xs
xsm
sm
md
lg

แก้กม.นำเข้าหมู เอาใจมะกัน!-ผู้เลี้ยงลั่นฟ้องแหลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360- ไทยจ่อไฟเขียวนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ หลังพบล่าสุดหน่วยงานรัฐเตรียมแก้ไขกฎหมาย ยอมให้นำเข้าได้โดยไม่ผิด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงและในเนื้อสัตว์และเครื่องในที่นำเข้า "พาณิชย์" แจงไทยต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน CODEX ไม่ทำเสี่ยงเจอฟ้อง ย้ำจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าแต่อย่างใด ด้านผู้เลี้ยงลั่น เตรียมฟ้องแหลก เหตุทำให้อุตสาหกรรมหมูเสียหาย ด้าน ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ชี้ไทยซื้อถ่านหินสหรัฐฯ ไม่ขัดปฏิญญาปารีส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลไทยไม่ได้แถลงข่าวถึงการหารือ เรื่องที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยนำเข้าเนื้อหมู และเครื่องใน ที่มีสารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) โดยมีการระบุเพียงว่า กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศ จะหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง แต่มีความเป็นไปได้ว่า ไทยจะยอมตามที่สหรัฐฯเรียกร้อง และอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมู และเครื่องใน ที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ เพราะล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการหารือเรื่องดังกล่าว และศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายของกรมปศุสัตว์ กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงทุกประเภท เพื่อให้ไทยสามารถนำเข้าหมู และเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯได้

ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่า อาจต้องทำให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX)ที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมู และอนุญาตให้มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อหมูและเครื่องในได้ในปริมาณเล็กน้อย หรืออาจแก้ไขให้สามารถนำเข้าหมู และเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงได้ แต่ยังคงห้ามเกษตรกรในประเทศใช้ในการเลี้ยงโดยเด็ดขาด และหากมีการแก้ไขกฎหมายจริง จะต้องใช้ระยะเวลา กว่าที่จะมีการนำเข้าได้จริง เพราะตามขั้นตอนกฎหมาย จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์มี พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ห้ามผู้เลี้ยงผสมสารเร่งเนื้อแดงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงหมู เพราะจะทำให้สารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อสัตว์ และผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภค และยังห้ามเนื้อสัตว์ และเครื่องใน ที่นำเข้าจากต่างประเทศใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงและห้ามมีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างด้วย ขณะที่ อย. มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ โดยห้ามมีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อสัตว์และหมูในประเทศอย่างเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ชี้แจงแนวทางการนำเข้าหมูว่า เมื่อเดือนก.ค.55 คณะกรรมาธิการ CODEXซึ่งเป็นหน่วยงานสากล ที่กำหนดมาตรฐานอาหาร และกำหนดค่าปริมาณการตกค้างสำหรับสารเร่งเนื้อแดง ได้กำหนดค่าปริมาณสารตกค้างที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในเนื้อสุกร 4 ชนิด คือ กล้ามเนื้อ ไขมัน ตับ และไต ทำให้สหรัฐฯและแคนาดา ผลักดันให้ไทยเร่งดำเนินการยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างไม่เกินมาตรฐานที่ CODEXกำหนด และปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับ CODEX

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขดังกล่าว ไทยจะต้องมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นประเทศการค้าและเป็นสมาชิกของ CODEX และองค์การการค้าโลก (WTO)หากไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจจะถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องได้ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนายกระดับการผลิตของไทยสู่สากล

สำหรับการนำเข้าหมูปลอดสาร ประเทศไทยไม่มีข้อจำกัดในการนำเข้า โดยหากจะนำเข้า ต้องมาขออนุญาตดำเนินกระบวนการตรวจสอบด้านสุขอนามัยก่อน ส่วนการนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างจากสหรัฐฯ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้นำเข้า เพราะจะต้องผ่านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมาพิจารณาว่า จะมีแนวทางในดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศและผู้บริโภค

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ทั้ง 2 ประเทศ ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 2 ชุด ซึ่งเป็นชุดของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงเรื่องการนำเข้าหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ ส่วนจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ยังไม่ทราบ แต่หากจะแก้ไขจริง คงต้องหารือ และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน เช่น จะแก้ไขกฎหมายของกรมปศุสัตว์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อน รวมถึงไทยต้องแก้ไขพันธกรณีที่ผูกพันไว้กับ CODEX ที่ไทยระบุจะไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด

"การแก้ไขกฎหมายภายในของไทยหรือไม่ ผมยังไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ ถ้ามีการนำเข้าจริง ผู้เลี้ยงหมูจะคัดค้าน และฟ้องร้องผู้ที่ทำให้เสียหายจนถึงที่สุด เพราะการนำเข้าจะส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงหมู และผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พืชไร่ ที่ทำอาหารสัตว์" นายสุรชัยกล่าว

**ไทยซื้อถ่านหินสหรัฐฯ ไม่ขัดปฏิญญาปารีส

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนของไทย ทำสัญญาซื่้อถ่านหินจากสหรัฐ อเมริกาว่า เอกชน สามารถดำเนินการได้ ตามกลไกทางธุรกิจที่จะเลือกใช้เชื้อเพลิงจากประเทศใดก็ได้ ซึ่งเดิมเอกชนมีการนำเข้าอยู่แล้ว และประเด็นนี้ ก็ไม่ขัดต่อข้อผูกพันของไทยในปฏิญญาปารีส ว่าด้วยการลดโลกร้อนด้วย เพราะในส่วนของแผนงานของรัฐบาล ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558 -2579 (พีดีพี 2015) ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอยู่มากแล้ว

ทั้งนี้ แผนพีดีพี 2015 มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้า 37% จาก 0.560 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ในปี 2556 จะเหลือ 0.319 กิโลกรัม ต่อหน่วยในปี 2579 จากการดำเนินงานทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า ซึ่งตามแผน พีดีพี 2015 ต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก ซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าฐาน โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังน้ำ แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล เป็นพลังงานเสริม ซึ่งมุ่งเน้นการกระจายการเชื้อเพลิงอย่างสมดุล และรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

สำหรับประเด็นการนำเข้าถ่านหินทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 55 -60 สัดส่วนการจัดหาถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการที่ราคาถ่านหินอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น โดยในปี 60 ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 57% ของการใช้ในประเทศทั้งหมด คือ การผลิตไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรม ส่วนการผลิตในประเทศ มีประมาณ 43% ซึ่งตั้งแต่ปี 55 -60 การใช้ถ่านหินนำเข้า เฉพาะในภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 60 อยู่ที่ระดับ 11,054 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.1%

"ดังนั้น การวางแผนด้านพลังงานของไทย จึงสอดคล้องกับกระแสโลกในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า และมาตรการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ตามที่มีการกล่าวอ้างกันแต่อย่างใด" นายทวารัฐ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น