xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หักเงินเดือนลูกจ้าง”ค้างหนี้กยศ. ใช้ปีหน้าทวงหนี้ค้างชำระ5.5แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เตรียมประกาศใช้จริงแล้ว สำหรับกฎกระทรวง (พ.ศ. ....) ออกตามความในพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 (กองทุน กยศ.) ของกระทรวงการคลัง ซึ่งกำหนดให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างได้ เพื่อคืนให้กับกองทุน กยศ. ตามความในพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ใหม่ กำหนดให้นายจ้างหักเงินเดือนจากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ของกองทุนฯ เพื่อส่งเข้ากรมสรรพากร เช่นเดียวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายในเดือนนั้นๆ ซึ่งพ.ร.บ.ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
 
ปัจจุบัน กยศ.มีลูกหนี้อยู่ประมาณ5.3ล้านคน ยอดหนี้ค้างชำระรวม 5.5 แสนล้านบาท โดยมีผู้ผิดชำระหนี้มากถึง 2 ล้านราย อยู่ระหว่างการฟ้องดำเนินคดี 1.2 ล้านราย

รายละเอียดขั้นตอนต่างๆในขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำความเข้าใจให้นายจ้าง และลูกหนี้ โดยมีการดำเนินการขอข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้ยืม จากหน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เเละออกเป็นกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ ของกองทุนฯ เพื่อรองรับ พ.ร.บ. คาดว่าจะเริ่มหักได้ประมาณปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติหลักการ ร่าง กฎกระทรวง (พ.ศ...) ฉบับนี้แล้ว เช่นเดียวกับ กยศ. ก็เผยแพร่ในเว็บไซต์เพื่อขอความเห็น ระหว่างนำเสนอครม. มีความเห็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นความลับที่ไม่มีการนำเสนอต่อสาธารณชน เพราะคนที่จะเสนอความเห็นนั้น จะต้องลงทะเบียน รายชื่อ รายละเอียดต่างๆ โดยเก็บความเห็น"เป็นความลับ"

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ที่ครม.เห็นชอบนั้น ประกอบด้วย กำหนดวิธีการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงิน โดยให้กองทุนฯ มีหนังสือหรือทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงาน หรือองค์กรภาครัฐ หรือเอกชน ซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงิน พร้อมกับแจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการขอและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ให้กองทุนฯ ขอได้เท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนฯ และการติดตามการชำระเงินคืนกองทุนฯ เท่านั้น

กำหนดให้หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงินจัดส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันให้กองทุนฯ ในรูปแบบเอกสาร หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบที่มีอยู่ หรือตามรูปแบบที่กองทุนฯ กำหนดภายในเวลาสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากกองทุนฯ , กำหนดวิธีการขอให้เปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุนฯ โดยให้หน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐและเอกชนหรือบุคคลใดที่จะขอข้อมูลดังกล่าวของผู้กู้ยืมเงินมีหนังสือร้องขอมายังกองทุนฯ หรือทำเป็นบันทึกข้อตกลง โดยระบุวัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลไปใช้ พร้อมทั้งแนบหนังสือหรือหลักฐานที่ผู้กู้ยืมเงินได้ให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูล

กำหนดให้กองทุนฯ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุนฯ แก่ผู้ร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้แจ้งกำหนดเวลาที่สามารถจะส่งข้อมูลให้ผู้ร้องขอทราบ กำหนดให้หน่วยงานหรือผู้ร้องขอที่ได้รับข้อมูลจากกองทุนฯ จะต้องไม่ใช้ข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับกองทุนฯ และจะไม่นำข้อมูลนี้ไปเปิดเผยต่อไปยังบุคคลภายนอกหรือบุคคลอื่น ซึ่งไม่มีอำนาจในการเข้าถึงหรือใช้ข้อมูล รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการหรือระบบการเก็บรักษาข้อมูลให้เหมาะสมและปลอดภัย

กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนฯ จัดให้มีมาตรการ หรือระบบการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการกู้ยืมเงินให้เหมาะสมและปลอดภัย และกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนฯ จัดให้มีการทำบัญชีแสดงรายการข้อมูลส่วนบุคคล และเปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงิน ในรูปแบบเอกสาร หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเหมาะสม ถูกต้องและเป็นปัจจุบันรวมทั้งต้องส่งรายงานสรุปดังกล่าวให้คณะกรรมการกองทุนฯ ทราบ

ข้างต้นนั้น เป็นหลักการที่เสนอ ครม. แต่สำหรับ“ร่างกฎกระทรวงฉบับเต็ม”นั้น พบว่า มีการตราไว้ 3 หมวด 15 ข้อ ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 45 แห่งพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกกฎกระทรวงไว้

มีการร่างนิยามของ “ข้อมูลส่วนบุคคล”หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวผู้กู้ยืมเงินได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้กู้ยืมเงิน เช่น ชื่อ ชื่อสกุล อาชีพ สถานที่ทำงาน เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง ภูมิลำเนา ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้อันรวมถึงที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อื่นใดที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัญชีเงินฝากทุกประเภท และข้อมูลอื่นใดที่มีความสำคัญเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนกองทุน และ นิยามของ“ข้อมูลการกู้ยืมเงิน”หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมเงินโดยกฎกระทรวงฉบับนี้ให้ “คณะกรรมการ”ที่กรมสรรพากร แต่งตั้ง มีอำนาจออกข้อบังคับ ระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งประกอบด้วย หมวด 1 ว่าด้วย การขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงิน หมวด 2 ว่าด้วย การเปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงิน และหมวด 3 ว่าด้วย มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการกู้ยืมเงินของผู้กู้ยืมเงิน
 
ซึ่งทั้ง 3 หมวด 15 ข้อ มีประเด็นที่น่าสนใจเช่น ข้อ 3-8 ว่าด้วย การขอข้อมูลจะผ่านรูปแบบเอกสารหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีชั้นความลับและเพื่อป้องกันการรั่วไหล มีระยะเวลาขอได้ภายในสามสิบวัน ประกอบไปด้วย 1. ชื่อผู้กู้ยืมเงินรายที่ประสงค์จะขอ และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 2. วัตถุประสงค์ของการขอ และการนำข้อมูลการกู้ยืมเงินไปใช้ 3. รายการของข้อมูลการกู้ยืมเงินที่ขอ และ 4. หนังสือหรือหลักฐานแสดงว่าผู้กู้ยืมเงินได้ให้ความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงิน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเงิน

ข้อ 9 ว่าด้วยความยินยอม ระบุว่า“กรณีผู้กู้ยืมเงินเป็นผู้เยาว์”ให้ผู้ปกครองหรือ ผู้แทนโดยชอบธรรมร่วมให้ความยินยอมก่อน รวมถึง จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบตัวตนของผู้กู้ยืมเงินและผู้ปกครองหรือ ผู้แทนโดยชอบธรรมด้วย

ส่วนข้อ 13 ย้ำว่า หน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลผู้ได้รับข้อมูลจะต้องไม่นำข้อมูลการกู้ยืมเงินที่กองทุนได้เปิดเผยดังกล่าวไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น

ข้อ 15 ให้ผู้จัดการจัดให้มีการทำบัญชีแสดงการขอข้อมูลส่วนบุคคลและบัญชีแสดงการเปิดเผย ข้อมูลการกู้ยืมเงิน ในรูปแบบเอกสารหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความเหมาะสม ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐานและเพื่อการเรียกใช้ ทั้งนี้ ตามรูปแบบที่คณะกรรมการกำหนด

สุดท้ายให้จัดทำรายงานสรุปแสดงการขอข้อมูลส่วนบุคคลและการเปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงิน ในภาพรวมพร้อมปัญหาและอุปสรรค ให้คณะกรรมการทราบทุกรอบระยะเวลาหกเดือน
 
โดยร่างฉบับเต็มนั้น ยังอยู่ในขั้นตอน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนส่งกลับไปให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการฯต่อไปได้ โดยคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้ช่วงปีใหม่ 2561


กำลังโหลดความคิดเห็น