xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

6คำถาม “บิ๊กตู่”ทิ้งไพ่เด็ด ปูทางลงหลังเสือ-ต่อท่ออำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นเชิงวิเคราะห์ที่ตามมา กับ 6 คำถาม ที่บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิ้งไพ่ออกมาเมื่อ 8 พ.ย. ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะวิธีการนี้ บิ๊กตู่ ไม่ได้เพิ่งทำครั้งแรก แต่เคยใช้มาแล้วกับ 4 คำถาม ในลักษณะให้มองประเทศไทยในภาพรวมก่อนจะมีการเลือกตั้ง ที่ถามประชาชนทั้งประเทศ เมื่อเดือนพ.ค. ปีนี้

มารอบนี้ ทิ้งห่างจาก ครั้งที่แล้ว 6 เดือน อันเป็นการถามในขณะที่อยู่ในช่วงจังหวะสำคัญทางการเมือง 3 เรื่องใหญ่ คือ 1. การปรับคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์ 5" 2. กระแสนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ เริ่มตกลง เห็นได้ชัดก็อย่างเช่น จากผลสำรวจ ซูเปอร์โพล เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง พบว่าเวลานี้ ฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อพล.อ.ประยุทธ์ ลดลงจากร้อยละ 78.4 ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 52.0 ในเดือนพ.ย.และ 3. เป็นการทิ้งไพ่ ในช่วงที่ ความเคลื่อนไหวการเตรียมการก่อนการเลือกตั้ง ในซีกพรรคการเมือง ต้องเริ่มขยับกันแล้ว และกระแสกดดันให้ คสช.ปลดล็อก เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อนักเลือกตั้ง ตีปี๊ปกดดันรายวัน หลังได้แรงหนุนจากประชาชนส่งเสียงสนับสนุนให้ คสช.ปลดล็อก ผ่านผลโพลที่ออกมาตรงกันสามสำนัก คือ กรุงเทพโพล-สวนดุสิตโพล-ซูเปอร์โพล ที่เห็นควรให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมือง

ถึงจุดนี้ มองได้ว่า มันก็ยากที่คสช.จะล็อกพรรคการเมืองไว้แบบยาวโลด อันน่าจะทำให้การปลดล็อก ต้องทำเร็วขึ้นจากที่คสช.เคยวางปฏิทินไว้
 
ดังนั้น ก่อนที่จะปลดล็อก คสช.ก็ต้องเริ่มขยับทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีความเคลื่อนไหวของเครือข่าย คสช. มีกระแสข่าวออกมาหลายทางว่า เครือข่ายฝ่ายคสช. เห็นว่า จำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้การลงจากอำนาจของคสช. ปลอดภัย ไม่โดนเช็กบิลย้อนหลัง เพราะลำพัง จะหวังพึ่งแต่ ส.ว. 250 คน คงไม่ปลอดภัย หากไม่มีมือมีไม้ในฟากส.ส. ไว้พึ่งพา จนมีข่าวความเคลื่อนไหวของหลายส่วน เช่น ความเคลื่อนไหวของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของคสช. ในการเตรียมจัดตั้งพรรคพลังชาติไทย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ การประกาศเตรียมตั้ง พรรคประชาชนปฏิรูปของ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปช. ก็ชูธง หนุนบิ๊กตู่ กลับมาเป็นนายกฯรอบสอง เช่นเดียวกับกระแสข่าวที่ออกมาเป็นระยะว่า อดีตเครือข่าย กปปส. ก็กำลังเล็งอยู่ว่า อาจไปสนับสนุนการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เป็นพรรคการเมืองขนาดกลางหรือเล็กเพื่อให้เข้าไปตัดคะแนนพรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน ตามแผน ปิดจุดอ่อน ที่พรรคประชาธิปัตย์ เข้าโซนอีสาน-เหนือไม่ได้

เพราะด้วยระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน ที่ให้นับทุกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมาคำนวณจำนวนที่นั่งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคเล็กและพรรคขนาดกลาง มีโอกาสทางการเมืองมากขึ้น

ผนวกกับเริ่มมีกระแสข่าว เครือข่ายคสช. เตรียมขยับ สร้างพันธมิตรกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่-กลางในเวลานี้ เพื่อเตรียมพร้อมสกัดพรรคเพื่อไทย ไม่ให้ชนะการเลือกตั้งจนได้ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ที่หากทำสำเร็จ ก็จะทำให้โอกาสที่พรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร จะตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง มีความยากลำบาก

3จังหวะสำคัญดังกล่าว ที่ไหลไปในทางเดียวกัน จึงถูกวิเคราะห์แบบเชื่อมโยงไปถึง การที่ พลเอกประยุทธ์ ชิงจังหวะทางการเมือง โยน 6 คำถามดังกล่าวออกมาบนวัตถุประสงค์หลักๆ ก็คงไม่พ้น เช่น เพื่อวัดกระแสเรตติ้ง คะแนนนิยม ของบิ๊กตู่ และคสช. ว่าเป็นอย่างไร คนให้ความสนใจกับการโยนคำถามทั้งหมดออกมามากน้อยแค่ไหน

หลังก่อนหน้านี้ มีประชาชน ให้ความสนใจมาร่วมแสดงความเห็น กับ 4 คำถาม ของบิ๊กตู่ ประมาณหนึ่งล้านกว่าคน ที่ก็เป็นตัวเลขน่าพอใจระดับหนึ่ง
 
ส่วนเรื่องความเป็นไปได้ หากเครือข่ายคสช. จะมีพรรคการเมือง ของตัวเอง เชื่อได้ว่า ถึงตอนนี้ พลเอกประยุทธ์ และคสช.ก็คงเริ่มคิดได้แล้วว่า จะต้องมี ขุมกำลัง ของตัวเองอยู่ในห้องประชุมรัฐสภา ทั้งฝั่งส.ส.และ ส.ว. ไม่ใช่จะไปหวังพึ่งแต่พวกประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ที่มีความเชี่ยวกรากทางการเมืองสูงกว่าทหารหลายเท่า คสช.อาจตามเกมไม่ทัน เพียงแต่รูปแบบ จะทำออกมาอย่างไร ให้ดูเนียนในความรู้สึกของประชาชน ว่าไม่ได้ตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจ อยู่ยาวจนรากงอก ไม่ทำให้คนเกิดความรู้สึกว่า ทำรัฐประหารอยู่ยาวมาสี่ปี แล้วก็ตั้งพรรคการเมืองต่อทอดอำนาจไปเรื่อยๆ

เพราะจริงๆ แล้วเรื่องการตั้งพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนอยู่แล้วตามระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่จะทำอย่างไร ให้คนรู้สึกว่า หากทำพรรคการเมืองขึ้นมาจริง ก็ต้องไม่ใช่การเมืองแบบเก่าๆ โดยเฉพาะการไปซื้อตัว เซ็งลี้ อดีตส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น

การโยนหินถามทางแบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่วัดกระแสประชาชนได้เป็นอย่างดี ผนวกกับเป็นเรื่องดี ที่คสช.จะได้เห็น ปฏิกริยา ความรู้สึกจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะจากพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการทำพรรคการเมือง เข้าทำนอง รู้เขา รู้เรา ก่อนทำการศึก

ขณะที่บางฝ่ายก็วิเคราะห์ในเชิงการข่าวว่า เรื่องนี้ บิ๊กตู่ ไม่ได้หวังผลอะไรมาก อาจต้องการใช้วิธีการทางการข่าว คือสร้างประเด็นใหม่ ให้คนไปพูดถึงแต่เรื่อง 6 คำถาม เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสังคม จากเรื่องต่างๆ เช่น กระแสไม่พอใจผลงานรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จนมีการเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจล็อตใหญ่
 
ซึ่งหาก บิ๊กตู่ คิดและใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้ เพื่อหวั่งปั่นข่าวใหม่กลบข่าวเก่า ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

เพราะยังไม่ทันข้ามวัน ผู้คนก็พูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า สงสัย บิ๊กตู่ เอาแน่ กับเรื่องการเตรียมการทำพรรคการเมือง และการกลับมาเป็นนายกฯ รอบสอง
 
ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะได้พ่วงมาอีก ก็คือการทำให้ พวกข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงแม้แต่กลุ่มทุน ทั้งทุนระดับชาติ และทุนท้องถิ่น หรือพวกถุงเงินพรรคการเมืองบางพรรค เช่น เพื่อไทย เกิดความรู้สึกว่า คสช.คงไม่ยอมลงจากอำนาจทันทีหลังเลือกตั้ง ดังนั้นก็ต้องเต็มที่ อยู่กับฝ่ายคสช.ไปก่อน ในช่วงนี้ ผลก็คือ ข้าราชการก็ไม่เกียร์ว่าง ทำงานเต็มที่ เช่นเดียวกับพวกกลุ่มทุน ก็ต้องลังเลใจ หากจะไปหนุนหลัง ทักษิณ-เพื่อไทย เต็มสูบ ถ้าลงขันไปช่วยแล้ว เพื่อไทย ไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ขาดทุน แถมจะถูกเช็คบิลหากยอมเปิดตัวช่วยทักษิณ
 
สรุปได้ว่า การยิง 6 คำถาม ของบิ๊กตู่ในจังหวะนี้ ไม่ได้ทำให้เสียแต้มอะไร มีแต่ได้กับได้ ทางการเมือง

สำหรับ 6 คำถามดังกล่าว รีวิว กันอีกรอบ กับสาระสำคัญของแต่ละคำถาม

ซึ่งคำถามหลักใหญ่ จะอยู่ที่ 2 คำถามแรก ที่มีนัยยะสำคัญ คือ การวัดกระแสประชาชนถึงแนวทางการเกิดขึ้นหรือการตั้งพรรคการเมือง

เห็นได้จาก คำถามข้อที่ 1 เป็นการถามว่า จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่

และคำถามข้อที่ 2. ที่ถามว่า การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของคสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว

ขณะที่ คำถามข้อที่ 3 ถึงข้อที่ 6 หากเป็นหลักทฤษฏีการวิจัยเชิงคุณภาพ จะพบว่า อีก 4 คำถามที่เหลือ เป็นคำถามเชิงปลายเปิด ที่ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลคสช. กับรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงเพื่อต้องการให้ประชาชน พยายามเห็นถึงผลงานของรัฐบาลในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยไล่เรียงไปทีละข้อ คือ

ข้อ 3. ถามว่า สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

4. การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่

5 . รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่

6. เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมือง จึงออกมาเคลื่อนไหวด่า คสช. รัฐบาล นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริง ในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ
 
ใครอยากตอบคำถามก็ไป ไม่อยากยุ่งก็ปล่อยให้นักการเมืองถล่ม คสช.ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น