xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หมกเม็ดร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่ใช่แค่ต่ออายุ-ติดหนวดดักฟัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู่จัดการสุดสัปดาห์ -อาจเรียกได้ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดฉบับหนึ่ง

นั่นเพราะร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือปราบโกงตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลับมีบุคคลที่น่าสงสัยมานั่งเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณา อาทิ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร ที่กำลังถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ คู่หูของ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่กำลังถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบเช่นเดียวกัน เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ปรากฏว่า มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เสนอมา ในหลายประเด็นสำคัญด้วยกัน

ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นการแก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 175 เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ทุกคนสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ 9 ปี หลังจากกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่บังคับใช้ เปลี่ยนแปลงไปจากร่างฯ ของ กรธ.ที่ให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไปได้เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น

รวมทั้งยังมีประเด็นการเพิ่มมาตรา 37/1 ให้ ป.ป.ช.สามารถดักเอาข้อมูลทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นได้ หากข้อมูลนั้นจะถูกใช้เพื่อการกระทำผิด ซึ่งมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในที่ประชุม สนช.วันที่ 21 และ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในส่วนของการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่างฯ เดิมของ กรธ. มาตรา 41 และ 42 เขียนไว้ว่า

“ให้กรรมการมีหน้าที่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้นำความในหมวด 5 การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน มาตรา 103 ถึงมาตรา 111 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอาจมอบหมายให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการเป็นการเบื้องต้นก่อนเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาก็ได้

ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จัดให้มีการตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา 33 มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในกรณีนี้ด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 42 ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการที่กรรมการ ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดาเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดารงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 77 และมาตรา 81 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม”

แต่เมื่อมาถึงชั้นกรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไขร่างมาตรา 41 และ 42 โดยให้กรรมการ ป.ป.ช.ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ “ประธานวุฒิสภา” แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และหากปรากฎว่ามีการจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ก็ให้“ประธานวุฒิสภา”ยื่นร้องต่ออัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดารงตำแหน่งทางการเมือง

ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า อำนาจในการตรวจสอบ ป.ป.ช.ถูกแก้ไขให้เปลี่ยนมือจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ มาเป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องไม่ลืมว่า วุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เอง

รวมทั้งร่างมาตรา 43 ร่างเดิมของ กรธ.เขียนไว้ว่า

“มาตรา 43 ในกรณีที่ปรากฏว่ากรรมการผู้ใดร่ารวยผิดปกติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินส่งสำนวนพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานไปยังประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป”

แต่เมื่อมาถึงชั้นกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขเป็น “ในกรณีที่ปรากฏว่ากรรมการผู้ใดร่ารวยผิดปกติให้ประธานวุฒิสภาส่งสำนวนพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานไปยังประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป”

อย่างไรก็ตาม มีบางมาตราที่ คณะกรรมาธิการฯ รับฟังเสียงสะท้อนนำมาปรับปรุงแก้ไขร่างของ กรธ. เช่น มาตรา 104 ที่ว่าด้วยการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

เดิมร่างของ กรธ.เขียนไว้ว่า “มาตรา 104 เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของทรัพย์สิน ของผู้ดำรงตาแหน่งตามมาตรา 100 (1) เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา และมาตรา 100 (2) และ (3) รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกาหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว ข้อมูลโดยสรุปดังกล่าวต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จาเป็นหรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด”

เมื่อมาถึงชั้นกรรมาธิการฯ ได้มีการตัดคำว่า “ข้อมูลโดยสรุป”ออก และใช้คำว่า “บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน”แทน แต่ก็ยังคงข้อความที่ว่า “ต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน” ซ้ำเติมคำว่า “และภาพถ่ายทรัพย์สิน”เข้าไปด้วย

ซึ่งก็เท่ากับว่า ยังมีการคงหลักการสำคัญของมาตรานี้เอาไว้ คือไม่เปิดเผยรายละเอียดของทรัพย์สิน เพียงแต่ตัดคำว่า “ข้อมูลโดยสรุป”ออกไป เพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นเอง

ขณะเดียวกันมีการเพิ่มมาตรา 132/1 ว่าด้วยการให้เงินรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต โดยนำเงินจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

มีการแก้ไขมาตรา 135 เดิม ให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “สานักงาน ป.ป.ช.” เป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีการตัดคำว่า “เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเท่ากับว่า สำนักงาน ป.ป.ช.จะไม่ใช่หน่วยงานอิสระ

นอจากนี้ ยังเพิ่ม มาตรา 149/1 ให้กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการไต่สวน พนักงานไต่สวนของ ป.ป.ช.สามารถพกอาวุธปืนเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้

จะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่ผ่านการแก้ไขของกรรมาธิการฯ แล้ว มีการเพิ่มอำนาจ เขี้ยวเล็บให้กรรมการ ป.ป.ช.พอสมควรทีเดียว แต่สิ่งที่อ่อนด้อยลงไป คืออำนาจจากองค์กรอิสระอื่น รวมถึงอำนาจของประชาชนที่จะตรวจสอบ ป.ป.ช.นั้น ถูกลดทอนลงไป

จึงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่จะเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต


กำลังโหลดความคิดเห็น