xs
xsm
sm
md
lg

อ้างงานด่วนเซ็นซ่อมอาณัติสัญญาณ "อาคม"สั่งตรวจล็อกสเป็กแอร์พอร์ตลิงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-บิ๊กแอร์พอร์ตลิงก์แจงจ้างบริษัทเดิม ซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ ไม่ผิดกฎหมายจัดซื้อ แถมเร่งเซ็นสัญญาระยะเวลา 2 ปี วงเงิน 142.5 ล้านแล้ว เมื่อ 30 พ.ย. ด้านคนในแอร์พอร์ตลิงก์เผยมีบริษัทตัวแทนซีเมนส์อีกราย แต่ไม่เชิญร่วมประมูล จึงไม่เข้าข่ายใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ด้าน "อาคม-ไพรินทร์" เพิ่งรู้ รับไปตรวจสอบข้อมูล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบถึงกรณีการดำเนินการจ้างเหมางานซ่อมบำรุงรักษาระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling System) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์อาจมีความเร่งรีบไม่เหมาะสมและดำเนินการล็อกสเป็กหรือไม่แล้ว ซึ่งนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแล บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จะไปตรวจสอบเรื่องนี้

ทั้งนี้ ระบบอาณัติสัญญาณของแอร์พอร์ตลิงก์ ยังเป็นระบบของซีเมนส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีแนวคิดที่จะเปลี่ยน เพื่อให้อาณัติสัญญาณ เป็นระบบเปิด ซึ่งได้ให้ดำเนินการศึกษาข้อดี ข้อเสียว่าจะเป็นระบบปิด หรือเป็นระบบเดิม ซึ่งมีตัวอย่าง รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณจากซีเมนส์ ไปเป็นบอมบาดิเอร์ ซึ่งพบว่า ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ดังนั้น ในแง่การให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ ยังไม่มีปัญหา ส่วนกรณีจ้างซ่อมบำรุง ระยะ 2 ปี จากที่ก่อนหน้านี้ ทำสัญญาจ้างแบบปีต่อปีนั้น ทางแอร์พอร์ตลิงก์ต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็น

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ระบุว่า ขอรับฟังข้อมูลทั้งหมดก่อน และจะเร่งไปดูปัญหาของแอร์พอร์ตลิงก์ทั้งหมด

ด้านนายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการและรักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ทำหนังสือชี้แจงนสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา มีใจความสรุปว่า การจ้างดังกล่าวเป็นการจ้างเหมาบริการทั้งระบบอาณัติสัญญาณ ทั้งผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ เพื่อให้ระบบรถไฟฟ้าสามารดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกี่ยวกับโครงการปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ วงเงิน 1,918 ล้านบาท ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีมติเห็นชอบ และการที่บอร์ด แอร์พอร์ตลิงก์ เห็นขอบให้ทำสัญญาจ้างซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ 2 ปี เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการเดินรถ และเป็นการจ้างรายเดิมที่เป็นตัวแทนโดยตรงจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด และต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และครอบคลุมระยะเวลาที่จะมีการดำเนินการปรับปรุงระบบบางส่วนที่หมดอายุการใช้งาน และไม่มีผลิตแล้ว ซึ่งผู้รับจ้างมีความเชี่ยวชาญในระบบโดยตรง สามารประเมินอะไหล่สำรองโดยผู้รับจ้างได้เหมาะสมกว่าจ้างปีต่อปี และยังเป็นการลดความแปรผันของราคาที่จะเกิดขึ้นในกรณีจ้างงานปีต่อปี

ทั้งนี้ ยืนยันว่า บริษัท เอส.ที.มาสเตอร์เทค จำกัด เป็นตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก บริษัทซีเมนส์ และมีคุณสมบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และไม่ได้เร่งดำเนินการ โดยกระบวนการเป็นไปตามวงรอบซ่อมบำรุง ที่จะหมดสัญญาลงในวันที่ 30 พ.ย. 2560 ใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่เสนอเรื่อง ร.ฟ.ท.จนถึงลงนามกว่า 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 28 ก.ย.2560 และบอร์ดร.ฟ.ท.เห็นขอบให้ แอร์พอร์ตลิงก์ ดำเนินการจ้างแทน ร.ฟ.ท. วันที่ 4 ต.ค.2560 และบอร์ด แอร์พอร์ตลิงก์เห็นชอบวงเงินจ้าง ไม่เกิน 137,164,224.48 บาท และได้ลงนามสัญญาเมื่อ 30 พ.ย.2560 และสัญญาเริ่มในวันที่ 1 ธ.ค.2560 ส่วนค่าจ้างจะจ่าย24 งวดๆ ละเท่าๆ กัน ไม่มีการจ่ายล่วงหน้า 15% ของมูลค่าสัญญาแต่อย่างใด

แหล่งข่าวจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวว่า การเลือกจ้างรายเดิมโดยไม่เปิดประมูล อาจเข้าข่ายทำสัญญาต่อเนื่อง (Repeat Order) หรือไม่ ขณะที่เลือกใช้วิธีเฉพาะเจาะจงตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ปี 2560 ซึ่งจะต้องเริ่มจากกระบวนการแรกก่อน คือเปิดประมูล และเมื่อเทียบจากสัญญาซ่อมบำรุงเดิมเมื่อปี 2560 ที่แอร์พอร์ตลิงก์ ได้เปิดประมูลวิธีพิเศษ ระยะสัญญา 1 ปี โดยปฏิบัติ ตามพ.ร.บ.จัดซื้อฯ ฉบับเก่า มีการเรียกตัวแทนของซีเมนส์มายื่นเสนอราคา ซึ่งขณะนั้นได้เชิญ 3 ราย คือ ซีเมนส์ เจ้าของระบบ อีก 2 บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซีเมนส์ คือ บริษัท เอส.ที.มาสเตอร์เทค จำกัด และ บริษัท พีซีเอ็ม ทรานสปอร์ต แอนด์ อินดัสเตรียล ซัพพลายส์ จำกัด

ขณะที่ล่าสุดกำหนด TOR ข้อ ฒ. มีเงื่อนไขให้ผู้รับจ้างต้องเปลี่ยนอะไหล่อุปกรณ์ประกอบวัสดุสิ้นเปลืองให้ตรงกับยี่ห้อ รุ่น ขนาดและมีคุณสมบัติเดิมตามที่ติดตั้งไว้ โดยเพิ่มเติมว่า "ในกรณีอุปกรณ์ประกอบวัสดุสิ้นเปลืองเลิกผลิต ไม่สามารถหาซื้อได้ ให้ผู้รับจ้างหาอะไหล่ อุปกรณ์ประกอบวัสดุสิ้นเปลือง ที่มีสามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์เดิมได้" ดังนั้น นอกจากไม่ตรงตามพ.ร.บ.จัดซื้อฯแล้ว การไม่เชิญบริษัทที่เป็นตัวแทนซีเมนส์เข้าร่วม เป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง และโปร่งใสหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น