xs
xsm
sm
md
lg

จี้นายกฯสั่งแจงภาษีเชฟรอน พิสูจน์ตั้งใจปราบโกงจริงจัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"รสนา"จี้นายกฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจง "ภาษีเชฟรอน" โดยละเอียด มีการจ่ายของปีใด จำนวนเท่าไร คิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ฐานสำแดงเท็จหรือไม่ รวมทั้งกรณีการส่งคอนเดนเสต จากแหล่ง "เจดีเอ" มาขายบริษัทน้ำมันในไทย ผ่านบริษัทนายหน้าของสิงคโปร์ โดยไม่เสียภาษีขาออก และขาเข้า ถาม "นายกฯ จะปราบโกงจริง หรือดีแต่พูดลอยๆ"

วานนี้ (26พ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้กล่าวกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่22 พ.ย60 ว่า "หลายคนออกมาบอกว่าโกงกันแล้วยังจะมาถามหาใบเสร็จอีก ก็เพราะผมไม่ได้อยู่ร่วมการโกง ก็จะไม่รู้พวกท่านก็ต้องบอกถึงสาระสำคัญ ไม่ใช่มาบอกลอยๆ แล้วจะไปหาใครเจอ ผมสั่งไปแล้วทั้งหมด แต่ไม่มีรายงานว่าเจอ ดังนั้น หากใครเจอก็ต้องบอกผม อย่าไปบิดเบือนกันอยู่ หรือใครไม่อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้า มีหรือไม่"

น.ส.รสนา ระบุว่า ขอใช้ช่องทางนี้ส่งข้อมูลถึงนายกฯ ขอให้ท่านทำจริง เหมือนที่ให้สัมภาษณ์ หากต้องการเอกสารใด พร้อมส่งมอบให้ท่านนายกฯ ประกอบการพิจารณา

คดีที่บริษัทเชฟรอน (ไทย)จำกัด สำแดงการส่งออกเป็นเท็จ เพื่อยกเว้นภาษีน้ำมัน ตั้งแต่ปี 54-57 และปี 58-59 หลังจากมีคำวินิจฉัยจาก คณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าเป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี จากนั้นก็มีคำกล่าวอ้างว่า บริษัทเชฟรอน ได้จ่ายภาษีที่ได้ขอยกเว้นไปแล้ว เมื่อ17 มี.ค.60

เนื่องจากกรณีนี้ลงเป็นข่าวแพร่หลาย โดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า สำนักข่าวอิศรา รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออนไลน์ของสำนักข่าวเอเอสทีวี จนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้กรมศุลกากร จำต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า น้ำมันที่ส่งไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี หรือเป็นการส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษี และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) วินิจฉัยว่า เป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี
สาธารณชนย่อมอยากรู้รายละเอียดต่อว่า ที่มีข้อมูลกล่าวอ้างว่า เชฟรอน ได้จ่ายภาษีแล้ว ตั้งแต่ 17 มี.ค.60 นั้น มีข้อเท็จจริงอย่างไร จึงขอให้ท่านนายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาให้ข้อมูลต่อสังคม ดังนี้
1. รายละเอียดการจ่ายคืนภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทเชฟรอนไทย เป็นการจ่ายคืนของปีใดบ้าง เป็นเงินเท่าไร และมีการเก็บเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มหรือไม่ จำนวนเท่าไร

2. บริษัทเชฟรอนสำรวจและผลิต ที่ซื้อน้ำมันปลอดภาษีจาก บริษัทเชฟรอน (ไทย) และนำมาใช้กับเรือบริการที่แล่นในอ่าวไทย จนถูกด่านศุลกากรสงขลาจับน้ำมันเถื่อนได้ 1.6 ล้านลิตร มูลค่า 48 ล้านบาท แต่ผู้บริหารในกรมศุลฯ ได้ถ่วงเวลามาเกือบ 4 ปี (ตั้งแต่ ก.พ 57) ไม่ยอมปิดคดี เพื่อส่งเงิน 48 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ขอให้ช่วยตอบว่า เมื่อไร จะปิดคดีได้

3.การสำแดงเท็จ ในการส่งน้ำมันโดยใช้ รหัส ZZ (หมายถึงเขตต่อเนื่อง) และ รหัส YY(หมายถึงส่งออกนอกราชอาณาจักร) เพื่อขอยกเว้นภาษี ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหารือสำนักกฎหมายเรื่องส่งน้ำมันไปใช้แท่นขุดเจาะ เป็นการส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษี จึงเป็นการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ ศุลกากร เพื่อฉ้อภาษีของรัฐ มีบทลงโทษผู้กระทำการหลีกเลี่ยงภาษี ตาม มาตรา27,99 โดยมีโทษปรับ 4 เท่าของ"มูลค่าสินค้า" และมีโทษอาญาอีกด้วย และเมื่อพิจารณาประกอบ มาตรา16 ของ พ.ร.บ ศุลกากร ฉบับที่ 9 ที่บัญญัติชัดเจนว่า

การกระทำผิดตามมาตรา 27 ,99 “ถือเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่า ผู้กระทำ ทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ”ดังนั้นบริษัทเชฟรอน จะอ้างว่าปฏิบัติตามคำตอบข้อหารือ ของสำนักกฎหมายในกรมศุลกากร เพื่อให้พ้นผิดไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่คุ้มครองผู้ตอบคำหารือที่ผิดกฎหมาย และไม่คุ้มครองผู้ปฏิบัติตามคำหารือที่ผิดกฎหมายด้วย

ขอถามว่า มีการดำเนินการปรับบริษัทเชฟรอนไทย ฐานสำแดงเท็จ เพื่อฉ้อภาษีของรัฐหรือไม่

4. กรณีการส่งคอนเดนเสต จากแหล่งเจดีเอ มาขายบริษัทน้ำมันในประเทศไทย โดยขายผ่านบริษัทนายหน้าของสิงคโปร์ โดยไม่เสียภาษีขาออก และขาเข้านั้น ดีเอสไอ ได้ตรวจสอบกรณีนี้ จนสามารถแจ้งข้อกล่าวหาต่อ บริษัท CPOC และ CHESS แต่ผู้บริหารในกรมศุลกากร ในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกระทรวงยุติธรรม ได้มีมติประชุม 3 ฝ่าย ยับยั้งการดำเนินคดีของ ดีเอสไอ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมที่มาถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบ ท่านนายกฯ ควรสั่งการให้ดีเอสไอ และสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินคดีต่อไป โดยไม่ชักช้า

5.ท่านนายกฯ สมควรตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนวินัยราชการ ผู้บริหารในกรมศุลกากร และข้าราชการในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกระทรวงอื่นๆ หากพบหลักฐานการมีส่วนร่วมในการเอื้อประโยชน์เอกชน และขัดขวางกระบวนตรวจสอบเอกชนที่โกงภาษีของรัฐ

ท่านนายกฯควรรับรู้ว่า การหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัทเอกชนนั้น มักจะกระทำโดยอาศัยความร่วมมือจากสำนักกฎหมายในกระทรวง ทบวง กรม ที่ตอบข้อหารือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเกราะกำบังให้บริษัทเอกชนสามารถแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งควรมีการวางมาตรการตรงจุดนี้ อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ปล่อยเป็นจุดอ่อนในการกระทำผิด และหากไม่มีผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปทำตัวเป็นหลังพิงให้ การสมคบกันทำผิดกฎหมายเพื่อฉ้อโกงภาษีของรัฐ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ใช่ หรือไม่

กรณีโกงภาษีนี้ ดิฉันมิได้โจทก์ขึ้นลอยๆ แต่มีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ซึ่งบางเรื่องกฤษฎีกาก็ตีความแล้ว และ ดีเอสไอ ก็กำลังสอบสวนอยู่ แต่มีความพยายามเขี่ยลูกออก ถ่วงเวลา และทำลายหลักฐานโดยกลุ่มข้าราชการระดับสูง
หากท่านนายกฯไม่สนใจตรวจสอบคดีนี้ ดิฉันก็จะส่งเรื่องนี้ไปให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไป และเรื่องอาจกลายเป็นว่าท่านนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด เป็นผู้ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้เสียเองก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น