xs
xsm
sm
md
lg

ซัดสธ.บิดเบือนงานวิจัย"บุหรี่ไฟฟ้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า "กลุ่มลาขาดควันยาสูบ(ECST)"และเฟซบุ๊ก-"บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" กล่าวถึง กรณีที่ ผู้บริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุขไทย หลายราย ออกมาระบุถึงอันตรายและสารพิษจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่า ข้อมูลที่ออกมาค่อนข้างคลาดเคลื่อน และสวนทางกับผลวิจัยของต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ที่ย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โลหะหนัก จนถึงยาดองศพ และแนะเยาวชน และผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ไม่ควรลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า นั้น เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อ้างผลการตีความวิจัยแบบผิดๆ ตรงข้ามกับงานวิจัยในต่างประเทศ พยายามปิดโอกาสของผู้สูบบุหรี่ ที่จะได้เข้าถึงทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า
"ข้อมูลที่บอกว่า ในควันบุหรี่มีสารที่เกิดจากการเผาไหม้ เช่น สารโลหะหนักพวกโครเมี่ยม นิกเกิล และฟอร์มาลดีไฮด์ มากกว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้านั้น รายงานของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ปี 2558 ชี้แจงประเด็นฟอร์มาลดีไฮด์แล้วว่า เป็นการทดลองที่นำเอานิโคตินเหลวไปผ่านความร้อนสูง ซึ่งไม่เคยมีรายงานใดระบุว่า การใช้งานจริงของบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดความร้อนสูงขนาดนั้น เห็นได้ชัดว่า ภาครัฐมีความตั้งใจในการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับประชาชน เราถึงได้พยายามเรียกร้องให้มีการพูดคุยผลการศึกษาของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นกลาง"
ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อังกฤษ สหภาพยุโรป กว่า 27 ประเทศ นิวซีแลนด์ หรือ สหรัฐอเมริกา บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย และหลายประเทศสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือก ที่ช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ หากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายจริงอย่างที่กรมควบคุมโรคไทย กล่าวอ้าง เหตุใดบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสินค้าถูกกฎหมาย ทำไมรัฐบาลประเทศเหล่านั้น ถึงยินยอมให้คนในประเทศเขาใช้ได้ ถึงเวลาแล้วที่เราน่าจะเอาข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมด มาพูดคุยกันอย่างจริงจังซักที รัฐบาลจะได้มีแนวทางที่อยู่บนพื้นฐานของผลวิจัยวิทยาศาสตร์มาช่วยกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม
นายอาสา ศาลิคุปต์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าฯ กล่าวเสริมว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าฯได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงผลการวิจัย กับคณะอนุกมธ.พาณิชย์ฯ สนช. เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนประกาศกระทรวงพาณิชย์ ในการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเราได้ให้ข้อมูลพร้อมผลการวิจัยกับคณะอนุกมธ. ไปแล้วว่า สาธารณสุขอังกฤษ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ลอนดอน และสถาบันมะเร็งอังกฤษ ต่างยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษที่ออกมาน้อยกว่าบุหรี่มวนมาก และผลการวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า ไม่ได้เป็นตัวดึงดูดเด็กเยาวชนหรือผู้ไม่สูบบุหรี่ ทุกวันนี้แม้จะยังไม่มีข้อมูลผลกระทบระยะยาว แต่รัฐบาลหลายประเทศ ก็อนุญาตให้ใช้ โดยมีกฎหมายควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยป้องกันปัญหาการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน แถมยังช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศได้อีกด้วย ซึ่งท่าทีของที่ประชุมมีความเป็นกลาง และรับฟังข้อมูลความเห็นของผู้บริโภคเป็นอย่างดี และจะทำสรุปเพื่อพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น