xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงคิว! สั่งเช็กชื่อ"นักเลือกตั้งท้องถิ่น" พ่วง"บัญชีเมีย"ฝ่ายการเมือง 8พัน อปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปลายปีที่แล้ว มีกระแสข่าวว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ได้ขอให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำบัญชีรายชื่อและคุณสมบัติ “ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น”หรือ รายชื่อผู้บริหารท้องถิ่นในปัจจุบัน แทนที่จะตรวจสอบเฉพาะเวลาเปิดรับสมัครเท่านั้น

รวมถึงกรณีผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกพักงาน ด้วยมาตรา 44 คำสั่งระงับการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือสั่งย้ายไปช่วยราชการ ที่ศาลากลางจังหวัด เพราะขณะนี้ก็ยังไม่มีการคืนตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดต้องรอให้ คสช.เป็น“ผู้คืนตำแหน่ง”

แม้นายวิษณุ จะออกมาปฏิเสธ แต่ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.)ได้มีหนังสือสั่งการให้จังหวัดดำเนินการเมื่อปลายปีที่แล้ว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.60

ต่อมา ปีนี้ 2561 กสถ. มีหนังสือ ฉบับที่ 2 ที่ มท 0809.3/ว 89 ถึงสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัด ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิก สภาท้องถิ่น จากระบบศูนย์ข้อมูลเลือกตั้งผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น และทะเบียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ วันที่ 31 ธ.ค.60

แต่ผลปรากฏว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ยังไม่บันทึกข้อมูลของผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ในกรณีที่ครบวาระ และยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะได้มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 25 ธ.ค.57
 
“แจ้งให้ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เร่งดำเนินการแจ้งให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บันทึกข้อมูลดังกล่าวให้ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยขอให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ติดตามการบันทึกข้อมูลจากระบบสารสนเทศการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย”

คำสั่งดังกล่าวได้ระบุถึง “วิธีการบันทึกข้อมูลผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น” โดย “กรณีตามคำสั่งหัวหน้า คลช.ที่ 1/2557 ให้บันทึกข้อมูล ดังนี้

“กรณีดำเนินการพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระ (วาระเดิม) โดยดำเนินการพ้นจากตำแหน่งตามลำดับ ดังนี้ ฝ่ายบริหาร ได้แก่ นายก รองนายก ที่ปรึกษา เลขานุการ , ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ เลขานุการสภา รองประธานสภา ประธานสภา และสมาชิกสภาท้องถิ่น

ให้บันทึกข้อมูล “วาระการดำรงตำแหน่ง”ที่เมนูระบบข้อมูลวาระ , ครั้งที่ , เขตเลือกตั้ง ดังนี้ เลือกระบบข้อมูลวาระ ,ครั้งที่ ,เขตเลือกตั้ง ,กรณีเพิ่มวาระการดำรงตำแหน่ง (ปี พ.ศ.... ) เช่น ครบวาระวันที่ 19 ต.ค.60 แล้วอยู่ดำรงตำแหน่งต่อ ก็ให้บันทึกข้อมูล ปี พ.ศ. 2560

ให้บันทึกเลือกประเภทการได้มาซึ่งตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น “ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557”,ให้บันทึกเพิ่มวันที่เริ่มต้นดำรงตำแหน่ง เช่น ครบวาระวันที่ 19 ต.ค.60 แล้วอยู่ดำรงตำแหน่งต่อ ก็ให้บันทึกข้อมูลต่อเป็นวันที่ 20 ต.ค.60

คำสั่งนี้ ยังให้มีการ“บันทึกข้อมูลประวัติผู้สมัคร”โดยระบุว่า เนื่องจากกรณีนี้เป็นการนำข้อมูลของผู้บริหารท้องถิ่น นายกฯ รองนายก เลขานุการนายก ที่ปรึกษานายก ประธานสภา รองประธานสภา เลขาสภา และสมาซิกสภาท้องถิ่น ที่หมดวาระ และยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ บันทึกเข้าไปในตำแหน่งเดิม ซึ่งมีข้อมูลในฐานอยู่แล้ว
 
สรุปก็คือ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลมาแต่เดิม แต่การบันทึกข้อมูลประวัติผู้สมัครในครั้งนี้ ก็ให้ดำเนินการบันทึกเป็นประวัติผู้สมัคร ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 ว่า ผู้บริหารท้องถิ่นคนนั้น ๆ เคยถูกสั่งพักงาน ด้วยมาตรา 44 คือ คำสั่งระงับการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ “เป็นประวัติ ติดตัวไปตลอดชีวิต เป็นบัญชี (แบล็กลิตส์)”ถือเป็นข้อมูลสำรวจเบื้องต้น ก่อนไปลงสมัครเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า บุคคลนี้หากยังเล่นการเมืองท้องถิ่นอยู่ ในอดีตไปทำอะไรมาบ้าง

คำสั่ง ว่าด้วยท้องถิ่นอีกฉบับ วันก่อน กสถ.ออกคำสั่ง ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังมีการออก“ระเบียบชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทย พ.ศ.2561 โดยขอขอความร่วมมือให้ ข้าราชการ/พนักงานท้องถิ่น จัดตั้งและสมัครเป็น สมาชิก‘ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยระดับจังหวัด....”

คำสั่งฉบับนี้ ต้องการเพียงเพื่อดำเนินกิจกรรม สาธารณประโยชน์ สาธารณกุศล และส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น เหมือนกับชมรมแม่บ้านหน่วยงานราชการอื่น ๆ เช่น แม่บ้านทหาร 3 เหล่าทัพ แม่บ้านตำรวจ แม่บ้านมหาดไทย ฯลฯ

เป้าหมาย คือ ภริยาข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างสังกัด สถ.จังหวัด ภริยาของผู้บริหาร ผู้ช่วยผู้บริหาร ที่ปรึกษา เลขานุการ สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างในสังกัดอปท. หรือข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง สังกัดสถ.จังหวัด ผู้บริหาร ผู้ช่วยผู้บริหาร ที่ปรึกษาเลขานุการ สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างสังกัดอปท. ที่เป็นสุภาพสตรี รวมทั้งประชาชน ที่สนใจทั่วไป เช่น ผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ ภายในเขตจังหวัด สมัครเป็นสมาชิกชมรมดังกล่าว

มีที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เช่น ภริยาปลัดกระทรวงมหาดไทย ภริยารองปลัดฯ ภริยาอธิบดี ภริยารองอธิบดี และ ผู้มีอุปการคุณ หรือทำประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น โดยผู้สมัครต้องเสียค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 100 บาท หรือค่าบำรุงตลอดชีพ 400 บาท ขณะที่ “ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด”ต้องจ่ายให้ “ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทย”ครั้งเดียว 1,000 บาท/ต่อจังหวัด (ชมรม)
 
สรุปคือ เป็นการหา“แนวร่วมสตรีท้องถิ่น”ระหว่าง ภริยาข้าราชการ กับภริยานักการเมืองท้องถิ่น จะเกี่ยวข้องกับการเช็กยอด“การเมืองท้องถิ่น”หรือไม่ “ไม่มีการระบุไว้”

ดังนั้น คำสั่งฉบับแรก หากเป็นไปตามข้อมูลของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 ที่จำนวนสมาชิก และผู้บริหารที่ครบวาระของ อปท. จะมีถึง 8,410 แห่ง จาก อปท.ทั้งหมด 7,852 แห่ง (บางแห่งมีวาระแตกต่างกัน) 

“อปท. ต้องแจ้งให้รัฐบาล และ คสช.รับทราบ และบรรจุลงในฐานข้อมูลทั้งหมด โดยเฉลี่ยแล้ว อปท.หนึ่ง ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จะมี “ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ”แยกกัน ประมาณ 10-30 คน โดยสรุป คสช. และรัฐบาล จะมีฐานข้อมูลว่าใครยังเล่นการเมืองอยู่ในมือ ประมาณ 190,000 คน

คำสั่งฉบับที่สอง แม้จะเป็นเพียงการหาแนวร่วมสตรีในท้องถิ่น แต่จากฐานข้อมูลเดิม ไม่มีใครรู้ว่า“สตรีในท้องถิ่น”ที่อยู่ข้างกายฝ่ายการเมือง (เชื่อว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย ในหลายๆเรื่อง) มีกี่คน มีใครบ้าง นอกจากคนในพื้นที่ ที่รู้ๆกัน เชื่อว่าจะมีถึง 100,000 คน เช่นกัน

คราวนี้จะได้รู้ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. 76 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,332 แห่ง และ องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) 2 แห่ง

คนสั่งการเขาจะได้รู้ว่า เมีย หรือภรรยาของนักการเมือง ที่ยังเล่นการเมืองอยู่ มีใครบ้าง เช่นเดียวกับ ฝ่ายการเมือง ก็จะได้รู้ว่า มีใครยังอยู่ในสนามการเมืองท้องถิ่นบ้าง นั่นเอง.




กำลังโหลดความคิดเห็น