xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส. คงต่างเขตต่างเบอร์ เพิ่มดาบ “โหวตโน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อย สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ร่าง พ.ร.ป.นี้ถือเป็นกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งซึ่งจะต้องจัดทำให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยจะมีขึ้นไม่ได้

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาทั้งสิ้น 178 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล สาระสำคัญตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์ ที่อ้างว่า เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

นายมีชัยบอกว่า กรธ.ได้บัญญัติหลักการสำคัญหลายประการเข้าไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เช่น การกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ซ้ำกัน

สาเหตุที่กำหนดไว้เช่นนี้ ก็เนื่องด้วยกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงที่มีความสำคัญและผู้เลือกตั้งต้องดูทั้งพรรคและบุคคล เราจึงคิดว่าการที่จะเอาความสะดวกสบายให้แต่ละพรรคมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ จะทำให้ขาดตกบกพร่องในการพิจารณาตัวบุคคลที่จะส่งลงสมัครในแต่ละเขต กรธ.จึงกำหนดให้แต่ละเขตมีเบอร์ของตัวเอง

นายมีชัยอ้างว่า หลักการนี้ฟังดูเหมือนกับว่าเรากำลังจะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็ทำอย่างนี้ และในต่างประเทศก็มีน้อยมากที่พรรคการเมืองใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศ บางประเทศไม่มีเบอร์ด้วยซ้ำ ให้เขียนชื่อเอาเอง จึงไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากชาวบ้านชาวเมืองเท่าไหร่ ข้อสำคัญคือจะทำให้พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่คนในพื้นที่รับรู้และพอใจ

ที่สำคัญกติกาการเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการออกเสียงมากขึ้น คือ การให้ประชาชนสามารถลงคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใด ซึ่งแต่เดิมไม่เคยนำเอาคะแนนส่วนนี้มานับ แต่คราวนี้กำหนดให้นำคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใดมานับ แล้วประกาศให้ประชาชนทราบ

ถ้าในเขตเลือกตั้งใดผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีใครได้คะแนนเกินกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง และจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งแทนคราวนั้น ต้องกลับไปสร้างคุณงามความดีกันใหม่อีก 4 ปีค่อยกลับมาสมัครใหม่

ร่าง พ.ร.ป.ยังนำบทเรียนจากกรณีการขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 มาเขียนไว้เป็นทางออกหากเกิดกรณีซ้ำอีก โดยในมาตรา 15 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้

“มาตรา ๑๕ กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถ จัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตาม มาตรา ๑๒ (๑) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๑๐๓ และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามว่าการดำเนินการเลือกตั้งต่อไปตามกำหนดวันเดิมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลง

ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการนับอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและอายุของผู้สมัคร ให้นับถึงวันเลือกตั้งที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๒ (๑)”

อีกหลักการสำคัญที่มีการบัญญัติไว้ ก็คือมาตรา 75 ที่ห้ามมีการซื้อเสียงหรือจูงใจการลงคะแนนไม่ว่าวิธีการใดๆ

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่อ้างว่าเป็นการปฏิรูประบบการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหญ่ ลดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ช่วยให้พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.พ้นจากอิทธิพลพลของนายทุนพรรคการเมือง เพราะไม่ต้องขอเงินจากนายทุนพรรคมาใช้จ่ายโฆษณาหาเสียงเป็นจำนวนมากเพื่อเสนอตัวให้ประชาชนตัดสิน โดย กรธ.กำหนดในร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้หลายมาตรา เช่น มาตรา 81 ให้จำกัดควบคุมจำนวน ผู้ช่วยหาเสียง หรือหัวคะแนน

“มาตรา 81 เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะกรรมการกำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะมีผู้ช่วยหาเสียงก็ได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด และต้องแจ้งให้สำนักงานทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่ และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง ทั้งนี้ ตามรายการและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”

มาตรา 82 ให้ กกต.สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมือง

“มาตรา 82 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ในการนี้ คณะกรรมการจะขอให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้”

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 84 ที่ระบุว่า “ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องมีขนาดและจำนวนไม่เกิน ที่คณะกรรมการกำหนด โดยการกำหนดดังกล่าวให้หารือกับพรรคการเมืองด้วย”

การที่ กกต.ควบคุมจำกัดป้ายโฆษณาหาเสียงทั้งจำนวน ขนาด สถานที่ติดป้ายดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิรูประบบ ลดภาระค่าใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งและนำไปสู่การปฎิรูปการเมืองในที่สุด

ในที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.ป.นี้ แต่ได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงถ้อยคำในร่างกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริต

โดยนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิก สนช.ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.ป.นี้ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาภาพรวมของร่างฯ แล้วได้มีข้อสังเกต เช่น กรณีมาตรา 15 ของร่างฯ ที่ให้ กกต.สามารถมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้หากมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จนเป็นเหตุไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่าควรมีมาตรการในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของ กกต.เกี่ยวกับการกำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องกำหนดนิยามที่ชัดเจนว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้มีขอบเขตอย่างไรบ้าง

หรือมาตรา 75 ที่กำหนดห้ามเกี่ยวกับการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าควรกำหนดความผิดให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องด้วย รวมไปถึงควรเอาผิดต่อ ส.ส.หรือ  ส.ว.ที่ใช้งบประมาณของประเทศเพื่อจูงใจให้ประชาชนเลือกตนเองในครั้งต่อไปด้วย

ขณะที่นายมีชัยชี้แจงว่า ในภาพรวมของร่างฯ ที่ สนช.พิจารณาส่วนใหญ่ กรธ.ได้แก้ไขตามข้อเสนอของ สนช.มาก่อนแล้ว เช่น มาตรา 75 มีการปรับปรุงถ้อยคำให้รวมไปถึงบุคคลอื่นที่กระทำความผิดด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้สมัครแต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนมาตรา 15 นั้นในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นของ กรธ.ก็ได้เล็งเห็นถึงการกำหนดนิยามเช่นกัน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดนิยามลงไปว่าจะให้คำว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จะให้ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง เพราะเหตุจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากมีประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำให้มีความชัดเจนก็สามารถดำเนินการในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ต่อไป

หลังจากอภิปรายกันพอหอมปากหอมคอ ที่ประชุม สนช.ได้มีมติเอกฉันท์รับหลักการ ด้วยคะแนน 189 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 33 คน กำหนดเวลาในการพิจารณาให้เสร็จภายใน 58 วัน




กำลังโหลดความคิดเห็น