xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วม พายุ โลกร้อน และข้อคิดการอยู่ร่วมกับน้ำจากเนเธอร์แลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อประมาณ 2 เดือนมาแล้ว ผมได้ร่วมเสวนาในเวทีนักกิจกรรมทางสังคมแห่งหนึ่ง ผมได้นำเสนอความเห็นเชิงข้อมูลว่า จำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และแผ่นดินไหว มีความสัมพันธ์กับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์ หรือเกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนยิ่งปล่อยมาก ยิ่งเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยและรุนแรงขึ้น

หลังจากผมพูดเสร็จ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาและประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้แสดงความเห็นในวงกาแฟว่า “ผมไม่เชื่อว่าแผ่นดินไหวจะเกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อน แต่เรื่องพายุนะผมเชื่อ อาจารย์มีข้อมูลพายุไหม” ผมได้ตอบไปว่า “เป็นข้อมูลภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยรวมซึ่งเขาได้รวมเรื่องแผ่นดินไหวไปด้วย แต่ที่จำแนกออกเป็นประเภทๆ ด้วยนั้น ผมเคยเห็นมาบ้าง”

วันนี้ผมได้ข้อมูลจากบริษัทด้านประกันภัยแห่งหนึ่ง (Munich RE ก่อตั้งเมื่อ 137 ปีมาแล้ว) เป็นข้อมูลในช่วง 1980-2016 ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ทันสมัยมาก แต่ช่วงของข้อมูลอาจจะสั้นไปหน่อยสำหรับดูการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงยาวๆ โดยเฉพาะเรื่องแผ่นดินไหว ผมมีภาพและแหล่งอ้างอิงมาเสนอด้วยครับ

จากภาพนี้ เราจะเห็นว่า จำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (แม้ยังไม่ได้วิเคราะห์เชิงสถิติ) จากประมาณ 255 ครั้งต่อปี ในตอนเริ่มต้นเป็น 750 ครั้งต่อปีในช่วง 2 ปีสุดท้าย หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ถ้าคิดเฉพาะจำนวนครั้งที่เกิดน้ำท่วมและพายุรวมกันได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ครั้งต่อปี เป็นประมาณ 700 ครั้ง

แต่ในเรื่องแผ่นดินไหวผมเห็นด้วยกับอาจารย์ศศิน แม้เราจะเห็นว่าความสูงของ “แท่งสีแดง” ในช่วงหลังสูงกว่าในช่วงแรกอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าน่าจะ“ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ”

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเจาะลึกเรื่องแผ่นดินไหว จะต้องมีข้อมูลในช่วงที่นานกว่านี้มาก และจะต้องจำแนกระดับของความรุนแรงให้ชัดเจนอีกด้วย

อนึ่ง ผมเคยพบรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบางแห่งว่า สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวมีความสัมพันธ์กับการขุดเจาะปิโตรเลียม แต่มันมีกลไกอย่างไรผมไม่ทราบนะครับ

ผมเริ่มต้นด้วยข้อมูลจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติไปแล้ว คราวนี้มาดูข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกและของประเทศไทยกันบ้างครับ

เมื่อวันที่ 1 เดือนนี้ ทาง UNEP (United Nations Environment Program) ได้ออกรายงานเรื่อง The Emissions Gap Report 2017 เพื่อที่จะบอกว่ายังมี “ช่องว่าง”ระหว่างปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศต่างๆ ได้ลงนามว่าจะลดกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกในปี 2100 สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

พูดง่ายๆ ก็คือ แม้ว่าไม่มีประเทศใดเบี้ยวข้อตกลงเลย คือลดตามข้อตกลงกันทุกประเทศปริมาณที่จะลดลงได้รวมกันก็ยังไม่พอที่จะสู่เป้าหมายได้ แต่จะสามารถทำให้อุณหภูมิของโลกยังสูงถึง 3.4 องศาเซลเซียส นั่นคือ ต้องเพิ่มการลดให้มากกว่าเดิมอีก (กรุณาอ่านดีๆ นะครับ มันขัดๆ กันอยู่) ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ในแผนเดิมแล้วแหละ แต่เขาจะมีการประเมินใหม่ทุก 5 ปี

หลังปี 2030 ก็ต้องขอให้ลดลงอีก จนกระทั่งไม่มีการปล่อยอีกเลยในปี ค.ศ. 2080 ขอย้ำนะครับว่าหลังจากปี 2080 จะไม่มีการปล่อยอีกเลย

รายงานฉบับนี้ได้แบ่งก๊าซเรือนกระจกออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานฟอสซิลและการผลิตซีเมนต์รวมทั้งการขนส่งระหว่างประเทศ ส่วนนี้เป็นส่วนใหญ่ (70% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด-ผมประมาณอย่างคร่าวๆ จากกราฟ) โดยมีการปล่อยประมาณ 36,000 ล้านตันต่อปี

ส่วนที่สองเกิดจากการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การเน่าเปื่อยของซากพืชซากสัตว์และการใช้ปุ๋ยเคมี (ประมาณ 30%) โดยมีการปล่อยปีละประมาณ 16,000 ล้านหน่วย

สิ่งที่รายงานฉบับนี้พบก็คือ ปริมาณการปล่อยในส่วนแรกเริ่มคงที่ (หรือลดลงเล็กน้อย) มา 3 ปีติดต่อกันแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นข่าวที่ดีมาก แต่ในส่วนที่สองกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ในภาพข้างล่างนี้ ผมได้ตัดเอาเฉพาะส่วนแรกคือการใช้พลังงานฟอสซิล การผลิตซีเมนต์และการขนส่งระหว่างประเทศ ในช่วง 1970-2016 รวม 46 ปี โดยจำแนกเป็นรายประเทศและกลุ่มประเทศด้วย

เราจะเห็นว่าประเทศจีนซึ่งปล่อยมากที่สุด (ประมาณ 1 ใน 3 ของโลก) ได้ปล่อยคงที่มา 2 ปีติดต่อกันแล้ว ในขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ปล่อยลดลงมานานพอสมควรแล้ว

ที่น่าสนใจคืออินเดีย (ซึ่งประชาชนหลายร้อยล้านคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้) ได้ปล่อยน้อยกว่าที่เคยคาดหมายไว้ เพราะหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์กันจำนวนมากตามนโยบายของรัฐบาลที่จริงจังมาก โอกาสเหมาะๆ ผมจะลงลึกเรื่องนี้ครับ

คราวนี้มาดูกรณีการปล่อยของประเทศไทยบ้างครับ

คงจำกันได้นะครับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อตกลงปารีสเมื่อปลายปี 2558 แต่ในคำประกาศนั้นมีประเด็นที่นำไปสู่ปัญหา

กล่าวคือ ประกาศว่าจะลดลง 20% เมื่อเทียบกับระดับที่ได้พยากรณ์ไปข้างหน้าภายในปี 2030 หากไม่มีนโยบายเรื่องนี้มาเสริม หรือที่เรียกว่า “business-as-usual levels”

ที่เป็นปัญหาก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าเราได้พยากรณ์ไว้อย่างไรและเท่าใด หากเปรียบก็เหมือนกับพ่อค้าขายสินค้า โดยตั้งราคาไว้สูงกว่าความเป็นจริงมากๆ แล้วก็ลดราคาลงมาเพื่อให้ลูกค้าดีใจเล่น เรามาดูข้อมูลกันซึ่งผมได้ใช้ข้อมูลดิบของกระทรวงพลังงานมาเขียนกราฟเอง

จากตารางในภาพพบว่า ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ท่านนายกฯ ประกาศ ในขณะนั้นประเทศไทยได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 254 ล้านตัน แต่ในปีถัดมาเราได้ปล่อยจำนวน 257 ล้านตันซึ่งเพิ่มขึ้น 3 ล้านตัน

ทางราชการไทยก็ยืนยันว่าได้ลดการปล่อยลงมาแล้วจากระดับที่ได้พยากรณ์ไว้ แล้วใครจะไปทราบได้ว่าเขาได้พยากรณ์ไว้เท่าใด อาจจะ 262 ล้านตันก็ได้ ถ้าอย่างนั้นเขาก็คุยโม้ได้ว่า เห็นไหมได้ลดลงแล้วถึง 5 ล้านตัน

อนึ่ง ผมเข้าใจว่าข้อมูลที่ผมนำเสนอนี้ การปล่อยก๊าซในภาคการผลิตไฟฟ้า ไม่มีการนับรวมจากการผลิตจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ ซึ่งตั้งอยู่ใน สปป.ลาว และในปี 2559 ประเทศไทยได้ซื้อไฟฟ้าจากโรงนี้จำนวนกว่า 9 พันล้านหน่วย ถ้านำมารวมด้วยก็คงจะมากกว่านี้อีกเยอะ

โดยสรุปเบื้องต้นได้ความว่า เรื่อง น้ำท่วม พายุ และโลกร้อน รวมถึงการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นเรื่องเดียวกันนะครับ โดยมีเรื่องพลังงานฟอสซิลเป็นต้นเหตุสำคัญ

วันก่อนผมเห็นท่านนายกฯ ประยุทธ์ ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในหลายจังหวัด ผมดีใจครับ แต่ท่านน่าจะตามตรวจแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ท่านไปลงนามไว้ด้วย เพราะนี่คือต้นเหตุของปัญหา และเป็นศักดิ์ศรีของประเทศ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงตรัสเมื่อปี 2532 ว่า “เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น ทั้งนี้ก็เชื่อว่า เป็นความดีของประเทศไทย...” (https://mgronline.com/Daily/detail/9590000108456)

เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำท่วม ผมได้พบบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ท่านหนึ่ง (Chris Zevenbergen - professor of flood resilience of urban systems at the IHE Delft Institute for Water Education in the Netherlands.) ท่านกล่าวว่า

“ในขณะนี้ เราได้เปลี่ยนผ่าน จากที่เคยเชื่ออย่างหนักแน่นว่าเราสามารถพยากรณ์และควบคุมธรรมชาติได้ แต่ปัจจุบันเรากำลังเคลื่อนไปสู่ยุคของการยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้แล้ว เราจำเป็นจะต้องอยู่กับความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและพัฒนาการด้านเศรษฐกิจสังคม”

ในเรื่องน้ำท่วม เราได้เปลี่ยนจากกระบวนทัศน์เดิมคือ การสร้างเขื่อนกั้นริมแม่น้ำ แต่ปัจจุบันเราได้เคลื่อนกระบวนทัศน์ใหม่ไปสู่คือ การหาที่ให้น้ำอยู่ เราทำให้แม่น้ำกว้างขึ้นรวมทั้งสร้างสิ่งซึ่งเขาเรียกว่า Polder ขนาดใหญ่ (เป็นที่ลุ่ม น่าจะคล้ายกับโครงการแก้มลิงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงคิดและทำแล้ว) “เราไม่ต่อสู้กับน้ำ แต่เราจะอยู่ร่วมกับน้ำ” ศาสตราจารย์ท่านนี้กล่าว

ท่านที่สนใจลองค้นหาอ่านเพิ่มเติมจากกูเกิล โดยพิมพ์คำว่า “The Netherlands, always vulnerable to floods, has a new approach to water management” ซึ่งเขียนโดย Adam Wernick

วันนี้ผมได้กล่าวถึงหลายเรื่องก็จริงอยู่ แต่ทุกเรื่องเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ หรือ paradigm shift เพราะเหตุผลของเมื่อวานไม่อาจนำมาแก้ปัญหาของวันพรุ่งนี้ได้อีกแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น