xs
xsm
sm
md
lg

คลังปัดคสช. กินรวบรสก. "รสนา"โต้ถ้ามั่นใจ ตัดบรรษัทออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360-คลังแจงร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ เป็นเพียงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ยืนยันไม่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือปูทางให้ คสช. แปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางแบบเหมายกเข่ง พร้อมให้ความมั่นใจขั้นตอนการลดสัดส่วนการถือหุ้นกำหนดให้ คนร. เป็นผู้ชงเรื่องให้ ครม. อนุมัติ ต่างจากเดิมที่ ครม. อนุมัติเองได้ ด้าน "รสนา" ย้ำกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์พัฒนารัฐวิสาหกิจ แต่มีความเสี่ยงผ่องถ่ายทรัพย์สินไปสร้างความร่ำรวยให้เอกชนบางกลุ่ม แนะตัดส่วนที่ว่าด้วยบรรษัทรัฐวิสาหกิจออก

จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ) เป็นการเปิดโอกาสให้คณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางแบบยกเข่งโดยผ่านสภาเสียงข้างเดียว กินรวบหนักกว่ายุคทักษิณนั้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ชี้แจง โดยมีประเด็นสำคัญ คือ เรื่องของการเตรียมแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่จะเปิดทางให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นแทน เป็นกระบวนการแปรรูปอำพรางนั้น ไม่เป็นความจริง โดยพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และไม่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการปฏิรูปและยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจผ่านการส่งเสริมให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส มาใช้กำกับรัฐวิสาหกิจเท่านั้น

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ได้ระบุชัดเจนว่า “บรรษัทฯ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแทนกระทรวงการคลัง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯ และหุ้นทุกหุ้นของบรรษัทฯ โอนเปลี่ยนมือมิได้”
สำหรับประเด็นเรื่องความกังวลถึงสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจจะถูกลดสัดส่วนลงเรื่อยๆ นั้น ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯ โดยกระทรวงการคลังสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสัดส่วนการการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งของบรรษัทฯ หากมีการเพิ่มทุนจะต้องคงสัดส่วนถือหุ้นไว้เท่าเดิม

ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นผู้เสนอความเห็นต่อครม. ในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว อันเป็นการสร้างขั้นตอนการลดสัดส่วนหุ้นของรัฐวิสาหกิจขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จากเดิมที่เป็นเพียงมติครม. ที่กระทรวงเจ้าสังกัดแต่ละแห่งจะสามารถเสนอขอลดสัดส่วนได้เอง

ส่วนประเด็นที่กังวลจะมีการนำบริษัทรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่มีทรัพย์สินรวมกันมูลค่ามหาศาลประมาณ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชน เตรียมเปิดขายเหมาเข่ง เป็นกระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สินของรัฐให้เอกชน สคร. ได้ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จึงมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการดำรงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ กระทรวงการคลังทำหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายและการลงทุนของบรรษัทฯ รวมถึงประเมินผลการทำหน้าที่ของบรรษัทฯ คู่ขนานไปกับ คนร.ที่จะกำกับการดำเนินการของบรรษัทฯ ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายเอกนิติ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการยกร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกระทรวงการคลังได้นำความเห็นและข้อสังเกตดังกล่าวมาประกอบการปรับปรุงร่างกฎหมายด้วยแล้ว

ประเด็นสุดท้ายที่มีการตั้งข้อสังเกตุบรรษัทฯ ที่ตั้งไม่ขึ้นอยู่กับสภาพัฒน์ ไม่อยู่ภายใต้ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบรรษัทฯ สามารถเลือกองค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบบัญชีได้ นายเอกนิติ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.มาตรา 51 ได้กำหนดชัดเจนว่า “ให้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังได้โอนหุ้นให้แก่บรรษัทฯ ตามพ.ร.บ.นี้ เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และให้นำกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาใช้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น ในการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ คนร. จะเป็นผู้กำกับให้บรรษัทฯ เสนอกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายเอกนิติ ออกมาชี้แจง น.ส.รสนา โตสิตระกูล ได้ชี้แจงอีกครั้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สินไปสร้างความร่ำรวยให้กับเอกชนเพียงบางกลุ่ม และยังเห็นว่าร่างพ.ร.บ ฉบับนี้ควรตัดส่วนที่ว่าด้วยบรรษัทรัฐวิสาหกิจออกไป โดยการมีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจก็เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ในการพัฒนาประสิทธิภาพ ความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยได้ตามวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วโดยไม่สร้างความวิตกกังวล และความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องตัดอำนาจของ คนร. ในการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นตามมาตรา (4) และ (8) ออกไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น