xs
xsm
sm
md
lg

‘สมคิด’ดึงทุนญี่ปุ่นปักหมุดหลักในอีอีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- ไทย-ญี่ปุ่นชื่นมื่นพร้อมร่วมมือขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ไทยหวังญี่ปุ่นปักหมุดลงทุนสิ้นปีนี้และเป็นนักลงทุนหลักในอีอีซี "สมคิด"ลั่นไทยญี่ปุ่นหุ้นส่วนชีวิตวาง 4 แนวทางร่วมมือ ย้ำไทยศูนย์กลางภูมิภาคเชื่อมOne Belt One Road จีบญี่ปุ่นร่วมพัฒนารถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก(East West Corridor) "อุตตม"ยันมีกฏหมายรองรับนโยบายจะไม่เปลี่ยน ลงพื้นที่วันนี้(13ก.ย.) ควงญี่ปุ่นดูพื้นที่อีอีซี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสการพบปะนักลงทุนญี่ปุ่นและไทยประมาณ1,200ราย และเป็นสักขีพยานการลงนาม 7 ฉบับระหว่างหน่วยงานไทยและญี่ปุ่นในงานสัมมนา Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ว่า การหารือกับร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหรือเมตินั้นไทยมีแนวทางที่สำคัญ 4 เรื่องได้แก่ 1.ความร่วมมือการพัฒนารถไฟเชื่อมตะวันออกและตะวันตก(East West Corridor) ที่จะเชื่อมโยงจากเวียดนาม สปป.ลาว ไทย เมียนมาร์เพื่อเชื่อมไปยังอินเดีย ซึ่งในไทยก็จะเชื่อมกับระเบียงเขตศก.พิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งญี่ปุ่นเองมีความสนใจ

2. ต้องการให้เมติ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ ของไทยหารือกันมากขึ้นและครอบคลุมความร่วมมือไปยังอาเซียน 3. ญี่ป่นต้องการให้ไทยเป็นตัวกลางเพื่อนบ้านในการร่วมมือเช่น การพัฒนาบุคลากร. ตลาดทุน 4. ญี่ปุ่นมีนโยบาย Connected Industries ซึ่งก็สอดรับกับอุตสาหกรรม 4.0 ของไทยที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย

" นักลงทุนญี่ปุ่นได้เข้าพบนายกฯของไทยเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ถือเป็นภาพที่จะสื่อไปทั่วโลกว่าทำไมต้องเป็นประเทศไทยเพราะไทยคือศูนย์กลางในภูมิภาคนี้เพราะอนาคต 10 ปีข้างหน้าเป็นเวลาของภูมิภาคเอเชียอย่างแน่นอน และไทยคือส่วนหนึ่งของเส้นทาง One Belt One Road ของจีนทุกเส้นทางต้องผ่านไทย หากญี่ปุ่นยอมเชื่อผมซักนิดพัฒนาเส้นอีสเวส คอร์ริดอร์ จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อไปยังเวทีการค้าโลกทั้งหมด" นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีบทบาทสูงสุดในการช่วยเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาและกำลังจะร่วมกันขับเคลื่อนไปข้างหน้าความเป็นหุ้นส่วนของญี่ปุ่นจึงถือเป็นหุ้นส่วนชีวิตของทั้งสองประเทศหมายถึงอนาคตจะเป็นอย่างไรความสัมพันธ์จะอยู่เหนือกาลเวลา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การร่วมมือกับญี่ปุ่นครั้งนี้จะมุ่งเน้น 3 เรื่องได้แก่ (1.) การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 (2.)ความร่วมมือการพัฒนาเอสเอ็มอี และ (3.) ร่วมพัฒนาอีอีซี ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่เป็นโรดแมพในการพัฒนาประเทศไทยระยะ 20 ปี

"ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนและญี่ปุ่นเองถือเป็นมิตรที่สำคัญที่จะร่วมมือกันซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศโดยเราคาดหวังว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซีน่าจะเห็นชัดเจนในสิ้นปีนี้" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

อีอีซีถือเป็นโครงการสำคัญที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาก. โดยพื้นที่มีการพัฒนารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ระบบดิจิทัล ฯลฯ โดยเฟสแรก 5 ปีเราคาดหวังเงินลงทุน 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.5 ล้านล้านบาทซึ่งจะเป็นการลงทุนเอกชน 80% ที่เหลือรัฐลงทุน

" ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เรามีกฏหมายรองรับเพื่อยืนยันว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแนวทางการพัฒนาทั้งหมดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการหารือทางเมติเองก็ระบุว่าคาดหวังไทยที่จะเป็นฮับ 2 เรื่องคือ Connected Industries ที่จะเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านและ ฮับการพัฒนาบุคคลากรเชื่อมโยงภูมิภาคซึ่งจะมีการตั้งทีมทำงานร่วมกันในเชิงลึกต่อไป"นายอุตตมกล่าว

สำหรับกรณีที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 49% นั้นเรื่องดังกล่าวก็กำลังพิจารณาแนวทางอยู่เช่นเดียวกับกรณีที่นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าการจะลงทุนในพื้นที่อีอีซีต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปีนี้โดยจะขอขยายเวลานั้นเรื่องนี้ก็จะต้องหารือและคงจะดูเป็นรายโครงการ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า วันที่ 13 ก.ย.จะนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นลงพื้นที่อีอีซี โดยไทยหวังว่าญี่ปุ่นจะเป็นนักลงทุนหลักในพื้นที่อีอีซี อย่างไรก็ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อรองรับอีอีซีทั้งรถไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ ทีโออาร์จะเปิดในปลายปีนี้และไทยเองก็พร้อมจะหารือกับทุกประเทศทั้งสหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น

"ขณะนี้ไทยสไมล์กำลังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อเครื่องบิน 70 ที่นั่งกับทางบ.MRJ มิตซูบิชิ ซึ่งหากได้อนาคต MRJ ก็มีสิทธเปิดศูนย์ซ่อมที่นี่ ก็ถือว่านักลงทุนทุกประเทศก็มองไทย"นายคณิศกล่าว
นายวิกรม กรมดิษฐ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิคมฯอมตะมุ่งสู่สมาร์ทซิตี้บนพื้นที่ 1 9 ตารางกิโลเมตร โดยร่วมกับสถาบันวิจัยญี่ปุ่น เพื่อรองรับโรงงานญี่ปุ่นในนิคมฯและที่อยู่ใกล้ ๆ กับประเทศไทยและยังร่วมกับฮิตาชิสร้างสมาร์ทแฟคตอรี่ซึ่งจะตอบโจทย์การลงทุนอีอีซี

นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(เมติ) กล่าวว่า การเดินทางมาไทยครั้งนี้สิ่งที่แตกต่างจากอดีตคือมีเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มในต่างจังหวัดมาด้วยไม่ใช่เพียงแต่ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของไทยและการเชื่อมโยงอีอีซี

นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยคิดเป็น 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทยมีมูลค่า 71,500 ล้านเหรียญสหรัฐและคิดเป็น 5,000 บริษัทมากที่สุดในโลกซึ่งขณะนี้ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นทำให้ประสบปัญหาแรงงานทำให้ญี่ปุ่นมองไปที่เวียดนามและเมื่อไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งไทยจะก้าวไปได้หรือไม่ก็อยู่ที่ไทยต้องเร่งพัฒนาบุคคลากร

"ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างทางแยกที่สำคัญนักลงทุนควรจะไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านในส่วนที่เน้นใช้แรงงานหรืออุตสาหกรรมทั่วไปแต่ฐานการผลิตในไทยจะต้องมุ่งสู่มูลค่าเพิ่มแต่จะทำได้หรือไม่ต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ไทยแจ้งเจโทรว่ามีปัญหาการจ้างบุคคลากรโดยไทยประสบปัญหานี้เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (12ก.ย.) รัฐและเอกชนได้มีการลงนาม 7 ฉบับ ได้แก่ 1.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมไทย สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น 2.สำนักงานอีอีซี และ JICA 3.สำนักงานอีอีซีกับฮิตาชิ 4.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) และสถานฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในโครงการ FlexCampus 5.กสอ. และองค์การสนับสนุนเอสเอ็มอีแห่งประเทศญี่ปุ่น 6. กสอ.และบ. JC SERVICE จำกัด 7.กสอ.กับเจโทร
กำลังโหลดความคิดเห็น