xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนใช้กับด้านแรงงานต่างด้าว

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์

ผศ.ดร.รัฐกร พูลทรัพย์
ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


ปัญหาการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทยมีความซับซ้อนและขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลแบบบูรณาการที่รวมข้อมูลเกี่ยวกับคนเข้าเมือง ข้อมูลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และข้อมูลระบบทะเบียนของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสถานะของแรงงานต่างด้าว ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของภาครัฐและภาคเอกชน การลักลอบนำคนเข้าเมือง การเอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิดกฎหมาย และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวด้วยการรีดไถเงินจากภาคส่วนต่าง ๆ และจากสังคม อันเป็นปัญหาซึ่งยากต่อการแก้ไข ดังนั้นภาครัฐควรจะเร่งแก้ไขปัญหา และมีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจนต่อแรงงานต่างด้าว [1]
รูปที่ 1 : การไม่บูรณาการข้อมูลของภาครัฐและกระบวนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีความซับซ้อน
นอกจากนี้กระบวนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศ มีขั้นตอนต่าง ๆ จำนวนมากซึ่งเป็นภาระต่อผู้ประกอบการและมีความยุ่งยากซับซ้อนเกินความจำเป็น สาเหตุหนึ่งก็มาจากขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทำให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวจะต้องเผชิญกับความลำบากและเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน จากรูปที่ 1 จะพบว่าขั้นตอนในการจ้างแรงงานต่างด้าวมีความซับซ้อนทั้งผู้ว่าจ้างหรือ ผู้ประกอบการจะต้องติดต่อไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และต้องจัดเตรียมเอกสารให้ครบทุกขั้นตอน อีกทั้งการดำเนินการใช้ระยะเวลา รวมถึงแต่ละหน่วยงานก็มีการจัดเก็บข้อมูลที่แยกจากกัน ทำให้ต้องส่งข้อมูลเป็นเอกสารกันไปมาและเกิดงานซ้ำซ้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองทั้งต้นทุนและแรงงาน รวมทั้งการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวจากพนักงานภาครัฐก็ทำได้ยากเพราะอ้างอิงได้แค่ตัวเอกสาร ซึ่งอาจจะมีการปลอมแปลงเอกสารได้ รวมถึงการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวจากพนักงานภาครัฐก็ไม่มีบันทึกประวัติการตรวจสอบไว้ ทำให้เปิดโอกาสในการข่มขู่หรือรีดไถกับแรงงานต่างด้าวได้

หนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เหมาะสม และสามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้อย่างครบถ้วน เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน ลดภาระของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อำนวยความสะดวกต่อผู้ว่าจ้าง ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าว รวมถึงบริการที่รวดเร็ว ป้องกันการทุจริตและการเอื้อประโยชน์ต่อการปลอมแปลงเอกสาร และมีระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพแบบออนไลน์ ที่สามารถบันทึกประวัติได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศรุดหน้าอย่างรวดเร็วโดยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักในการทำงาน มาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูง และมีแพลตฟอร์มกลางเพื่อสร้างการแบ่งปัน อันจะส่งผลให้ภาครัฐ ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุน ใช้แรงงานน้อยในการดำเนินงาน และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้รวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถให้บริการได้พร้อมกันในปริมาณมาก ในการปฏิรูปภาครัฐยุคดิจิทัลจึงสมควรใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายต่อความสามารถในการบริหารงานของภาครัฐยุคปัจจุบันว่าจะทำได้สำเร็จหรือเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไปไม่รู้จบ

เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำพาภาครัฐไปสู่ยุคดิจิทัลได้สำเร็จ เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเครื่องมือหลักที่เข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมากมายในหลากหลายมิติ ที่ซึ่งภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ในปัจจุบัน เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำมาใช้ในการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ ทำให้ภาครัฐลดขั้นตอนในการดำเนินงาน ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุน ใช้แรงงานน้อย อีกทั้งยังเอื้ออำนวยให้ภาครัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

เทคโนโลยีบล็อกเชนคืออะไร เทคโนโลยีบล็อกเชน คือ ฐานข้อมูลชนิดหนึ่งที่เอาไว้เก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งมีการจัดเก็บสำเนาแบบกระจายไว้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทุก ๆ หน่วยงาน โดยจะมีกลไกอัตโนมัติในการแก้ไขข้อมูลและยืนยันความถูกต้องกับทุก ๆ ฐานข้อมูลที่กระจายอยู่ ในทางปฏิบัติผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนทำงานอย่างไร เพราะกลไกดังกล่าวนี้มีความซับซ้อนมาก แค่รู้ว่ามัน คือ ฐานข้อมูลชนิดหนึ่งที่เราสามารถไว้ใช้จัดเก็บข้อมูลที่ต้องการใช้ร่วมกัน เพื่อบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ โดยผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลทุกหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลบล็อกเชนนี้ไว้ เมื่อมีการแก้ไขข้อมูล มันก็จะปรับข้อมูลในบล็อกเชนไปด้วยพร้อม ๆ กันทุกหน่วยงาน และมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่จัดเก็บไว้จะถูกต้องเสมอ เชื่อถือได้แน่นอน มีมาตรการควบคุมความมั่นคงที่เชื่อถือได้ ป้องกันการโกง และการปลอมแปลงได้ทุกชนิด ซึ่งนับเป็นข้อดีของฐานข้อมูลแบบบล็อกเชน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานกลางมาดำเนินการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการใช้ร่วม

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยสามารถทำได้ในหลากหลายด้าน โดยเราจะเริ่มเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าวตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนถึงจบกระบวนการ ครอบคลุมวงจรการจ้างแรงงานต่างด้าวได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่การร่วมมือระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ให้มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการแบ่งปันข้อมูลที่ต้องการใช้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ (เฉพาะในส่วนที่มีสิทธิ์ในการเข้าถึง) ทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และสามารถยืนยันความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ เพื่อป้องกันการปลอมแปลง และในที่สุดก็สามารถลดขั้นตอนในการทำงานได้ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเริ่มขอโควต้าแรงงานต่างด้าวจนถึงการตรวจสอบแรงงานต่างด้าว
รูปที่ 2 : การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
ในบทความนี้จะขออธิบายการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนในรูปแบบง่าย ๆ รวมทั้งยกตัวอย่างเฉพาะกรณีเท่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจพื้นฐานก่อน สำหรับการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ซับซ้อน แม้จะไม่ได้กล่าวถึงเพราะยากต่อความเข้าใจ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน แต่เทคโนโลยีบล็อกเชนก็สามารถทำได้เช่นกัน

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวขั้นพื้นฐานของไทยสามารถทำได้ดังรูปที่ 3 โดยจะเริ่มตั้งแต่เมื่อแรงงานต่างด้าวกับผู้ว่าจ้างตกลงที่จะจ้างงานกัน โดยที่แต่ละฝ่ายต้องไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานพิสูจน์สัญชาติและหน่วยงานทำเอกสารหนังสือเดินทางของประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน โรงพยาบาล หน่วยงานประกัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รูปที่ 3 : แรงงานต่างด้าวกับผู้ว่าจ้างตกลงที่จะจ้างงานกันโดยจะต้องผ่านเข้าไปในกระบวนการขออนุมัติของภาครัฐ
กระบวนการนี้จะเริ่มตั้งแต่การร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการการพิสูจน์สัญชาติและการทำเอกสารหนังสือเดินทางให้แรงงานต่างด้าวโดยให้บันทึกไว้ในบล็อกเชนและเมื่อหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยจะทำการออกเอกสารวีซ่าทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวก็สามารถที่จะเรียกดูข้อมูลโดยตรงได้จากฐานข้อมูลบล็อกเชนระหว่างประเทศที่สร้างไว้ได้ และเมื่อทำการอนุมัติวีซ่าแล้วก็สามารถจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลอีกบล็อกเชนได้เช่นกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการยื่นขอโควต้าแรงงานต่างด้าวและระบุตัวตนของบุคคลที่ต้องการว่าจ้าง แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการอนุมัติแล้วก็สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลจากข้อมูลทางบล็อกเชนได้ทันที ทั้งนี้ภาครัฐจะมีเว็บ หรือโมบายแอพพลิเคชั่นให้กับผู้ประกอบการเพื่อทำการสมัครแบบออนไลน์และอ้างอิงข้อมูลบุคคลแรงงานต่างด้าวดังกล่าวในฐานข้อมูลบล็อกเชนได้อย่างสะดวก จากนั้นเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานก็สามารถที่จะเข้ามาทำการดูข้อมูลเพื่อที่จะอนุมัติการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสมกับคุณสมบัติการว่าจ้างและคุณสมบัติของบุคคลที่ลงทะเบียนในฐานข้อมูลบล็อกเชนได้ ดังที่อธิบายไว้ในรูปที่ 4
รูปที่ 4 : การบันทึกข้อมูลคำขอและจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวด้วยบล็อกเชน
เมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำงาน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะมีเว็บหรือโมบายแอพพลิเคชั่นเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันได้ว่าได้รับอนุมัติจริง โดยแรงงานต่างด้าวไม่สามารถทำเอกสารปลอมแปลงใดๆ ได้ทั้งสิ้น (ซึ่งจะช่วยป้องกันการลักลอบนำคนเข้าเมือง การเอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิดกฎหมาย) รวมถึงเมื่อแรงงานต่างด้าวได้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว จะเข้ามาติดต่อกับหน่วยงานใด หน่วยงานงานนั้น ๆ ก็สามารถที่จะเรียกดูข้อมูลจากบล็อกเชนเข้ามาได้ทันทีเพื่อตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของเอกสาร ตัวอย่างเช่น หากแรงงานต่างด้าวไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกาย ทางโรงพยาบาลก็สามารถเรียกดูข้อมูลประวัติได้ทั้งหมด เช่น ใบอนุญาตทำงาน การอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร ข้อมูลนายจ้าง/สถานประกอบการ เอกสารหนังสือเดินทาง เป็นต้น เมื่อโรงพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ให้กับแรงงานต่างด้าวก็จะบันทึกข้อมูลลงในบล็อกเชนเช่นกัน หน่วยงานอื่นๆ ที่มีสิทธิ์ก็สามารถจะเรียกดูข้อมูลใบรับรองแพทย์ได้ทันที่ ตามอธิบายในรูปที่ 5
รูปที่ 5 : โรงพยาบาลสามารถเรียกดูข้อมูลประวัติการขออนุญาตของแรงงานต่างด้าวและออกใบรับรองแพทย์บนบล็อกเชน
การอธิบายข้างต้นนี้เป็นแค่ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบง่ายที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีความสลับซับซ้อนอย่างเช่น ตัวอย่าง ของงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศแล้วจะทำยังไง แรงงานต่างด้าวที่ต้องการย้ายนายจ้างจะดำเนินการอย่างไร แรงงานต่างด้าวที่มีการย้ายถิ่นฐานจะทราบได้อย่างไร ทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เช่นกัน

สังเกตได้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถที่จะจัดเก็บข้อมูลที่เชื่อมโยงกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐและต่างประเทศ แล้วก็มีเว็บหรือโมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ว่าจ้าง ผู้ประกอบการ แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าวเองที่จะตรวจสอบสถานะข้อมูลต่าง ๆ ของตนเองได้ด้วยตนเอง ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการของภาครัฐ ก็คือ ขั้นตอนในการลดเอกสารจำนวนมากที่ต้องประสานกันระหว่างหน่วยงานและเอกสารที่สร้างมานั้นไม่มีผู้ใดสามารถที่จะปลอมแปลงได้ อีกประการหนึ่งการลักลอบเข้าประเทศก็จะยากขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือกลุ่มมิจฉาชีพไม่สามารถจะทำเอกสารปลอมแปลงให้กับบุคคลต่าง ๆ หรือแรงงานต่างด้าวได้ การทุจริตก็จะทำได้ยากขึ้นและลดน้อยลงตามลำดับ
รูปที่ 6 :  การตรวจสอบข้อมูลแรงงานต่างด้าวจากบล็อกเชนด้วยโมบายแอพพลิเคชั่น
โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ทำหน้าตรวจสอบแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีโมบายแอพพลิเคชั่นที่ทำหน้าที่อ่านบัตรประจำตัวและตรวจสอบข้อมูลจากบล็อกเชนได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มทำเรื่องขอนุญาตข้อมูลนายจ้าง สถานประกอบการ ประวัติการเข้าออกประเทศ ประวัติการตรวจสุขภาพ วันหมดอายุ ประวัติการการทำงาน การย้ายสถานที่ การเปลี่ยนผู้ว่าจ้าง พฤติกรรมการทำงาน พฤติกรรมการอยู่ร่วมกับสังคมต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน เพียงขั้นตอนเดียวดังรูปที่ 6 และในรูปที่ 7 ก็ได้แสดงตัวอย่างจอภาพการแสดงผลหลังจากอ่านบัตรแรงงานต่างด้าว
รูปที่ 7 :  ตัวอย่างจอภาพจากโมบายแอพพลิเคชั่นในการตรวจสอบจากบัตรประจำตัวของแรงงานต่างด้าว
สิ่งสำคัญที่สุดที่บทความนี้จะสื่อให้เห็นภาพก็คือ เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐทำการตรวจสอบแรงงานต่างด้าว ระบบจะมีการบันทึกหลักฐานการตรวจสอบและจะทำให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐดังกล่าวนั้นตรวจสอบใครบ้าง ที่ไหน เวลาใด ดังนั้นการย้ายถิ่นฐานของแรงงานต่างด้าวจึงง่ายต่อการตรวจสอบและติดตาม การบันทึกประวัติการตรวจสอบจากพนักงานภาครัฐก็สามารถเนินการได้ง่าย ประวัติดังกล่าวจะถูกจัดเก็บเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวนต่อการกระทำที่ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พนักงานภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเจ้าพนักงานภาครัฐไปตรวจสอบใครมาบ้าง สถานที่ตรวจสอบอยู่จุดไหน และสามารถที่จะมีหน่วยงานไปสุ่มสอบถามความเห็นแรงงานต่างด้าวเพื่อให้มีการประเมินการให้บริการของพนักงานภาครัฐได้อีกด้วย

บทสรุปของการเจาะลึกการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวก็คือ สามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนดังกล่าวในการลดขั้นตอนการดำเนินงานของภาครัฐ อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าวในการจดทะเบียนและข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมดของทุกหน่วยงาน ภาครัฐ ต่างประเทศ และเอกชน สามารถที่จะบูรณาการได้ทั้งหมด รวมถึงสามารถตรวจสอบ ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย การกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
[1] ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุภางค์ จันทวานิช, ยกเครื่องนโยบายและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2560, ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาฯ

กำลังโหลดความคิดเห็น