xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ชี้โละเลือกไขว้ส.ว.ส่อขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกกมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวว่ามีความคืบหย้าไปพอสมควร โดยประเด็นที่มีสนช. ขอแปรญัตติ ส่วนใหญ่ได้แก่ มาตรา 11 เรื่องการแบ่งกลุ่มอาชีพของผู้สมัครส.ว. ที่เห็นว่า ควรปรับลดเหลือ 5-10 กลุ่มอาชีพ จากเดิมที่มี 20 กลุ่มอาชีพ และ มาตรา 40-42 เรื่องวิธีเลือกไขว้ในกลุ่มอาชีพของผู้สมัคร ส.ว. ที่มีผู้แปรญัตติหลายคน โดยเสนอให้ใช้วิธีเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มอาชีพ แทนวิธีการเลือกไขว้ ซึ่งกมธ.กำลังรับฟังเหตุผลเพื่อชั่งน้ำหนักอยู่ว่า จะมีการปรับเปลี่ยนที่มา ส.ว.เป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพหรือไม่ และยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ยืนตามหลักการที่ กรธ.เสนอมา ซึ่งในวันที่ 18 ม.ค.นี้ กมธ.จะหารือในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง คาดว่าในวันที่ 22 ม.ค.จะได้ข้อสรุป เพื่อส่งร่าง พ.ร.ป. บรรจุเข้าสู่วาระประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก กมธ.เปลี่ยนวิธีเลือกจากส.ว. จากเลือกไขว้ มาเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ จะไม่ขัดต่อรธน. หรือเจตนารมณ์ของกรธ. ที่ยืนยันมาตลอดให้ใช้วิธีเลือกไขว้ หรือไม่ พล.ร.อ.ธรารธ ตอบว่า ไม่ขัด เพราะมาตรา 107 ของรธน. ระบุชัดเจนถึงการเลือกส.ว.ให้ใช้วิธีเลือกกันเอง ไม่ได้บอกให้เลือกไขว้ ถ้ามีการแก้ไขวิธีการเลือกส.ว. ก็ไม่ถือเป็นการหักหน้า กรธ. เพราะเป็นการดำเนินการตามรธน. หากต้องเปลี่ยนวิธี มาเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ อาจจะต้องลดกลุ่มอาชีพให้เหลือไม่ถึง 20 กลุ่มอาชีพ โดยมีผู้เสนอแปรญัตติว่า อาจจะให้สมัครโดยอิสระ หรือสมัครโดยกลุ่มองค์กร เป็นผู้เสนอชื่อมา
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า การที่กมธ.ขอลดกลุ่มอาชีพส.ว. จาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 5–10 กลุ่มว่าจะทำให้เกิดการฮั้ว หรือการบล็อกโหวตได้ง่าย สาเหตุที่กรธ.บัญญัติให้มี 20 กลุ่มอาชีพ ก็เพื่อให้ส.ว.มีที่มาหลากหลาย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรธน. แต่หาก สนช.มีเหตุผล กรธ. ก็พร้อมยอมรับ แต่จะต้องเปิดช่องให้ทุกกลุ่มอาชีพ สามารถสมัครมาเป็นผู้แทนส.ว.ได้
ส่วนที่จะให้ผู้สมัครส.ว. เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ แทนการเลือกไขว้ระหว่างอาชีพ ตามที่กรธ.เสนอก็จะทำให้ง่ายต่อการทุจริต หรือเกิดการ บล็อกโหวตเช่นกัน เพราะผู้สมัครจะรู้ว่า ใครอยู่กลุ่มใด เพียงส่งคนของตนมาสมัครในกลุ่มอีก 100 คน ก็สามารถบล็อกให้โหวตให้ตนเองได้แล้ว ซึ่งหากยังมีช่องทางให้เกิดการทุจริตในการเลือกตั้งได้ ก็จะถือว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรธน. เนื่องจากรธน. ต้องการให้การจัดการเลือกตั้ง เป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น