xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดีลลับ “ชินสุวรรณ” แผลงฤทธิ์?? จับตาออก กม.ฮุบที่ธรณีสงฆ์อัลไพน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปริศนา “ดีลลับชินสุวรรณ” ที่สังคมสงสัยกันว่าอุบอิบงุบงิบทำกันนั้น ถึงเวลาอวดผลงานเป็นรูปธรรมโชว์พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศให้ได้เซอร์ไพรส์กันถ้วนหน้าแล้ว ใช่หรือไม่ ?

เพราะ “ร่าง พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร ต.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง ประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา พ.ศ. …” ที่ปรากฎต่อสาธารณชนนั้นทำเอาพิศวง'งงวยไปตามๆ กันว่า อย่างนี้ก็ได้เหรอ

ร่าง กม.ที่ว่านี้ ซุ่มทำกันมาโดยส่อเจตนาฮุบที่ธรณีสงฆ์แบบช่างกล้า ไม่รู้สึกละอายต่อบาปและละอายต่อดวงวิญญาณของ “ยายเนื่อม” ผู้มีศรัทธาแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาที่ยกที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์แม้แต่น้อย

หรือว่า นี่เป็นคำตอบหนึ่งของดีลลับๆ ที่ว่านั้น ?

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ศาลได้พิจารณาและตัดสินคดีที่ธรณีสงฆ์ผืนดังกล่าว โดยศาลท่านเห็นว่า “พินัยกรรมของนางเนื่อม ระบุชัดเจนว่า นางเนื่อมได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 2 แปลง ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารเท่านั้น มิได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยแต่อย่างใด....” และที่ดินดังกล่าวก็ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ทันทีที่นางเนื่อมถึงแก่ความตาย

ศาลยังได้ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์และเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมา ให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบ

คำตัดสินของศาล เท่ากับปิดประตูตายอย่างสิ้นเชิงสำหรับการเตรียมฮุบที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว

แต่เหตุไฉนทั้งๆ ที่รู้เต็มอกว่า ทำไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ก็ยังมีพวกดึงดันหาช่องจะเอาให้ได้ตามหลักฐานที่ปรากฏถึงขั้นออกกฎหมายเป็นการเฉพาะกันเลยทีเดียว เรื่องนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์คงต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น

ถามย้ำอีกครั้ง นี่เป็นอีกหนึ่งในดีลลับชินสุวรรณ นอกเหนือไปดีลลับปล่อย “ปู” - นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หนีคดีทุจริตจำนำข้าว อย่างที่สังคมสงสัยใคร่รู้คำตอบกัน หรือไม่?

หลังจากมีข่าวปูดกำลังจะมีการดันร่างกฎหมายโอนที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวออกมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของ คสช. ก็ชิ่งออกตัวว่า การออกกฎหมายนี้เป็นแนวคิดของกระทรวงมหาดไทย แต่ว่าตอนนี้ร่างกฎหมายยังไม่ออกมาจากมหาดไทย ยังไม่ได้ส่งมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ส่วนประเด็นที่ว่าการออกกฎหมายนี้จะกลายเป็นการนิรโทษกรรมให้กับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หรือไม่ นั้น นายวิษณุ ตอบว่า “ไม่ทราบ”

เช่นเดียวกันกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่โยนให้ไปถามต้นเรื่องเมื่อเจอกับคำถามที่ว่า มีการมองว่าการออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อเป็นการรับรองเรื่องผิดให้เป็นถูกหรือไม่

ส่วนจะมีผลต่อการสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ของนายยงยุทธหรือไม่ ในความเห็นของนายมีชัย มองว่าไม่น่าจะมีผลเนื่องจากเป็นความผิดที่สำเร็จไปแล้ว

ในชั้นนี้เอาเป็นว่า มือกฎหมายใหญ่ทั้งสองของ คสช.ขอชิ่ง ปัดเรื่องออกจากตัวแบบเนียนๆ ทั้งที่จะว่าไป ลำพังฝ่ายกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย จะหาญกล้าทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้โดยลำพังได้อย่างไร จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่งที่งานนี้มีไฟเขียวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และชวนสงสัยว่าอาจจะมีเงาของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจเหนือ คสช. หนุนอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นไปได้

หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ร่างกฎหมายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เรื่องนี้ต้องมาฟังคำอธิบายจาก นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เล่าว่า ปัญหาที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามซึ่งซื้อขายโอนกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งยืดเยื้อมาหลายสิบปี กระทรวงมหาดไทย จึงผลักดันเสนอให้ออกกฎหมายเพื่อโอนที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามที่นางเนื่อม ทำพินัยกรรมยกให้แก่วัด โดยอ้างเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

แรงผลักดันของมหาดไทยที่ว่ามาสำเร็จเอาเมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจ มีการออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการาม เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2558 นี่เอง

ต่อมา คณะกรรมการยกร่างกฎหมาย ได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 มี.ค. 2559 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการาม โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดทำร่างกฎหมายคือ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมีผู้แทนของส่วนราชการอื่นเข้าร่วมในการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายด้วย

สำหรับร่าง พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว มีจำนวน 5 มาตรา มีเนื้อหาสำคัญที่บัญญัติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการาม ที่ตั้งอยู่ในโฉนดที่ดิน 2 ฉบับ ฉบับแรกมีเนื้อที่ราว 730 ไร่ โฉนดฉบับที่สองมีเนื้อที่ราว 194 ไร่ รวมเนื้อที่ราว 924 ไร่ ให้แก่มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2533 โดยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากร และให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและการดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเกี่ยวกับโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งได้กระทำลงภายหลังจากที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวจนถึงวันที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายบัญญัติด้วยว่า ให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินและการจัดสรรที่ดินใดๆ ที่เกี่ยวกับโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ได้ทำภายหลังจากที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ให้แก่มูลนิธิ ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.2533 เป็นต้นมา ให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายจนถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

การบัญญัติเช่นนั้น จะส่งผลรับรองให้การจดทะเบียนโอนขายที่ดินมรดกจำนวนประมาณ 924 ไร่ ของมูลนิธิให้แก่บริษัททั้ง 2 รวมทั้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินและการจัดสรรที่ดินใดๆ ที่ทำลงเกี่ยวกับโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ ต่อมาในภายหลังเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

คำถามตัวโตๆ ก็คือ ใช่หรือไม่ว่า ในยุค คสช. เป็นใหญ่ ไม่มีการออกกฎหมายฟอกผิดใดที่ชัดเจนเท่ากับกรณีนี้อีกแล้ว

ใช่หรือไม่ว่า เป็นการฟอกผิดให้กับบริษัทอัลไพน์ฯ ที่มีรายชื่อหนึ่งในผู้ถือหุ้นคือภรรยาของนายเสนาะ เทียนทอง

ใช่หรือไม่ว่า เป็นการฟอกผิดให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยา นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปรับซื้อที่ดินของบริษัทอัลไพน์ฯ เมื่อตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540

ใช่หรือไม่ว่า เป็นการฟอกผิดให้กับ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลชินวัตร ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยนั่งเป็นผู้บริหารสูงสุด ก่อนจะโดดเข้าสู่เวทีการเมือง โดย บมจ.เอสซี แอสเสท เข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของสนามกอล์ฟอัลไพน์ ในปัจจุบัน จำนวน 730 ไร่

ใช่หรือไม่ว่า เป็นการฟอกผิดให้กับ บริษัท ราชธานีคลองหลวง จำกัด ของ น.พ.บุญ วนาสิน ผู้จัดซื้อที่ดินจากมูลนิธิฯ มือแรกๆ

แม้ว่า น.พ.บุญ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ราชธานีคลองหลวง จำกัด จะออกมาย้ำว่า บริษัทมีเจตนาบริสุทธิ์ในการซื้อที่ดินดังกล่าว 900 ไร่ 2 แปลง แบ่งเป็นที่ดินสนามกอล์ฟ 730 ไร่ และที่ดินจัดสรรรอบสนามกอล์ฟ 194 ไร่ ต่อจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปี 2533 โดยนายเสนาะ เทียนทอง ได้ขอถือหุ้นส่วนของสนามกอล์ฟอัลไพน์ 10% วงเงิน 50 ล้านบาทในเวลาต่อมา เกิดวิกฤติฟองสบู่จึงตัดขายที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปี 2542 โดยใช้ชื่อ บริษัท เอสซี แอสเสทฯ จน ถึงปัจจุบัน ก็ตามแต่

การผลักดันออกกฎหมายฟอกผิดให้เป็นถูกคราวนี้ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ส่งเสียงเตือนมาพร้อมกันนี้ว่า ควรพิจารณาด้วยว่า ผู้รับโอนส่วนใดสุจริต ส่วนใดไม่สุจริตในการรับโอนที่ดินของวัดมาเป็นของตน เมื่อเปรียบเทียบกับการเยียวยาความเสียหายผู้รับโอนทุกรายแบบเหมาเข่ง จึงเป็นข้อที่น่านำมาชั่งน้ำหนักพิจารณาประกอบด้วยว่าแนวทางใดจะเหมาะสมและเป็นธรรมมากกว่ากัน

“....หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและมีความรับผิดตามกฎหมายด้วยหรือไม่ เพียงใด .... เรื่องนี้ควรต้องฟังเสียงสาธารณะให้มากกว่านี้”

นักกฎหมายอีกหนึ่งที่ออกมาตั้งคำถามและคลางแคลงใจต่อการผลักดันกฎหมายฟอกผิดคราวนี้ ก็คือ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่บอกว่า การออกกฎหมายนี้จะเป็นคุณกับคนที่ทำความผิดอย่างนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่เพิ่งถูกศาลอาญาฯ ตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

“วิธีการที่ถูกต้อง รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทำให้เป็นไปตามพินัยกรรมและความประสงค์ของนางเนื่อม คือทำให้ที่ดินกลับไปเป็นของวัด แล้วจากนั้นก็มาแก้ปัญหาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ .....หากไปออกกฎหมายแบบนี้ ก็เท่ากับขัดกับเจตนาของเจ้าของที่ดิน ก็เท่ากับเป็นการไปหักหลังเจ้าของที่ดินที่เสียชีวิตไปแล้ว หากทำแบบนี้ ทุเรศมาก หักหลังผู้เสียชีวิต”

ขณะที่เจ้าของโครงการ คือ บริษัท ราชธานีคลองหลวง จำกัด กำลังเตรียมยื่นฟ้องกรมที่ดิน 5,000 ล้านบาท และฝั่งของสนามกอล์ฟอัลไพน์เตรียมฟ้องกรมที่ดินเช่นกัน 3,000 ล้านบาท หากถูกเพิกถอน หลังศาลมีคำตัดสิน

ไม่ว่ามหากาพย์ที่ดินธรณีสงฆ์ผืนนี้จะลงเอยเช่นใดก็ตาม การผลักดันออกกฎหมายฟอกผิดคราวนี้ ทำให้ข้อสันนิษฐาน “ดีลลับชินสุวรรณ” ปรากฏสู่สาธารณชนชัดแจ้งขึ้น และเป็นดีลลับที่กระทำโดยไม่หวั่นเกรงบาปกรรมแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น