xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"จี้"บิ๊กตู่"ตอบให้ชัด จะเป็นผู้เล่นหรือผู้คุมกติกาเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนในครม.สัญจรที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 18 ก.ย. โดยมีอดีตส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ไปร่วมต้อนรับว่า เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของพื้นที่ หรือเจ้าภาพจะไปต้อนรับ ซึ่งการลงพื้นที่ของนายกฯ ที่ไปดูงานเรื่องการเกษตรในพื้นที่แปลงนาสาธิตของ นายประภัตร โพธสุธน อดีตเลขาฯ พรรคชาติไทยพัฒนา การที่มีอดีต ส.ส.พรรค ไปร่วมต้อนรับ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และการที่นายกฯ จะคุยกับนักการเมืองบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
เมื่อถามว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการจับมือระหว่างทหาร กับพรรคชาติไทยพัฒนา ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องไปถามพล.อ.ประยุทธ์ กับคนที่ไปต้อนรับ แต่การพูดคุยกัน จะไม่มีอะไรเสียหาย หากนำปัญหาของพี่น้องประชาชนไปเป็นตัวตั้ง และเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะเป็นการจับขั้วทางการเมืองในเวลานี้ เพราะนายกฯก็พูดเองว่า จะดูแลกติกาเลือกตั้งให้ผู้เล่น ส่วนที่นายกฯบอกว่า อย่าเอานายกฯไปเป็นผู้เล่นด้วยนั้น ก็อยู่ที่ตัวท่านนายกฯจะต้องกำหนดตัวเองว่า จะเป็นผู้เล่น หรือไม่ เพราะนายกฯเป็นคนเดียวที่จะตอบได้
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายประภัตร ระบุว่า ยังไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ให้อยู่ยาวเพราะบรรยากาศยังไม่มีความปรองดอง ว่า เข้าใจว่านายประภัตร คงกังวลเรื่องความขัดแย้ง แต่ตนยืนยันว่าการไม่เดินตามโรดแมป ที่คสช.กำหนดไว้นั้น จะเกิดความเสียหายมากกว่าการที่อ้างว่าหากกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตยแล้วจะมีปัญหา ก็จะทำให้หลงทางอีก หน้าที่ของคสช. จึงต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่า การเลือกตั้งตามแผนที่คสช. กำหนด จะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยอย่างไร จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือ จากกลุ่มไหน ก็ให้ดำเนินการไป เพราะคสช.และแม่น้ำ 5 สาย เป็นผู้กำหนดทุกอย่าง
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในกลางปี 61 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ มีการประกาศใช้ ส่วนกกต.ชุดปัจจุบัน ก็ยังคงทำหน้าที่รักษาการต่อไป และมีอำนาจตามปกติจนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่ ซึ่งคงไม่เป็นปัญหาต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น ทางกรธ. ยืนยันแล้วว่า จะต้องส่งมายังสนช. ภายในต้นเดือนธ.ค.นี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะล่าช้าออกไป เพราะเป็นกรอบเวลาตามรธน. และเมื่อส่งมายังสนช.แล้ว สนช. ก็ต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นำขึ้นกราบบังคมทูลฯ และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
" แต่จากตัวอย่างที่เห็นมาแทบทุกฉบับ มีการโต้แย้งและต้องตั้งกมธ.ร่วม คงต้องดูต่อไปว่า จะมีการตั้งกมธ.ร่วม ในร่างกฎหมายส.ส.และส.ว.หรือไม่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ยาก เพราะต้องรับฟังความเห็นพรรคการเมือง และประชาชนจำนวนมาก ซึ่ง สนช.ก็ได้เตรียมการศึกษาล่วงหน้าเอาไว้ก่อนแล้ว" นายพรเพชร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากพ้นกำหนด 240 วัน ที่กรธ.มีหน้าที่เสนอร่างกฎหมายเลือกตั้งให้กับสนช. แต่เกิดกรณีที่ สนช. ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับใดฉบับหนึ่ง กรธ. ต้องเป็นคนยกร่างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักการ ส่วนกรอบเวลาจะถูกบังคับโดยสภาพการณ์ ที่จะต้องทำให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เอาเป็นว่าอย่าไปสมมติเลย เพราะมันถูกบังคับโดยสภาพการณ์อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีการปรองดองก่อนการเลือกตั้ง นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าประเด็นนี้ ใครเป็นคนตั้ง อย่างไรก็ตาม การสร้างความปรองดอง เป็นสิ่งเราเรียกร้อง แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไข การปรองดองเป็นเป้าหมายของคสช. ส่วนการเลือกตั้ง ก็ดำเนินการตามโรดแมป
กำลังโหลดความคิดเห็น