248,529-253,263 ล้านเหรียญฯ โดยมีสมมติฐาน ค่าเงินบาท 32.0-34.0 บาท/เหรียญฯ ราคาน้ำมันดิบ 55-65 เหรียญฯ/บาร์เรล ราคาสินค้าสินค้าอุตสาหกรรม โต 3-5% และราคาส่งออกสินค้าเกษตร โต 1.0-3.0%

อย่างไรก็ตาม การขยายตัว 5-7% เป็นเพียงการประมาณการของสนค. กระทรวงพาณิชย์ จะประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการราวเดือนก.พ.นี้

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกปี 61 ยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีโอกาสผันผวน, นโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงอาจมีการใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น เป็นต้น

***“กกร."แถลงวันนี้ทบทวนค่าแรง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.จะชี้แจงผลกระกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ที่จะปรับขึ้น 5-22 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 61 เพราะมีแนวโน้มที่สูง ไม่สอดรับกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ และจะมีผลกระทบเป็นวงกว้าง หากเป็นไปได้จึงต้องการให้รัฐบาลได้ทบทวน

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. กล่าวว่า อัตราที่บอร์ดค่าจ้างประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 5-22 บาทต่อวันเป็นอัตราที่สูงเกินไปซึ่งไม่สอดรับกับอัตราที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาและพบบางจังหวัดมาจัดไว้ในกลุ่มเดียวกันโดยไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยข้อเท็จจริงจึงเห็นว่าค่าจ้างดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เป็นรายกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

***แนะหามาตรการดูแลเอสเอ็มอี

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานส.อ.ท.และประธานบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมอุตสาหกรรมการผลิต(SMI) กล่าวว่า ค่าแรงที่ปรับชึ้นล่าสุดค่อนข้างมีผลกระทบต่อเอสเอ็มอีพอสมควรเนื่องจากพบว่าบางจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเช่น จ.หนองคายปรับขึ้นเป็น 320 บาทต่อวัน เป็นต้นซึ่งไม่สอดรับกับข้อเท็จจริง ซึ่งเอกชนเองส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำควรกำหนดลอยตัวแต่กำหนดไว้ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่เหลือก็ให้ปรับขึ้นตามสภาพของจังหวัดนั้นๆ หากมีการแข่งขันสูงค่าแรงจะสูงขึ้นเองตามกลไกตลาด

" ส.อ.ท.ได้หารือกันในเรื่องดังกล่าวและจะนำเสนอต่อกกร.ที่จะแถลงในวันนี้(23 ม.ค.)เพื่อเรียกร้องรัฐบาลทบทวนให้เหมาะสมและควรมีมาตรการที่จะรองรับผลกระทบด้วยให้กับเอสเอ็มอีเพราะอดีตก็เห็นแล้วว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศที่ผ่านมามีผลกระทบแค่ไหน"นายศักดิ์ชัยกล่าว

แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าแรงที่ขึ้นครั้งนี้สูงเกินกว่าที่ประเมินไว้พอสมควรเพราะก่อนหน้าที่หารือค่าแรงจะขั้นราว 2-15 บาทต่อวัน สิ่งที่กังวลคือเอสเอ็มอีจะประสบภาวะต้นทุนสูงขึ้นทั้งค่าแรง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า เหล่านี้จะยิ่งซ้ำเติมจึงเห็นว่ารัฐต้องพิจารณาให้รอบคอบและมีมาตรการรองรับไว้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น