xs
xsm
sm
md
lg

“ไก่อู”เหิม บีบสื่อทำสกู๊ปครม.สัญจรป้อนNBT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แบบนี้ก็มีด้วย!! “ไก่อู” อธิบดีกรมกร๊วก ล็อกคอทีวีทุกช่อง ผลิตข่าว ครม.สัญจรป้อนช่อง NBT บี้ให้เลือกทันทีติดตามงาน รมต.กระทรวงไหน อ้างบูรณาการข่าวให้ประชาชนรับทราบ ก่อนแจงไม่ได้บังคับ แค่ขอความร่วมมือ “นักวิชาการสื่อ” สวดละเมิดเสรีภาพสื่อชัดเจน ไล่ควักเงินซื้อโฆษณาเอกชน เตือนสื่อหากทำตามเท่ากับขายเสรีภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่าน มาหน่วยงานกรมประชาสัมพันธ์ ได้ทำหนังสือเชิญบรรณาธิการสื่อมวลชนทุกแขนงไปประชุมพร้อมกัน ที่อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ โดยมี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรรี ในฐานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน การประชุมครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือบรรณาธิการสื่อมวลชนทุกแขนง ในการนำเสนอข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค.นี้

ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ได้แจกวาระการประชุม เตรียมการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการ นอกสถานที่ (ครม.ภูมิภาค)โดยในเอกสารได้สรุปพื้นที่ ดูแลงานของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเอาไว้ทุกกระทรวง เพื่อให้สื่อจัดเตรียมทีมข่าว ติดตามการทำภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้สื่อติดตามแต่ภารกิจของนายกรัฐมนตรี เพียงอย่างเดียว

พล.ท.สรรเสริญได้ชี้แจงถึงความสำคัญของการจัด ครม.สัญจร ที่จ.นครราชสีมา ว่า ถือเป็นพื้นที่ประชาชนมีรายได้น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งการลงพื้นที่ของครม. จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง และได้ขอให้สื่อในที่ประชุมตัดสินใจทันทีว่า จะเลือกติดตามภารกิจการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีกระทรวงไหน เพื่อผลิตเป็นรายงาน หรือ สกู๊ปข่าว ส่งมายังสถานีโทรทัศน์ NBTก่อนที่จะเผยแพร่ ในวันประชุมครม. ซึ่งในวันนั้น NBTจะมีรายการพิเศษในแต่ละช่วง

พล.ท.สรรเสริญ ให้เหตุผลถึงการทำเช่นนี้ว่า ต้องการให้สื่อบูรณาการในการนำเสนอข่าวให้ประชาชนเห็นว่า การลงพื้นที่ของนายกฯ และรัฐมนตรี มีการติดตามเนื้องานในส่วนใดบ้าง ขณะที่ตัวแทนสื่อแต่ละสำนักที่เข้าร่วมประชุม ต่างมีสีหน้ามึนงง บางสำนักต้องขอปรึกษาหัวหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ขณะที่บางสำนักสามารถตัดสินใจเลือกได้ทันที
“รัฐมนตรีทำอะไร แก้ปัญหาอะไรในพื้นที่ จะไม่เกิดข้อมูลข่าวสาร จึงอยากฝากรัฐมนตรีทั้ง 20 กระทรวง ให้สื่อมวลชนทุกช่องช่วยรายงานภารกิจของรัฐมนตรี เมื่อลงพื้นที่ติดตามรายงานข่าวแล้วให้ส่งภาพมาให้ช่องเอ็นบีที เพื่อออกอากาศอีกครั้ง ซึ่งสื่อมวลชนสามารถเลือกติดตามรัฐมนตรีได้ตามประสงค์ โดยให้แจ้งชื่อมาได้ทันที” แหล่งข่าวอ้างคำพูดพล.ท.สรรเสริญ

อย่างไรก็ตาม พล.ท.สรรเสริญ ยังได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวง อธิบดี และโฆษกกระทรวง ระบุว่า นายกน มีแนวคิดที่จะให้มีการเผยแพร่ข่าวอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ทางสำนักโฆษกน ได้ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ประสานความร่วมมือไปยังสื่อโทรทัศน์สถานีช่องต่างๆ ติดตามรัฐมนตรี แต่ละกระทรวงเพื่อจัดทำสกู๊ปข่าว นำมาออกอากาศทางสถานี NBTแบบบูรณาการ และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอความกรุณานำเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รับทราบด้วย และขอให้อำนวยความสะดวก ที่การติดตามทำข่าวของสื่อมวลชนในครั้งนี้

เมื่อสอบถาม พล.ท.สรรเสริญ ในกรณีดังกล่าว ได้ชี้แจงว่า ไม่ใช่เป็นการจัดระเบียบสื่อ แต่เป็นการขอความร่วมมือในการทำรายงานสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับรัฐมนตรีที่ลงไปในพื้นที่เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีประชุมครม. นอกพื้นที่ ก็จะมีแต่ข่าวของนายกรัฐมนตรี แต่ความจริงแล้วยังมีรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกที่ร่วมลงพื้นที่ โดยรัฐมนตรีเหล่านี้จะได้ไปสัมผัสพื้นที่จริงว่านโยบายที่รัฐบาลทำลงไปนั้น มีปัญหาอุปสรรคอะไร รัฐมนตรีจะได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องต่างๆ ของรัฐมนตรีได้ถึงประชาชนในสังคมให้มากที่สุดและรอบด้าน ตนจึงได้ขอความร่วมมือ ถามว่าใครช่องไหนสนใจติดตามรัฐมนตรีท่านใด ก็ให้เลือกได้ตามใจชอบ ตามที่สื่อช่องนั้นต้องการ

“ผมไม่ได้บังคับ ผมให้เลือกตามใจชอบเลย แต่ต้องไม่ซ้ำกันในแต่ละช่อง บางช่องบอกให้ผมเลือกให้ด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้เลือกให้ เพราะรู้ว่าคาแล็คเตอร์ความสนใจของแต่ละช่องไม่เหมือนกัน เท่าที่เห็นแต่ละช่องก็เลือกกันหมดแล้ว” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ทางด้าน นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งคำถามว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ว่าเรื่องนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างการทำหน้าที่นักประชาสัมพันธ์ของภาครัฐกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนหากเป็นสื่อของรัฐมีภารกิจประชาสัมพันธ์งานของรัฐก็สามารถทำแบบนั้นได้ แต่ถ้าเป็นสื่อเอกชน สิ่งสำคัญคือความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการรวม ถึงนักข่าวจะมีหลักในการพิจารณาเองว่าจะเลือกทำข่าวใครหรือไม่อย่างไร ดังนั้นควรรู้ว่าขอบเขตของตัวเองควรอยู่แค่ไหนเพราะนานาประเทศเขาเรียนรู้เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

นายมานะ กล่าวต่อว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งการใดๆต่อสื่อทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับสื่อเองจะเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่กับการยึดถือเสรีภาพในการทำหน้าที่ ถ้าตัวเองยอมตามเขา ก็หมายความว่าคุณก็ขายเสรีภาพตัวเองไป ถ้าเป็นแบบอีกหน่อยคงมีอะไรมาขอความร่วมมืออีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ท.สรรเสริญ ชี้แจงว่า ไม่ได้บังคับสื่อในเรื่องดังกล่าวให้อิสระในการทำข่าว แต่ขอแค่ให้นำมาออกอากาศผ่านช่องเอ็นบีทีด้วย นายมานะ กล่าวว่า ตรงนี้ตลกมาก NBT ก็คือทีวีดิจิทัลของรัฐ ทำไมไม่ไปซื้อโฆษณาหรือเวลาของทีวีช่องอื่นๆ จะมาขอความร่วมมือทำไม เรื่องนี้สะท้อนกรอบความคิดของผู้เกี่ยวข้องว่าความเข้าใจการทำงานของสื่อว่ามีมากน้อยแค่ไหนเข้าใจเรื่องเสรีภาพสื่อมากน้อยแค่ไหน.
กำลังโหลดความคิดเห็น