xs
xsm
sm
md
lg

ร้องศาลฎีกาเคลียร์ปมเลือก2ว่าที่กกต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12ธ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือในนามส่วนตัวถึง นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ขอให้พิจารณาเรื่องการคัดเลือก ว่าที่ กกต.ในส่วนของตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งในวันที่ 17 พ.ย. 60 และ วันที่ 6 ธ.ค.60 ที่ประชุมได้ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการลงคะแนนลับ ขัดกับบทบัญญัติ มาตรา 12 วรรคสาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ที่ระบุว่า "ในการสรรหาหรือคัดเลือกให้ใช้วิธีลงคะนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย" ซึ่งตาม มาตรา 7 ประธาน กกต.ในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ ควรได้มีการทักท้วงไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อขอคำชี้แจง และหากเป็นจริงขอให้มีการนัดลงมติคัดเลือกใหม่ให้ถูกต้อง ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป ซึ่งประธาน กกต.จะต้องพิจารณาเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือไม่
นายสมชัย กล่าวว่า คาดว่าจะมีการนำเรื่องกระบวนการสรรหา เข้าสู่ที่ประชุม สนช.วันที่ 14 ธ.ค.นี้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่า ให้เป็นเรื่องของสนช. พิจารณา หากเห็นว่ากระบวนการคัดเลือกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อย่ารับรอง 2 รายชื่อดังกล่าว แต่ตนคิดว่า การคิดเช่นนั้นจะทำให้คนที่ผ่านการคัดเลือกเสียสิทธิ และเป็นการจำกัดสิทธิ ผู้ได้รับการคัดเลือก เพราะหาก สนช.ลงมติไม่รับรอง ก็ต้องส่งคืนกลับไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และชื่อที่ไม่ผ่านลงมติรับรอง จะไม่สามารถกลับเข้ามาสมัครใหม่ได้ จึงเห็นว่าควรจะมีการทบทวนในขั้นตอนการออกเสียงให้ถูกต้องตามกฎหมายไม่ให้เป็นที่ครหาจะดี
กว่า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ตามกฎหมายระบุให้เป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย ถ้าทางศาลเปิดเผยได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร ก็ไม่มีปัญหา เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากดำเนินการตามกฎหมาย ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งหลักของคำว่าเปิดเผย คือต้องทราบว่า ใครลงคะแนนให้ใคร ไม่ใช่เพียงแค่ว่า เดินไปหย่อนบัตรลงคะแนนแล้ว คือการลงคะแนนแบบเปิดเผย เพราะการลงคะแนนโดยวิธีหย่อนบัตรที่เราไปเลือกตั้ง รธน.ก็เขียนไว้ว่าเป็นการลงคะแนนลับ แต่ถ้าศาลบอกว่าเปิดเผยได้ เพราะบัตรบ่งบอกว่าผู้พิพากษาแต่ละท่าน ลงคะแนนให้ใคร แล้วเปิดเผยออกมา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เช่นเดียวกับการลงคะแนนในสภา ที่ใช้วิธีการกดปุ่ม ขณะนั้นก็ไม่ทราบว่าใครลงคะแนนให้ใคร แต่สามารถตรวจสอบได้ จากบันทึกการลงคะแนน จึงเรียกว่าเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย
อย่างไรก็ตาม ต้องดูกฎหมายให้รอบคอบ เพราะถ้ามีปัญหาว่าสรรหาไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นอุปสรรคต่อไปในวันข้างหน้า ผู้พิจารณาก็ต้องทำด้วยความถูกต้อง ถ้าจะต้องมีการลงคะแนนใหม่ ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอะไร
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการปรับฐานข้อมูลสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า มั่นใจว่าจะมีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันส่งให้กกต. ตามกรอบเวลา 90 วัน ตามที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนด ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 5 ม.ค.61 โดยเข้าใจว่านายทะเบียนพรรคการเมือง และหัวหน้าพรรคสามารถเซ็นได้ แต่ต้องดูถ้อยคำของกฎหมายอีกครั้ง ว่าต้องจัดประชุมใหญ่หรือไม่ หากมีปัญหาก็คงต้องขอขยายเวลาเพื่อรอการประชุม แต่ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขอขยายเวลา โดยพรรคได้เตรียมทุกอย่าง ทั้งเรื่องข้อมูลสมาชิกพรรค ข้อบังคับพรรค และการจัดประชุมใหญ่ เมื่อมีการปลดล็อก ก็สามารถเดินหน้าได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น