xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สมคิด” ฟื้นศก.รากหญ้าสะดุด ข้องใจทำไม “บิ๊กป๊อก” มือไม่พาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลงานพลิกฟื้นเศรษฐกิจฝีมือดรีมทีม “เฮียกวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงนาทีนี้ต้องชูนิ้วให้ ดูจากตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไตรมาส 3 ของปีนี้ที่พุ่งทะลุ 4.3 % เกินคาดหมาย แต่จะไปต่อได้อีกหรือไม่ในปีหน้าดูท่าจะเหนื่อยหนักๆ เพราะงานนี้ “พี่รอง” แห่งค่ายเสือตะวันออก แหย่เท้าเข้ามาขวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าของ “เฮียกวง” เสียแล้ว

ถึงเวลามีข่าวดีๆ จากการที่สภาพัฒน์ โดย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2560 เติบโต 4.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาสหรือ 4 ปีครึ่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคส่งออกที่เติบโตได้ 12.5% เป็นการเติบโตขึ้นทุกหมวดสินค้ายกเว้นรถยนต์นั่ง ทั้งนี้เป็นเพราะอานิสงส์ที่ได้จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ดัชนีจีดีพีที่เติบโตขึ้นนี้ ทำเอารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลื้มปริ่ม เพราะรอข่าวดีเช่นนี้มานาน จากที่ผ่านมาได้ยินแต่เสียงบ่นระงมจากทุกภาคส่วน

ทว่าแม้ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมจะเติบโต ในส่วนของเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ท้องถิ่นไกลปืนเที่ยง ยังส่ออาการร่อแร่ลูกผีลูกคน ยิ่งภาคการเกษตร ซึ่งมีจำนวนประชากรพึ่งพิงรายได้จากภาคการผลิตนี้กว่า 30 ล้านคน ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ราคาพืชผลเกษตรดิ่งเหว รายได้ลดน้อยลง การเติบโตติดลบ

ตัวเลขจากสภาพัฒน์ ชี้ว่า ในการผลิตภาคเกษตร แม้ว่าจะยังคงขยายตัวอยู่ที่ระดับ 9.9% โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 11.9% แต่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลง 12.9% ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรในไตรมาสที่ 3 ลดลง 2.6%

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของดรีมทีมเศรษฐกิจ “เฮียกวง” จึงวางเป้าหมายในปีหน้าว่าจะฟื้นเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและแข็งแกร่งโดยจะอาศัยงบท้องถิ่นหรือ อปท.เข้ามาช่วยกระตุ้น

นายสมคิด ได้ป่าวประกาศในการปิดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ประจำปี 2560 ที่สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2560 ว่า ในปี 2561 รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนมากขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยจะมีแผนงานและโครงการกระตุ้นระดับฐานรากเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัวชัดเจน แต่ท้องถิ่นยังลำบากอยู่ จึงต้องเร่งกระตุ้นให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจคือ “เฮียกวง” ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย จะเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้สามารถนำเงินของหน่วยงานที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท มาทำโครงการเพื่อให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้แก่ชุมชนในระยะยาว เช่น การทำโครงการท่องเที่ยวในชุมชน การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ และการส่งเสริมการปลูกพืชเกษตร โดยมีตลาดรองรับ เช่น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะเร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยรัฐบาลจะใช้กลไกของธนาคารรัฐเข้าไปช่วย

“.... แบงก์รัฐ ต้องทำให้ดอกเบี้ยถูกลง เพราะว่าเป็นแบงก์ที่มีหน้าที่ช่วยประชาชนในประเทศ ไม่ใช่มาเน้นหากำไรสูงๆ เพื่อหวังได้โบนัสแจกพนักงาน โดยจะต้องเจาะลูกค้าเล็กๆ มากขึ้น ผู้บริหารที่เน้นหาลูกค้ารายใหญ่ หากไม่ปรับเปลี่ยน ก็ต้องปรับออก”

“.... ใครบอกว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังแย่ และรัฐบาลชุดนี้ไม่สนใจรากหญ้า หรือเกษตรกร ผู้ที่พูดแบบนี้เอาอะไรส่วนไหนคิด ไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ แต่แนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาลชุดนี้แค่ไม่เน้นการแจกเงินฟรี แล้วก็จบ” นายสมคิด กล่าวย้ำ

แต่อย่างไรก็ตาม แผนการของ “เฮียกวง” ซึ่งกำลังก่อรูปแปลงร่างก็ส่อเค้าว่าจะพังเสียตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น เพราะพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ มท.1 โดดออกมาขวางเต็มลำว่า งบ อปท. ที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จับจ้องจะเอาไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำโครงการที่เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืนนั้น ขอบอกเลยว่าอย่ามาล้วง อปท.มีเรื่องต้องใช้เอาไปทำโครงการพัฒนาต่างๆ อยู่แล้ว

พล.อ.อนุพงษ์ ออกมาดักคอ “เฮียกวง” ว่า งบประมาณ 2 แสนล้านบาทของอปท.นั้น ส่วนหนึ่งต้องกันสำรองไว้ใช้กรณีบรรเทาสาธารณภัย เบี้ยเลี้ยงคนชราและผู้พิการ ประมาณ 25% ส่วนที่เหลืออีก 75% หรือตกประมาณ 150,000 ล้านบาท เป็นงบสำหรับโครงการพัฒนาต่างๆ การจะนำงบส่วนนี้ไปใช้ต้องขอความเห็นชอบจากครม.ด้วยว่าจะนำงบไปใช้ทำอะไร

บิ๊กป๊อก ยังยกมือยันนายสมคิด ไม่ให้เข้ามาล้วงลูกด้วยว่า ที่ผ่านมา อปท.มีการใช้งบดังกล่าวมาช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศโดยตลอดอยู่แล้ว เช่น ท้องถิ่นใดทำโครงการแล้วเงินไม่พอรัฐบาลก็จะเติมให้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ สรุปแล้วมีการใช้เป็นระยะๆ ไป แต่จะเปิดประตูให้ใช้เงินได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าสร้างแล้วเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นก็จะเปิด แต่ก็ต้องเป็นนโยบายไม่ใช่นำเงินมาใช้ให้หมด

ส่วนการทำโครงการพัฒนาของ อปท.ที่ว่านั้น จะเป็นไปเพื่อเครือข่ายธุรกิจ หรือวงศ์วานว่านเครือของผู้บริหาร อปท. เป็นหลักหรือไม่ มีเงินทอนส่งขึ้นมาตามท่อหรือไม่ ถึงแม้ว่า มท.1 ไม่ได้แจกแจง แต่เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า อปท.นั้นผลาญงบที่อ้างว่าพัฒนาท้องถิ่นเพื่อการทุจริตโกงกินมโหฬารบานตะไทในหมู่พวกพ้องขนาดไหน

งบส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับผู้รับเหมาในเครือข่ายผู้นำ อปท. ใช่หรือไม่ หากย้อนกลับไปดูบัญชีดำข้าราชการที่หัวหน้า คสช. สั่งโยกย้ายเข้ากรุนั่นเป็นตัวอย่าง อีกทั้งรายงานการตรวจสอบการใช้งบ อปท.ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ชี้ว่าการใช้งบของอปท.มีปัญหาทุจริตหนักข้อขึ้นทุกปีก็จะมีคำตอบที่ชัดเจน

ดังนั้น การยื่นเท้าออกมาขวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าของพล.อ.อนุพงษ์ จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้มีอะไรในกอไผ่หรือไม่

แต่ก็อย่างว่า อปท.ตั้งวงกินหวานๆ ปากมันๆ อิ่มหมีพีมันกันมาเนิ่นนาน วันดีคืนดี “เฮียกวง” จะเข้ามาทำให้วงแตกก็ต้องเจอเท้าสอดเข้าขวางให้ล้มคะมำปากคาบพื้นกันก่อนหละ แต่ว่าเรื่องนี้จะไปต่อได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะไฟเขียวหรือไฟแดงเบรกหัวทิ่มหัวตำ

ถ้าเลือกทางเลือกแบบคนสายตาสั้น ก็เอาอย่างบิ๊กป๊อก ที่กอดงบ อปท. เอาไว้ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับเศรษฐกิจรากหญ้ากระจายไปอย่างทั่วถึง แต่ถ้าคิดเดินหมากตามการวางแผนแบบอยู่ยาวก็ต้องยอมเปิดทางให้ “เฮียกวง” เข้าไปเขย่างบ อปท. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้ได้รับอานิสงค์กันถ้วนหน้าเพราะแผนของนายสมคิด ต้องการจะเอางบส่วนนี้ที่มีเป็นแสนๆ ล้านใส่ลงไปในวิสาหกิจชุมชน ร้านค้าประชารัฐ ฯลฯ ซึ่งจะกระจายถึงมือคนเล็กคนน้อยในท้องถิ่นให้มีกำลังซื้อ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น เป็นการปูฐานเสียงเรียกคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลก่อนเปิดศึกเลือกตั้งในปีหน้า

หาไม่แล้ว คสช.ก็เลิกคิดที่จะสืบทอดอำนาจ เลิกสู้กับนักการเมือง นักเลือกตั้งเจนสนามได้เลย หากกำหัวใจชนชั้นรากหญ้าไม่ได้ จะเอาผลงานความอยู่ดีมีสุขจากที่ไหนไปแลกคะแนนเสียง อย่าลืมว่าคะแนนเสียงมีค่ามีราคาหาได้มาแบบฟรีๆ ไม่เช่นนั้น “เฮียกวง” ซึ่งแบกเป้าหมายฟื้นเศรษฐกิจเพื่อเรียกคะแนนให้ คสช. ก็คงหลังแอ่นเหนื่อยเปล่า

ไหนๆ ก็ลงเรือลำเดียวกัน ถึงเวลาที่จะปลุกปั้นเศรษฐกิจของประเทศให้เฟื่องฟูกันถ้วนหน้า ก็ไม่ควรจะมาขัดขากัน เวลานี้เศรษฐกิจโลกค่อยๆ โงหัวขึ้นแล้ว เศรษฐกิจไทยก็พลอยเกาะขบวนไปด้วย ดังรายละเอียดที่เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพีที่เติบโตขึ้นเกินคาด

ถ้อยแถลงของดร.ปรเมธี บอกว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาสเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ระดับ 4.3% ขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 62% จาก 58.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการลงทุนของเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 3% มา 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยการลงทุนในเครื่องจักรเติบโต 4.3% สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส และการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ไตรมาส สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และคาดว่าจะทยอยกระจายตัวในระยะต่อไป

ในด้านการบริโภคยังคงขยายตัวที่ระดับ 3.1% และมากกว่า 3% มาติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยสินค้าคงทนเติบโตขึ้น 7% ขณะที่สินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทนเติบโตที่ระดับ 3.5% และ 3% ตามลำดับ สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัว 3.9% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการเมื่อ 21 ส.ค. 2560 ที่ระดับ 3.7% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 8.6% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.2% และ 2.0% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% ทยอยกลับสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.4% ของจีดีพี

ส่วนเป้าหมายจีดีพีในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 3.6-4.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่หนุนส่งออก การลงทุนภาครัฐและเอกชน การจ้างงานและฐานรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่ต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 5.0% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.1% และ 5.5% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.1% ของจีดีพี

“ถ้าดูการกระจายตัวช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นเฉพาะภาครัฐและท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เราจะเห็นการลงทุนของเอกชน ส่งออก รวมไปถึงการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเห็นว่ากระจายตัวไปยังทุกๆ หมวดสินค้าด้วย และในภาคอุตสาหกรรมจะเห็นว่าการผลิตเริ่มกระจายตัวลงไปยังผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต

“ส่วนภาคเกษตรแม้ว่ารายได้จะลดลงในไตรมาสนี้เนื่องจากผลผลิตที่ออกมามาก แต่โดยรวม 9 เดือนแรกถือว่ายังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ขยายตัวไปได้ 16.5% และ 15.9% สะท้อนไปที่การบริโภคก็เลยยังเห็นว่ายังเพิ่มขึ้นอยู่ เรียกว่า 3 ปีที่ผ่านมาทุกคนก็กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะต้องใช้ระบุเวลาสักพักให้เติบโตได้มากกว่า 4% สักพักจะค่อยๆ กระจายไปภาคส่วนต่างๆ ขณะที่ภาคเกษตรกรต้องยอมรับว่าการส่งผ่านอาจจะยากกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ภาคเกษตรต้องปรับปรุงวิธีการผลิตต่างๆ ที่ดีขึ้นด้วย” ดร.ปรเมธี กล่าว

หลังจากสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจ ทางด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 เติบโต 3.8% จากเดิมที่ 3.6% หลังจากรายงานตัวเลขจีดีพีของไทยไตรมาส 3 ปี 2560 ของสภาพัฒน์ที่โตเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้ดีเกินคาดช่วยหนุนการส่งออกสินค้าให้เติบโตต่อเนื่องโดยเศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2560 ตลอดจนปี 2561 จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน การบริโภค และส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยให้เติบโตได้ต่อ

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน อีไอซี คาดการณ์ว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัจจัยลบที่คลี่คลายและการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แนวโน้มรายได้ยังติดขัด การบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัวตามบรรยากาศการใช้จ่ายที่สดใสขึ้นหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงอุทกภัย รวมถึงกิจกรรมการบริโภคต่างๆ ก็กลับมาดำเนินการได้หลังพ้นช่วงไว้อาลัย ทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านช่องทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงปลายปี

แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ กำลังซื้อของภาคครัวเรือนในประเทศยังค่อนข้างอ่อนแอทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำและจากตลาดแรงงานที่ซบเซา เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานในช่วง 9 เดือนแรกของปียังคงหดตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง 3.2% แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการส่งออกยังไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากนัก

อีไอซี มองเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องในปี 2561 เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเติบโตได้ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จะเริ่มตามมาเพื่อรองรับอุปสงค์ที่ขยายตัว รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทขนาดใหญ่และของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนภาคเอกชนของไทยระยะต่อไปในภาพรวม หลายปัจจัยในเศรษฐกิจมีแรงส่งที่ชัดเจนขึ้น ยกเว้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังคงอ่อนแอและยังไม่เห็นสัญญาณการเติบโตที่ชัดเจน ทั้งนี้ อีไอซีประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2018 อยู่ในช่วง 3.7-3.9%

โอกาสดีๆ ที่มาถึงแล้ว “เฮียกวง” ได้โปรยยาหอมว่า ในปี2561 โอกาสของไทยกำลังจะมา ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะทะลุ 4% แน่นอน เพราะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผล หลังจากที่รัฐบาลหว่านเมล็ดไป ทั้งการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน และเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำลังขับเคลื่อน โดยคาดว่า ในไตรมาส 1 ปีหน้า ทุกโครงการลงทุนในอีอีซี จะเริ่มประมูลได้ และจะเริ่มดำเนินการลงทุนได้ไม่เกิน ไตรมาส 2 ปีหน้า

ตามแผนการลงทุนข้างต้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขยายความว่า ในปีหน้ากระทรวงคมนาคม ได้กำหนดงบลงทุนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งไว้ทั้งสิ้น 3.09 แสนล้านบาท แบ่งเป็นทางบก 1.52 แสนล้านบาท ทางราง 9.62 หมื่นล้านบาท ทางอากาศ 5.35 หมื่นล้านบาท และทางน้ำ 7,323 ล้านบาท และยังมีแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม รองรับการพัฒนาอีอีซี จำนวน 103 โครงการ ระหว่างปี 2560-2564 วงเงินรวมกว่า 7.45 แสนล้านบาท โดยมีแผนจะปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติ เชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองที่จะขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

แผนลงทุนเพื่อกลุ่มทุนใหญ่อย่างโครงการอีอีซี หรือเมกะโปรเจกต์ทั้งหลายนั้นรัฐบาลชัดเจนในการทะลุทะลวงทุกปัญหาทุกอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎผังเมืองหรือการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าที่เจอพวกเดียวกันเองเตะตัดขาในเวลานี้ ยังมืดมนและวังเวง

ขออย่าให้เป็นเช่นเสียงสะท้อนจากนักวิชาการขาประจำ นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลทุ่มงบประมาณ 2-3 ล้านล้านบาท สำหรับโครงสร้างพื้นฐานและการต่อยอด 4.0 แต่หากพิเคราะห์ถึงสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่การต่อยอดหากเป็นการซื้อยอด รัฐบาลจึงควรพัฒนาเศรษฐกิจ 1.0 , 2.0 ซึ่งเป็นมรดกของแผ่นดินให้เข้มแข็งไปพร้อมๆ กับ 3.0 และ 4.0 ไปพร้อมๆ กัน และต้องหาสมดุลระหว่างการนำบัตรไปแจกชาวบ้านกับการให้ความรู้กับเกษตรกร แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องทรัพยากรพื้นฐาน มีการจัดงบประมาณเพียงในระดับหมื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น