xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองสุมหัว จับมือตั้งรัฐบาล ลั่น"เซตซีโร"คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วงเสวนา "ปรองดองแบบคสช. เมื่อไหร่จะเจออุโมงค์" ชี้ คสช. ยังไม่ได้ทำเรื่องปรองดอง "อดุลย์" ผิดหวัง นายกฯไม่ถอยกลับบ้าน สะท้อนไม่เคยคิดสร้างปรองดอง "จาตุรนต์" ติง นายกฯเจ้าพ่อ"เฮทสปีช" ระบุ ถ้าสองพรรคใหญ่จับมือตั้งรัฐบาลได้ แต่เกิดยาก-ไม่ราบรื่น เหตุมียุทธศาสตร์ชาติ ค้ำคอ ถูกไล่ได้ทุกเมื่อ "นิพิฏฐ์" เสนอ"เซตซีโร ระบบคสช." ทุกพรรคจับมือกันตั้งรัฐบาล ดัดหลังรธน.ไม่เป็นธรรม ส่วน"ณัฐวุฒิ" เสนอโละรธน. ให้ประชาชนเลือกส.ส.ร. ยกร่างใหม่

วานนี้ (26พ.ย.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาชนจัดเสวนาหัวข้อ "ปรองดอง แบบ คสช. เมื่อไรจะเจออุโมงค์ " มีวิทยากร ประกอบด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวแทนกลุ่ม นปช. เห็นตรงกันว่า 3 ปีกว่าของคสช. ยังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความปรองดอง

ทั้งนี้ นายอดุลย์ ได้แสดงความเสียใจที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่รับข้อเสนอของ คณะกรรมการศึกษาเรื่องปรองดองชุดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งตนร่วมเป็นกรรมการด้วย ที่ให้อัยการสามารถพิจารณายุติคดีที่จะสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ และหลายข้อเสนอที่ส่งไป กลายเป็นอุโมงค์ที่ คสช.หาไม่เจอ หาก คสช.เต็มใจที่จะสร้างความปรองดอง ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ เมื่อนายกฯ ตั้งคำถาม 6 ข้อ ทำให้กลายเป็นคนที่เข้ามาร่วมชกมวยด้วย จึงรู้สึกผิดหวัง เพราะนายกฯ ควรถอยกลับบ้าน แสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่มีความตั้งใจที่จะทำเรื่องปรองดองเลย และ อยากเตือนคสช.ว่า 3 ปีกว่า ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมือง รวมทั้งประชาชนยอมสงบนิ่ง ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับแนวทางที่ คสช.ทำ ไม่ต้องสร้างความปั่นป่วน เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง

ส่วนนายจาตุรนต์ เห็นว่า การที่รัฐบาลเชิญฝ่ายต่างๆ ไปหารือ โดยอ้างเรื่องการสร้างความปรองดองนั้น ความจริงเชิญไปเพื่อปิดปาก ไม่ให้วิจารณ์ คสช. โดยไม่เคยแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลถึงต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง ในขณะที่ 3 ปีกว่า ที่ผ่านมาคสช. ซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการมาตั้งแต่ต้น ยังสะสมเงื่อนไขความวุ่นวายมากขึ้น เพราะต้องการบริหารประเทศยาวนาน และมีการใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 ในเรื่องสำคัญ ที่กระทบประชาชน และสิ่งแวดล้อม กดคนเห็นต่างไว้ จะทำให้เกิดปัญหากลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งนายกรัฐมนตรี ยังเป็นผู้ใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง ด้วยการใช้ถ้อยคำเหยียดหยามผู้อื่นเป็นประจำ และเห็นว่า ยังมีการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญคือ เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมในหลายเรื่อง เช่น หลังเลือกตั้งอาจได้รัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือก แต่ถ้าสองพรรคใหญ่จับมือกัน มีโอกาสตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็อาจอยู่อย่างไม่ราบรื่น เพราะมีเงื่อนไขเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่ทำ ก็อาจถูกถอดถอน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปิดโอกาสการร่วมมือระหว่าง 2 พรรคใหญ่ หากไม่ต้องการให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อไปสิบปี หรือยี่สิบปี

ด้านนายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า คสช. อ้างความขัดแย้งมาเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจ จึงควรเร่งสร้างความปรองดองตั้งแต่วินาทีแรก แต่ คสช.กลับมาทำในช่วงสุดท้าย ทำให้สังคมไทยอยู่ในอุโมงค์ ที่ไม่เห็นแสงสว่าง และเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้คสช. เป็นผู้นำทางไปสู่แสงสว่าง สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่รัฐบาลกลับพยายามอยู่ให้นานที่สุด โดยไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่กลับเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์อยู่ และเปลี่ยนสภาพจากกรรมการมาไล่นักมวยลงจากเวที แล้วเอาถ้วยรางวัลมาเป็นของตัวเอง ทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นยาก อีกทั้งเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เอื้อต่อความปรองดอง เพราะไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ หาก ส.ว. 250 คน ไม่เอาด้วย เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ คสช.ก็อาจใช้เป็นเหตุผลอยู่ต่อ จึงอาจเกิดสภาพที่นักมวยหันมาจับมือกันไล่ถลุงกรรมการ เพื่อเปลี่ยนกติกาที่ไม่เป็นธรรม และเอาระบบที่ไม่พึงปรารถนาออกไป จึงต้อง เซตซีโร ระบบคสช. ด้วยการที่พรรคการเมืองทุกพรรค จับมือกันตั้งรัฐบาล แทนที่จะสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง แม้ว่าโอกาสจะน้อยก็ตาม โดยเห็นว่าเราคุยกันด้วยเลือดและชีวิตพอแล้ว ต้องหันมาใช้สันติวิธี

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ระบุว่า ไม่ตั้งความหวังว่า คสช. จะสร้างความปรองดอง แม้แต่ในร่างสัญญาประชาคม ก็เป็นเหมือนคำขวัญไม่มีรูปธรรมในการแก้ปัญหา ในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจก็ยังมีทัศนะเหมือนเดิม และเห็นว่า คำว่าปรองดอง กลายเป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจเข้ามาต้องพูดแต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะทำ ขณะเดียวกันกติกาใหม่ก็ไม่เอื้อให้เกิดการปรองดองแต่จะสร้างความขัดแย้งใหม่ โดยเฉพาะความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จึงขอเสนอว่าต้องให้ประชาชนเลือกสสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และลงประชามติ และต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาคำสั่งคสช.เพื่อยกเลิกหรือแปรสภาพให้เป็นกฎหมายปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น