xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพญาไทร้องผู้ตรวจฯ กทม.ปล่อยเอกชนสร้างตึกสูงผิดกม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15พ.ย.) นายนรฤทธิ์ โกมารชุน ผู้แทนกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท และผู้ได้รับผลกระทบกว่า10 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ใน 8 ชุมชน พื้นที่เขตพญาไท กทม. ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กทม. และ สนง.เขตพญาไท ที่ปล่อยปละละเลย ให้มีการก่อสร้างอาคารสูง คอนโดมีเนียม ที่เข้าข่ายผิดกม. และ ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีการจัดการบริเวณที่ก่อสร้างให้เรียบร้อย ทำให้เกิดปัญหาการจราจร และเกิดน้ำท่วมในชุมชน
นายนรฤทธิ์ กล่าวว่า เป็นคนพื้นที่ อยู่มากว่า 70 ปี แต่ปัจจุบัน กทม. และเขตพญาไท กลับอนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารชุด โดยไม่คำนึงถึงกายภาพของพื้นที่ ที่มีจำกัด ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งการจราจรติดขัด น้ำท่วมขัง มลภาวะทางเสียง ฝุ่น กลิ่น ซึ่งทางชุมชนได้เคยร้องเรียนไปยังกทม. เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ฝ่ายสิ่งแวดล้อมกทม. สำนักงานเขตพญาไท แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ตรงกันข้ามกลับสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนมากขึ้น เนื่องจากไม่มีการรับฟังความเห็นของชุมชน
"อย่างมีกรณีหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหมือนคดี ซ.ร่วมฤดี ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รื้อตึกสูง และชาวบ้านกำลังคิดที่จะฟ้องร้อง คือ การปล่อยให้มีตึกสูง 20 ชั้น ใน ซ.พหลโยธิน 11 และกทม. กำลังอนุมัติให้สร้างตึก 8 ชั้น เพิ่มอีก ซึ่งกทม.อ้างว่า ที่อนุมัติให้เพราะถนนซอยกว้าง 13 เมตร แต่เมื่อกรมที่ดินมารังวัดตามการร้องเรียนของชาวบ้าน พบว่าขนาดถนนกว้างไม่ถึง 10 เมตร ที่กฎหมายกำหนดว่า จึงจะสามารถสร้างตึกสูงได้ ซึ่งทางเขตก็ไม่มีการประกาศผลการรังวัดให้ประชาชนทราบ และไม่มีการยับยั้งการก่อสร้าง สะท้อนถึงความหย่อนยานในการควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่รวมไปถึงการอนุญาตก่อสร้างตึกสูงในซอยอื่นๆ ที่ก็มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ตรงความจริง ไม่มีการสอบถามความเห็นของคนในพื้นที่ หรือที่ก่อสร้างแล้ว ก็ละเลยไม่ควบคุมมลพิษทางเสียง กลิ่น จราจรตามซอยต่างๆ ที่ผู้พักอาศัยไม่สามารถเข้า หรือออกจากบ้านพักของตนเองได้สะดวกในชั่วโมงเร่งด่วน การปล่อยให้มีการจอดรถทั้งสองฝั่งถนน จนรถไม่สามารถขับสวนกันได้ ทั้งหมดเป็นปัญหามาจากความอ่อนแอของการควบคุม และการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงอยากให้ผู้ตรวจฯ ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้องไม่บิดเบือน"
น.ส.ริรินดา พูนพิพัฒน์ ผู้พักอาศัยใน ซอยพหลโยธิน 8 หรือ ซ.สายสม กล่าวว่า บ้านของตนติดกับคอนโด ดิเมโมเรีย ของบริษัท ดีเวล แกรนด์เอสเสท จำกัด ขณะก่อสร้างในปี 57 มีการขุดดิน เพื่อทำที่จอดรถใต้อาคาร ทำให้ดินในพื้นที่รอบนอก รวมทั้งที่ดินที่ตั้งบ้านของตนเกิดการเคลื่อนตัวเข้าหาพื้นที่ก่อสร้าง และตัวบ้านทั้งผนัง และคาน เริ่มมีรอยร้าว ซึ่งหลังจากก่อสร้างผ่านไปเพียง 2 สัปดาห์ ก็ทำให้บ้านตนมีรอยร้าวทั้งหลัง อยู่อาศัยไม่ได้ โดยวิศวกร ที่เข้ามาตรวจสอบพบว่า เสาเข็มของบ้านเคลื่อนออกจากศูนย์ ถึงจะซ่อมแซมก็จะเกิดความเสียหายขึ้นอีกในอนาคต ตนจึงต้องทุบบ้านทั้งหลัง แล้วสร้างใหม่ ทั้งที่บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านของครอบครัวที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2502 และตนผูกพันกับบ้านหลังดังกล่าว และยังมีบ้านอีกหลัง ในละแวกเดียวกันที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้จากกรณีที่เกิดขึ้น ตนได้นำเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลแพ่ง ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง เพราะเห็นว่า การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นเท็จ แต่ต่อมาโครงการได้มีการแก้ไข และศาลอนุญาตให้มีการก่อสร้างได้บางส่วน แต่ทางโครงการก็สร้างตึกจนเสร็จ และปัจจุบันมีผู้เข้าพักเต็มพื้นที่หมดแล้ว ขณะที่ความเสียหายของตน โครงการก็ไม่ได้เยียวยา หรือได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานเขตเลยต้อง ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเอง โดยเรียกค่าเสียหายไป 30 ล้าน
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่พญาไท ทางชมรมฯ เห็นว่า ระบบสาธารณูปโภคต่างๆของรัฐ ไม่สามารถที่จะรองรับโครงการก่อสร้างอาคารสูงได้อีกแล้ว จึงอยากให้ทาง กทม. และเขตพิจารณาว่า พอหรือยังที่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้อีก หรือต้องให้คนในชุมชนย้ายออกไปอยู่ข้างนอกเพื่อแลกกับความเจริญ
กำลังโหลดความคิดเห็น