xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลือกตั้งท้องถิ่น วัดเรตติ้ง คสช.ก่อนเลือกตั้งระดับชาติ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่รัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น กลายเป็นกระแสแรงที่ตีคู่มาพร้อมกับการปรับคณะรัฐมนตรีเลยก็ว่าได้

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้นัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำนักงานกฤษฎีกา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถึงการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ยังไม่มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ และการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ชุดใหม่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวทางการปฏิรูปประเทศก็ยังไม่แล้วเสร็จเช่นกัน

จึงมีคำถามว่า ทำไมจู่ๆ รัฐบาล คสช.จึงจะให้จัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นมาก่อน

นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า คสช.กำลังพิจารณาให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร(กทม.) และเมืองพัทยา

นายวิษณุบอกว่า คสช.ได้ดูมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว และได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยว่าอาจจะต้องปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เป็นบางระดับ ไม่ใช่ทั้งหมด วันนี้ชุดเก่ายังสามารถทำหน้าที่อยู่ได้ ไม่ได้เกิดปัญหาอะไร แต่ คสช.กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ หลังจากที่ถูกสั่งระงับไว้เมื่อปี 2557

รองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทม์ไลน์เลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกี่ยวกับไทม์ไลน์ระดับชาติ เพียงแต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้การเลือกตั้งบางประเภทเกิดก่อนระดับชาติ คนที่คิดจะเล่นการเมืองจะได้ไม่ต้องพะวักพะวนว่าจะลงเลือกตั้งระดับไหนดี จึงเกิดโรดแมปเล็กซ้อนขึ้นมา ยืนยันว่าไม่ใช่ทุกระดับ ไม่เช่นนั้น กกต.จะวุ่นวาย และเป็นปัจจัยโยงไปถึงการปลดล็อก เพราะคนที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ คือ กกต.

ขณะที่รัฐบาล คสช.กำลังเร่งให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนระดับชาติ แต่ทางฝ่าย กกต.ที่จะต้องรับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง กลับยังไม่แน่ใจว่า ตนมีอำนาจจัดการเลือกตั้งในระดับนี้หรือไม่

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จริง แต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.มาตรา 27 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัด โดย กกต.เป็นคนควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

กกต.จึงเห็นว่ากฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ และมีการทักท้วงตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ไม่ได้มีการแก้ไข ทาง กกต.จึงมีมติให้สำนักงานยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอยู่ระหว่างการตวจสอบข้อกฎหมายและจะมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้ได้บทสรุปที่ชัดเจนก่อนที่ คสช.จะปลดล็อกให้เลือกตั้งท้องถิ่นได้

อย่างไรก็ตาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กลับเห็นว่า การที่ กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น เป็นความเข้าใจผิดของ กกต. เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนว่าให้ กกต.จัด หรือมอบให้คนอื่นจัดเลือกตั้งก็ได้ เดิมการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.ก็ทำหน้าที่กำกับดูแล แล้วให้ท้องถิ่นจัดเอง ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ก็ให้ปลัดทำหน้าที่ ไม่มีปัญหาอะไร สำหรับกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่จะใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 มีจำนวนสมาชิกและผู้บริหารที่ครบวาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 8,410 แห่ง จากจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศ 7,853 แห่ง บางที่การครบวาระของสภาและผู้บริหารไม่พร้อมกัน จึงนับเป็น 2 แห่ง ทำให้จำนวนรวมเกินกว่าจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ไม่มี กกต.จังหวัด แต่ กกต.สามารถใช้กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำหน้าที่สนับสนุนได้ นายสมชัยเห็นว่าเป็นการอธิบายที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะใน พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.มาตรา 28 ระบุว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.แต่ละครั้ง ให้ กกต.จัดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้ง หากจะให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องมีการออกกฎหมายรองรับ มิฉะนั้นไม่สามารถตั้งงบประมาณในการดำเนินการได้

ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า กกต.ชุดปัจจุบันที่อยู่ระหว่างรักษาการรอ กกต.ชุดใหม่ จะสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่นั้น ผลสรุปจากที่ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ก็ได้ข้อสรุปออกมาแล้ว

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทาง กรธ.ได้ชี้แจงให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไม่มีอะไรขัดแย้งทางกฎหมาย และไม่มีอะไรควรสงสัย เพราะตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ กกต.มีหน้าที่จัดและดำเนินการ ให้มีการเลือกตั้ง ประเด็นนี้ก็แล้วแต่ กกต.จะมอบหมาย สำหรับมาตรา 27 นั้น ซึ่ง กกต. อาจจะมอบหมายให้ อปท. หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการเลือกตั้งก็ได้

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุบอกว่า การจะให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในเวลานี้ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งหมด 6 ฉบับ

ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 , พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.) , พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.) ,พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 , พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และ พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

ซึ่งทั้ง 6 ฉบับนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการ จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับบังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการปลดล็อกต่อไป คิดว่าการดำเนินการจะใช้เวลาไม่นาน

แต่การแก้ไขกฎหมายทั้งหมดจะไม่เสร็จภายในปีนี้ เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 1 เดือนก็สิ้นปี ซึ่งช่วงเวลาที่เหลือนี้จะใช้ในการรับฟังความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุยอมรับว่า ยังมีประเด็นปัญหา ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตไว้ กรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องดูให้แน่ชัดว่าโครงสร้างท้องถิ่นที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่จะออกมาอย่างไร ซึ่งโครงสร้าง อบต.น่าจะเกิดผลกระทบ ดังนั้นการเลือกตั้ง อบต. คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอยู่

ส่วนประเด็นที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงได้หรือไม่ ระหว่างที่ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง นายวิษณุบอกว่า จะมีการหารืออีกทีว่า จะปลดล็อกให้หรือไม่อย่างไร เพราะยังมีเวลาพอสมควร

มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า การเร่งจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งที่ยังไม่มีการปลดล็อกทางการเมือง มีวาระอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่ารัฐบาลเริ่มรู้และถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเลือกตั้งจะไม่มีอีกแล้วหรืออย่างไรทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น จึงคิดเรื่องนี้ขึ้นมา หาทางที่จะคลายบรรยากาศของบ้านเมือง

พร้อมย้ำว่า รัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปการเมืองต้องใส่ใจกับการจัดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ มากกว่าใส่ใจในเรื่องกระแสการเมือง

ขณะเดียวกันมีความเห็นจากบางกระแสที่มองว่า มีความเป็นไปได้ที่การจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ เพื่อใช้วัดเรตติ้งของ คสช. ทั้งนี้เพราะนักการเมืองท้องถิ่นระดับ อบต.หรือ อบจ.ก็คือหัวคะแนนของพรรคการเมืองระดับชาติ เห็นได้จากในระยะหลังที่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้หันมาแข่งขันกันที่อุดมการณ์ของพรรคหรือสีเสื้อกันมากขึ้น

จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาล คสช.จะใช้ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นก่อน เพื่อวางหมากเกม จัดการให้การเลือกตั้งระดับชาติที่จะเกิดภายหลัง ให้มีผลออกมาตามที่ คสช.ต้องการได้



กำลังโหลดความคิดเห็น