xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดร่าง กม.ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการ คสช.ตั้งได้ไปต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา มีร่างกฎหมายสำคัญผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)อีก 1 ฉบับ นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. … ซึ่ง สนช.มีมติเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ เสนอโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) สนช.ได้ลงมติรับหลักการวาระแรก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 และมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ 22 คนขึ้นมาพิจารณา

การประชุม สนช.เพื่อพิจราณาร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ที่ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่สมาชิกนำมาอภิปรายกันในที่ประชุม

อาทิ มาตรา 69/1 ว่าด้วยการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นยากแก่การแก้ไขเยียวยาวภายหลัง หรือ เพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึง โดยรายระเอียดของ มาตรา 69/1 มีดังนี้

“เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้อยแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึง และคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้องเมื่อศาลเห็นสมควร หรือคู่กรณีได้ยื่นคำขอให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล

มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลบังคับใช้ได้ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวนั้น

ข้อกำหนดของศาลตามวรรคหนึ่งต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้ ถ้าต่อมามีการเสนอญัตติและสภาผู้แทนราษฎรมีมติภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งข้อกำหนดดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ศาลดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น

กำหนดวันตามวรรคสามให้หมายถึงวันในสมัยประชุม”

ร่างมาตรนี้ กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิก สนช.บางส่วนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกลาง หากมีอำนาจออกมาตรการชั่วคราวได้เองและเกิดความเสียหายหรือขัดแย้งผลคำวินิจฉัยที่จะออกมาภายหลังจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ามาดำเนินการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรงอยู่แล้ว เช่น ตำรวจ และรวมถึงมีกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุม เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.นี้ ได้ชี้แจงว่า เนื้อหาที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกมาตรการชั่วคราวถือเป็นกลไกปกติในประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ เช่น เยอรมนี ออสเตรีย หากไม่มีมาตรการดังกล่าวแม้จะชนะคดีก็อาจแพ้ในทางปฏิบัติ เพราะความเสียหายและผลกระทบเกิดขึ้นไปก่อนแล้ว รวมทั้งในมาตรการดังกล่าวยังกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบมาตรการดังกล่าวไว้ด้วย

อีกประเด็นที่สมาชิก สนช.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง คือร่าง มาตรา 71/1 ที่ให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลเอาไว้ในคำวินิจฉัย

“มาตรา 71/1 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลหากมีความจำเป็นจะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลไว้ในคำวินิจฉัยนั้น โดยศาลอาจกำหนดให้มีผลในอนาคตขณะใดขณะหนึ่งหลังวันอ่านคำวินิจฉัย หรือออาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ตามความจำเป็นหรือสมควรตามความเป็นธรรมแห่งกรณี และให้องค์กร หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดที่มีหน้าที่ในการบังคับ รายงานผลการผฏิบัติหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามคำบังคับของศาลต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล

ข้อกำหนดของศาลตามวรรคหนึ่งต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้ ถ้าต่อมามีการเสนอญัตติและสภาผู้แทนราษฎรมีมติภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งข้อกำหนดดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ศาลดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น

กำหนดวันตามวรรคสองให้หมายถึงวันในสมัยประชุม”

ร่างมาตรานี้ สมาชิก สนช.ทักท้วงว่า การกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนตรวจสอบคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจขัดรัฐธรรมนูญได้ ทำให้เกิดการถกเถียงหาข้อยุติไม่ได้ จนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ กมธ.และสมาชิกไปตกลงกัน

หลังหารือประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน กมธ.ชี้แจงว่า กมธ.เสียงข้างมากหารือแล้ว เห็นชอบให้ตัดให้ตัดเนื้อหามาตรา 69/1 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 71/1 วรรคสองและวรรคสาม นั่นหมายถึงการตัดอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการเข้ามาตรวจสอบข้อกำหนดและมาตรการชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกไป

อีกประเด็นสำคัญ คือบทเฉพาะกาล มาตรา 76 ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดย กมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าตุลาการ 4 คนที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระ ควรจะอยู่ต่อจนครบวาระ ไม่ควรนำคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาใช้ ส่วนตุลาการ 5 คน ที่พ้นตำแหน่งแล้ว แต่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นั้น ได้กำหนดให้มีการสรรหาใหม่ อย่างไรก็ตาม กมธ.เสียงข้างน้อย เห็นว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ขอให้ตุลาการ 5 คนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะสรรหาคนใหม่ ทั้งนี้ ที่ไม่ประสงค์ให้อยู่ยาวเนื่องจากได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว

ขณะที่สมาชิก สนช.ที่ขอแปรญัตติไว้ เช่น นายธานี อ่อนละเอียด นายสมชาย แสวงการ เป็นต้น เห็นว่าควรให้ตุลาการ 5 คนที่อยู่ตามคำสั่ง คสช.อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อให้ทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน ร่วมสรรหาด้วย เพื่อความสง่างาม ซึ่งนายสมคิด ชี้แจงว่า ในร่างมาตรา 77 กมธ.เสียงข้างมากได้เขียนระยะเวลาการสรรหาตุลาการใหม่ 5 คน กำหนด 200 วัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ใกล้เคียงกับระยะเวลาการเลือกตั้งใหม่ แต่หลังจากที่ฟังการอภิปรายของสมาชิกที่ต้องการให้ตุลาการทั้ง 5 คนอยู่ต่อไปจนถึงการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนั้น กมธ.ก็เห็นด้วย

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ กมธ.เสียงข้างน้อย และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ท้วงติงว่า การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงการประชุมรัฐสภาจะเกิดความสง่างาม เพราะมีประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้าน แต่ความสง่างามจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อปัจจุบันตุลาการ 5 ท่านที่หมดวาระไปแล้วยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 24/2560 เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่จะอยู่แบบไม่มีที่สิ้นสุดก็ไม่มีความสง่างาม และปัจจุบันทั้ง 5 คนปฏิบัติหน้าที่ครบ 9 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อที่ประชุมลงมติในวาระสอง เรียงรายมาตรา ก็ผ่านฉลุย และการลงมติในวาระสาม ก็เห็นชอบด้วยคะแนน 188 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง ซึ่ง

ก็เป็นอันว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ ผ่าน สนช.เป็นที่เรียบร้อย กระบวนการต่อไป สนช.จะส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และกรธ.เพื่อพิจารณา หากไม่มีคำโต้แย้ง ก็จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามกระบวนการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น