xs
xsm
sm
md
lg

ความจนแก้ได้ โดยใช้วิถีพุทธ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า”

จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนไม่มีทรัพย์เป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้แม้การกู้หนี้ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ย ก็เป็นในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกทวง ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำก็เป็นในโลกของผู้บริโภคกาม

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้ นี่คือพุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น ความจนหมายถึงการไม่มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง

แต่คนจน จะดำรงชีพอยู่ได้จะต้องมีปัจจัย 4 สนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกันจะแตกต่างกันก็เพียงคุณภาพ และราคาของสิ่งสนองความต้องการเท่านั้น และปัจจัย 4 ที่ว่านี้ก็คือ 1. อาหาร 2. เครื่องนุ่งห่ม 3. ที่อยู่อาศัย 4. ยารักษาโรค รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่าที่จำเป็นต่อการรักษา

ดังนั้น คนจนซึ่งไม่มีทรัพย์สินเงินทอง แต่มีความจำเป็นต้องมีปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิตจึงต้องกู้ยืมเงินจากนายทุนเงินกู้ และต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกัน

ในอดีตก่อนที่มีการเลิกทาสในประเทศไทย ถ้าลูกหนี้เงินกู้ไม่จ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด นายทุนจะนำตัวลูกหนี้หรือบุตร ธิดามาทำงานแทนดอกเบี้ยที่เรียกว่า ทำงานขัดดอก และนายทุนได้ใช้แรงงานเยี่ยงทาสเรียกว่า ทาสน้ำเงิน และถ้าบังเอิญทาสมีครอบครัวลูกที่เกิดมาก็เป็นทาส เช่นเดียวกับพ่อแม่เรียกว่าทาสในเรือนเบี้ย

ส่วนว่าความเป็นอยู่ของทาสเป็นอย่างไร ลองอ่านนวนิยายเรื่องทาสในเรือนเบี้ยของหลวงวิจิตรวาทการ และเรื่องลูกทาสของไม้เมืองเดิม

ส่วนคนจนในปัจจุบันได้มีการเรียกชื่อเป็นทางการว่า ผู้มีรายได้น้อย โดยกำหนดรายได้ต่อปีเป็นเกณฑ์ชี้วัดความจนมากหรือจนน้อย จะเห็นได้จากการกำหนดรายได้เพื่อให้การช่วยเหลือจากรัฐบาล

ไม่ว่าจะเรียกคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย ถ้ายังเป็นหนี้เพื่อนำมาซื้อหาปัจจัย 4 ก็เข้าข่ายเป็นคนจน และเป็นทุกข์ ตามนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น

แต่คนจนในปัจจุบันอาจเป็นทุกข์จากการเป็นหนี้น้อยลง เมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากไม่ต้องมาทำงานขัดดอกในกรณีไม่จ่ายดอกเบี้ยเนื่องจากได้มีการเลิกทาสไปแล้ว ถ้ามาทำงานให้นายทุนก็จะได้รับค่าจ้าง และสามารถนำไปหักดอกและเงินต้นได้ ทั้งเป็นทุกข์น้อยลงจากการทวงหนี้ เนื่องจากมีกฎหมายปกป้องลูกหนี้ในรูปแบบป่าเถื่อน เช่น ด่าทอ และทำร้ายร่างกายลูกหนี้ เป็นต้น แต่ยังเป็นทุกข์จากการต้องหาเงินมาจ่ายคืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น รวมไปถึงการถูกฟ้องล้มละลายถ้าหากไม่สามารถจ่ายคืนตามกำหนด

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลกตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ยังคงเป็นอกาลิโกคือเป็นความจริงตลอดกาล ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่มิได้หมายความว่าคนที่ยากจนจะต้องเป็นคนจนตลอดกาล และพระพุทธเจ้าได้สอนแนวทางแก้ความยากจนไว้ให้พุทธบริษัทได้ศึกษา และปฏิบัติเพื่อแก้ความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มด้วยการสอนให้พึ่งตนเอง โดยยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน (อตฺตหิ อตฺตโน นาโถ) ก่อนในทำนองเดียวกันกับคนขับเกวียนในหนังสือนิทานอีสป เรื่องเทวดากับคนขับเกวียน เมื่อล้อเกวียนติดหล่ม และยืนอ้อนวอนให้เทวดาช่วย แต่เทวดาบอกให้ช่วยตนเองก่อน โดยเอาบ่าดันล้อเกวียนให้สูงขึ้นก่อนแล้วไล่ให้เดินไปข้างหน้า ในที่สุดล้อเกวียนก็พ้นจากหล่ม โดยการบอกวิธีแก้ปัญหาของเทวดา

ในเรื่องของคนจนก็ทำนองเดียวกัน แทนที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย และนั่งรอเพียงอย่างเดียว ก็ควรจะพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยการเป็นคนขยันอดทนในการประกอบอาชีพด้วยศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่ และใช้จ่ายอย่างประหยัด ส่วนรัฐบาลก็ควรทำตนเยี่ยงเทวดา แทนที่จะลงไปช่วยด้วยการพักหนี้ และนำเงินไปช่วยโดยตรง แต่ควรช่วยโดยการแนะนำวิธีการทำงานประกอบอาชีพ รวมไปถึงการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างประหยัด แทนที่จะลงไปแบกรับภาระทางด้านการเงินแทนคนจน ด้วยนโยบายประชานิยมหรือนโยบายภายใต้ชื่ออื่นใด แต่มีเนื้อหาของนโยบายในทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตามแนวทางทุนนิยมจากโลกตะวันตกที่ยึดติดตัวเลขเป็นตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ และวิธีแรกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ก็คือการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในรูปแบบต่างๆ และหนึ่งในรูปแบบก็คือ การเทเม็ดเงินให้กับคนจนมีกำลังซื้อสินค้าและบริการ เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอด และหวังให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น

แต่ในความเป็นจริง การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ ทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น หรืออย่างน้อยรักษาความรวยไว้ได้เท่าเดิม แต่คนจนจะยังคงจนเหมือนเดิม และมีแนวโน้มจะเพิ่ม เนื่องจากมีหนี้เพิ่มขึ้นจากโครงการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อสนองนโยบายในระบอบทุนนิยม ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีการนำนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งมาใช้ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอนุมานในเชิงตรรกะได้ว่า การบริหารเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยมแบบสุดโต่ง จะได้ผลก็เพียงทำให้ธุรกิจการเมืองรุ่งเรืองขึ้น แต่ไม่ช่วยให้ความยากจนลดลง และหมดไปจากประเทศไทย ตรงกันข้ามคนจนจะเพิ่มจำนวนขึ้น และความจนจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งนี้จะเห็นได้จากปัญหาสังคมที่มีเหตุผลมาจากความจนได้เพิ่มขึ้น และจากการลงทะเบียนคนจนเพื่อรองรับการช่วยเหลือจากรัฐล่าสุดมีจำนวนถึง 11 ล้านราย

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในปัจจุบันและในอนาคตต่อจากนี้ ควรจะได้ทบทวนสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอดีต และส่งผลกระทบในทางลบอยู่ในปัจจุบัน แล้วหันไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้แนวทางของพุทธศาสนาอันเป็นรากเหง้าหรือที่มาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มด้วยการให้คนจนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในฐานะเป็นผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตตามแนวทางของพุทธ โดยยึดหลักธรรมดังต่อไปนี้

1. ขยัน อดทน และประหยัด ซึ่งมีคำสอนในเชิงอุปมาอุปไมยว่าผู้ที่อยู่ครองเรือนคือคฤหัสถ์จะต้องมีความขยันและอดทน เฉกเช่นตัวผึ้งที่ต้องเที่ยวบินหาน้ำหวานจากเกสรทีละน้อยสะสมจนกลายเป็นน้ำผึ้งเต็มรวงผึ้ง และในขณะเดียวกัน สอนให้ประหยัดโดยดูตัวอย่างการใช้ยาหยอดตาแม้หยอดทีละหยดก็หมดขวดได้ ในทำนองเดียวกับเงินแม้ใช้ทีละน้อยบ่อยๆ เข้าก็หมดได้

2. สอนให้มีการบริหารรายได้ โดยแบ่งรายได้ทุกครั้งที่หามาได้ออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน แล้วใช้ 1 ส่วนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ที่ควรช่วยเหลือด้วย 2 ส่วนเพื่อเป็นทุนในการประกอบธุรกิจการงาน และอีก 1 ส่วนสุดท้ายให้เก็บออมไว้ใช้ในคราวจำเป็นเร่งด่วน

3. ให้ยึดหลักสันโดษ 3 ประการคือ

3.1 ยินดีตามที่หาได้ (ยถาลาภสันโดษ)

3.2 ยินดีตามกำลังของตน (ยถาพลสันโดษ) คือทำเต็มที่ ได้แค่ไหนให้ยินดี แค่นั้นอย่าโลภและอยากได้เกินกำลังของตน

3.3 ยินดีในสิ่งที่เหมาะกับตน (ยถาสารุปปสันโดษ) คือไม่อยากมี ไม่อยากเป็นเกินฐานะของตนเอง

4. รัฐบาลควรจะได้ดำเนินการโดยยึดหลักธรรมดังต่อไปนี้

1. ราชสังคหวัตถุ 4 ซึ่งเป็นหลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครองคือ 1. สะสะเมธัง หมายถึงความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร 2. ปุริสะเมธัง ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ 3. สะสะมาปะลัง รู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมเพื่อเป็นทุนไปสร้างตัวในการค้าขาย เป็นต้น 4. วาจาเปยยัง รู้จักพูดด้วยวาจาไพเราะ สุภาพนุ่มนวล มีเหตุมีผลเป็นที่นิยมเชื่อถือ

2. เดินตามแนวนโยบายของพราหมณ์ปุโรหิตที่แนะนำให้แก้ปัญหาโจรผู้ร้าย มิใช่ด้วยการฆ่าหรือจองจำ แต่แก้ด้วยการจัดการทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วยหลัก 3 ประการคือ 1. แจกพันธุ์พืชแก่เกษตรกรในชนบทที่มีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพ 2. ให้ทุนพ่อค้าที่มีความอุตสาหะในการทำการค้า 3. ให้อาหารและค่าจ้างแก่ราชการ เพียงพอแก่การดำรงชีพไม่เดือดร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น