xs
xsm
sm
md
lg

โยนคสช.รับผิดชอบปัญหายื้อปลดล็อก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - "ชวน" เผยปชป.เลิกเรียกร้อง คสช.ปลดล็อกพรรคการเมือง เพราะกลัวคนจะรำคาญ แต่หากเกิดปัญหา รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ด้าน พท. ยัน คสช.ต้องรีบปลดล็อก เพราะเป็น คำสั่ง และประกาศ ที่ขัด รธน. หากยังยื้อก็จะเป็นการฟ้องว่า คสช. และนายกฯ วางแผนสืบทอดอำนาจ วิป เตรียมชง 7 ว่าที่ กกต. เข้าสู่การพิจารณษของ สนช.พฤหัสฯ นี้

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่รัฐบาลคสช. ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองว่า ผู้ใหญ่ในพรรคได้หารือกันแล้วว่าให้แจ้งสมาชิก ไม่ต้องเรียกร้องเรื่องนี้ เพราะชาวบ้านที่เบื่อเรื่องการเมืองจะรำคาญ เพราะรัฐบาลจะต้องพิจารณาเองว่าภายใต้เงื่อนเวลา มีอะไรต้องทำ เมื่อไร อย่างไร ดูให้เหมาะสม ซึ่งตามกฎหมายก็มีกรอบเวลาบังคับไว้แล้ว เช่น วันที่ 5 ม.ค.61 ก็ต้องแจ้งฐานสมาชิกพรรค ให้กกต.รับทราบ จึงต้องถามรัฐบาลว่า จะดำเนินการอย่างไร พรรคจะไม่เรียกร้องใดๆ แต่ถ้าเกิดปัญหา รัฐบาลก็อย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ

นายชวน กล่าวด้วยว่า ขอฝากไปถึงผู้ใหญ่ ที่ชอบพูดว่าประชาธิปไตยเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศว่า ในความเห็นส่วนตัว ระบอบประชาธิไตยไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แต่อุปสรรคที่แท้จริงคือ ตัวคน กฎหมายบ้านเมือง ก็ไม่ใช่อุปสรรค รธน.แต่ละฉบับมีจุดเด่น จุดด้อยของตัวเอง แต่โดยรวมแล้ว ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่เป็นสาระสำคัญ ขณะที่อุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ประชาธิปไตยสะดุด คือ คน ตัวบุคคลที่เข้ามาทำงานไม่มีความจริงใจ หรือรักประชาธิปไตยที่แท้จริง

** ซัด"คสช.-นายกฯ"วางแผนสืบทอดอำนาจ

ด้านพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงความกังวลถึงคำสั่ง คสช. ที่ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ขัดกับกฎหมายลูก ที่กำหนดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ภายในกรอบ 90 วัน และ 180 วัน มิฉะนั้นจะมีผลให้พรรคไม่ได้รับเงินสนับสนุน และไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งปีหน้า ขณะเดียวกันประชาชนก็จะไม่มีเวลาในการตัดสินใจ

ทั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทย ได้ประสานไปยังนายทะเบียนกลาง เพื่อทำเอกสารข้อมูลสมาชิกพรรค ตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงไปพบปะสมาชิก อีกทั้งเกรงว่าหากไม่สามารถตรวจสอบทะเบียนสมาชิกพรรคได้ทัน จะกระทบต่อการทำไพรมารี โหวต ด้วย

ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ควรจะถึงเวลาที่คสช. รัฐบาล เครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ต้องคิดว่าคำสั่ง หรือประกาศใดๆ ของคสช. ที่ขัดต่อรธน. ก็ควรพิจารณาทบทวน และยกเลิกไป ซึ่งรธน.ปัจจุบันก็ผ่านการทำประชามติ จึงถือว่าคนไทยทั้งประเทศผ่านความเห็นชอบ เมื่อเปรียบกับประกาศ หรือคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็นกระบวนการของคนเพียงคนเดียว ดังนั้น ก็ต้องทบทวนว่า คำสั่งนั้นเป็นการขัดรธน.หรือไม่ รวมถึงพรรคการเมือง และประชาชนด้วย

สำหรับกรณีที่ กกต.ชุดใหม่บางคน เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ จะห่วงเรื่องความเป็นกลางหรือไม่นั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ความสงสัยของประชาชน สามารถเกิดขึ้นได้ พรรคเพื่อไทย ในฐานะสถาบันทางการเมืองไม่ได้มองว่ากติกาเป็นอย่างไร หรือใครจะเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมดูแล แต่คิดว่าเวลานี้ ทุกฝ่ายควรให้กำลังใจกับทุกภาคส่วนที่จะเข้ามา ดังนั้นข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติ เพื่อนำไปสู่การร้องให้ตรวจสอบ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว อาจนำไปสู่การเชื่อมโยง ลากยาวออกไป กลายเป็นผลเสีย หรือผลกระทบต่อผู้ที่ร้อง ทั้งนี้ กกต. มีหน้าที่ในการทำงานด้วยความสุจริตยุติธรรม เมื่อวันนี้ยังไม่ได้ทำงาน ทุกคนควรให้โอกาส และผลงาน จะเป็นสิ่งการันตีว่าวิธีคิด และจุดยืน เป็นอย่างไร

** กกต.ต้องเป็นอิสระจากกลุ่มการเมือง

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า กรณีการสรรหา ว่าที่ กกต.ได้ครบ 7 คนแล้ว แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้ง ในส่วนของตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าอาจขัดกม.นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง ที่เป็นข้อยุติ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการสรรหาทั้งหมด เพราะต้องสรรหากันใหม่หมด และอาจทำให้กระบวนการสรรหา ล่าช้าออกไปไม่มีกำหนด

ในส่วน 5 คน ที่ได้รับเลือกจากกก.สรรหา นั้น ต้องยอมรับว่า เป็นคนหน้าใหม่หมด และไม่ได้มีประสบการณ์มาโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีเวลาพอที่จะศึกษา เรียนรู้กันได้ เรื่องประสบการณ์ไม่น่ากังวล ถ้าคุณสมบัติครบตามกฎหมาย และรธน. ก็ต้องยอมรับกัน ที่สำคัญในความเป็นองค์กรอิสระอย่าง กกต. ตั้งมาตั้งแต่รธน.40 มีประสบการณ์กว่า 20 ปีแล้ว คงแก้ปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้ได้

แต่ที่ห่วงคือ คุณสมบัติของว่าที่ กกต. แต่ละคนนั้น สนช. ต้องตรวจสอบเชิงลึกว่า ใครเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มอิทธิพลใดบ้าง เพราะจะทำให้ กกต.ขาดความเป็นอิสระ จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมได้

และที่เป็นห่วงมากกว่าคือ การดำเนินการตรวจสอบของ สนช. จะตรงไปตรงมา หรือลูบหน้าปะจมูกหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมต้องจับตา และจะเป็นบทพิสูจน์ สนช.ด้วยว่า น่าเชื่อถือพอที่จะสรรหาคนมานั่งในองค์กรอิสระทั้งหมดตามรธน.ฉบับใหม่ หรือไม่ แม้เราจะหวังความเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองจาก สนช.ชุดนี้ได้ไม่มากก็ตาม แต่ยังมั่นใจว่าใน สนช. หลายคน มีคุณภาพและจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาได้

** ชง 7 ว่าที่ กกต.เข้า สนช.พฤหัสนี้

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. เปิดเผยว่า สนช. จะนำรายชื่อว่าที่ กกต. ทั้ง 7 คน ตามที่คณะกรรมการสรรหา กกต. คัดเลือก 5 คน และ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกอีก 2 คนนั้น เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ในวันพฤหัสบดี ที่ 14 ธ.ค. นี้ เพื่อขอมติตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง โดยจะต้องจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอเข้าสู่ที่ประชุมภายในไม่เกิน 45 วัน นับตั้งแต่ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง เพื่อให้สมาชิก สนช. พิจารณา และลงมติรับรองหรือไม่รับรองว่าที่ กกต. ทั้ง 7 คนต่อไป และหากว่าที่ กกต. คนใดไม่ผ่านรับรองจาก สนช. เรื่องก็จะกลับไปที่คณะกรรมการสรรหา กกต. หรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อเริ่มต้นกระบวนการรับสมัครใหม่ ให้ครบตามจำนวน 7 คน โดยที่บุคคลที่ไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม สนช. จะหมดสิทธิ์เข้าสมัครรับการสรรหาอีก

ส่วนที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ระบุ 2 ว่าที่ กกต. ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อาจขัดมาตรา 12 วรรคสาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดให้ลงคะแนนเลือกโดยเปิดเผย แต่กลับเป็นการลงคะแนนลับนั้น สนช.ในฐานะผู้รับรอง ก็จะต้องตรวจ เพราะตามกฎหมายว่าด้วย กกต. บอกไว้ว่า ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ขั้นตอนระหว่างการคัดเลือกว่าที่ กกต. จากสายที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่น่าจะพลาด เพราะถือเป็นเรื่องทางกฏหมาย อีกทั้งศาลฎีกา มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะมีสมาชิก สนช. ลุกขึ้นอภิปรายในระหว่างการประชุมวาระดังกล่าว ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น