xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คดี “ธวัชชัย” ตับแตกตายในห้องขัง ถึงคิวDSIต้องตอบข้อสงสัยสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายนายธวัชชัย อดีตเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สาขาท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ที่ศาลชี้ว่าถูกฆ่าตายในห้องขังดีเอสไอ จนเป็นเรื่องดรามาต้องรื้อคดีกันใหม่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคงเป็นปริศนาคาใจสังคมมาตลอดนับเกือบปี กับการเสียชีวิตของ นายธวัชชัย อนุกูล อายุ 66 ปี ชาว จ.ภูเก็ต อดีตเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สาขาท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 1165/2559 ลงวันที่ 14 มิ.ย.2559 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีทุจริตออกเอกสารสิทธิที่ดินในจ.ภูเก็ตและจ.พังงา ประมาณ 1,000 แปลง มูลค่ากว่า 10,500 ล้านบาท ซึ่งเสียชีวิตภายในห้องควบคุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วยการนำถุงเท้าที่สวมใส่มาพันกันเป็นวงกลม แล้วคล้องกับบานพับประตูแขวนคอตัวเองเสียชีวิต ช่วงกลางดึกวันที่ 30 ส.ค.2559 ก่อนนำตัวไปส่งฝากขังศาลตอนเช้า

ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 2 รายกับ รปภ. 1 ราย เข้าเวรบริเวณชั้น 6 และมี รปภ.อีก 2 ราย อยู่ชั้นล่างทางเข้า-ออก รวมทั้งหมดเป็น 5 ราย ยังรวมไปถึงมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดรอบอาคารและตรงทางเดินส่วนกลาง แต่ไม่มีการจับภาพเข้าไปในห้องขังผู้ต้องหา เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กระทั่งเกิดเป็นเรื่องราวดรามาขึ้น เมื่อปรากฎว่า กล้องวงจรปิดกลับไม่สามารถจับภาพเหตุการณ์มาปะติดปะต่อกันได้ จึงเกิดความสงสัยแก่ประชาชนในวงกว้างว่า เหตุใดองค์กรปราบปรามคดีพิเศษ ถึงมีเครื่องไม้เครื่องมือชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพ จนส่งผลให้ชาวบ้านเกิดจินตนาการความคิดไปต่างๆนานาทั้งในแง่ลบและแง่บวกอย่างไม่ต้องสงสัย กระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์กับหน่วยงานเต็มใบ

จากการตรวจชันสูตรพลิกศพของสถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ปรากฏว่าสาเหตุการเสียชีวิตอดีตเจ้าหน้าที่กรมที่ดินพังงาพบ ภาวะตับแตก เลือดออกในช่องท้องและขาดอากาศหายใจ แต่ยังมีข้อสงสัยหลายประการต้องสอบสวนเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ สน.ทุ่งสองห้อง ต้องดำเนินการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง ในคดีภาพรวมทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ คือ ชุดจับกุมว่ามีการทำร้ายร่างกายก่อนส่งถึงห้องขังหรือไม่ ชุดเฝ้าเวรปล่อยผู้ต้องหากระทำเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามขั้นตอนถูกวิธีหรือไม่ ชุดดูแลกล้องวงจรปิดไม่ตรวจสอบอุปกรณ์ให้เรียบร้อยพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา 24 ชม. และ กลุ่มแพทย์ฉุกเฉิน รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่ได้รับแจ้งก่อนเดินทางช่วยเหลือนำตัวส่งโรงพยาบาลตามขั้นตอนก็ต้องร่วมเป็นตัวละครด้วย

กระทั่ง เดือน ต.ค.2559 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง นำสำนวนชันสูตรศพพร้อมพยานหลักฐานส่งสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ต่อศาลอาญาเพื่อรอคำสั่งศาลดำเนินการต่อไป โดยสำนวนคดีที่ตำรวจ ตั้งเรื่องมานั้นมีการสรุปสำนวนในตอนท้ายสุดว่า สาเหตุการตายของ นายธวัชชัย เชื่อว่ามีผู้ทำให้ถึงแก่ความตาย ไม่ใช่เป็นการผูกคอเสียชีวิตเอง เนื่องจากการช่วยชีวิตโดยการปั๊มหัวใจไม่สามารถทำ ให้ตับแตกได้ ต่อมา วันที่ 4 ส.ค.2560 ศาลอาญานัดฟังคำสั่งการขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของนายธวัชชัย โดยศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าผู้ตายเสียชีวิตเพราะมีบุคคลอื่นทำให้ตาย จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องกลับมาทำสำนวนคดีอีกครั้ง

คำถามที่ตามมาคือ ใครคืออคนฆ่านายธวัชชัยในหน่วยงานที่การเข้าออกขึ้นลงค่อนข้างเข้มงวดมาก เพราะบุคคลธรรมดาหรือชาวบ้านตาดำๆไม่มีทางเดินขึ้นไปแบบตาม้าตาเรือได้แน่นอน

มรสุมลูกใหญ่จึงถาโถมเข้าใส่ดีเอสไอ และกลายเป็นวิกฤตศรัทธาอีกครั้งหนึ่งต่อหน่วยงานนี้

นายชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายผู้เสียชีวิตยืนยันมาตลอดว่า พี่ชายตนเองไม่น่าจะคิดสั้นผูกคอตายเอง แถมเชื่อว่าการตายของพี่ชายผิดธรรมชาติ ยังมีประเด็นเรื่องการใช้ถุงเท้าผูกคอตายนั้นมองว่า ไม่สมเหตุสมผลและการให้ปากคำขัดแย้งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักนอกเหนือจากการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง

ทั้งนี้ ข้อมูลช่วงที่ผ่านมายังมีหลายประเด็นข้อสงสัยอีกหลายประเด็นและขอยกมาพิจารณาตามความเข้าใจกันไม่มากก็น้อย อาทิ

1.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดีเอสไอ ได้มีการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาแล้ว และขณะเกิดเหตุ นายธวัชชัย ยังมีชีวิตจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือ

2.เมื่อชุดแพทย์ฉุกเฉิน รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้รับแจ้งจาก ดีเอสไอ ว่ามีคนเป็นลมหมดสติ แต่ไม่ได้รับทราบข้อมูลจาก ดีเอสไอ ก่อนว่ามีการผูกคอตาย แพทย์ตรวจสอบร่างกายผู้ป่วยไม่พบมีร่องรอยฟกช้ำ หรือบาดแผลที่ร่างกาย และยืนยันว่าไม่พบรอยฉีกของเสื้อผ้า

3.การทำ CPR อยู่ในบริเวณทรวงอกที่มีอวัยวะหัวใจและปอด ทางเทคนิคนั้นไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับตับ และไม่เคยได้ยินการทำ CPR แล้วจะทำให้ตับแตก เปอร์เซ็นต์จะเท่ากับศูนย์

4.หลังจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจับกุม นายธวัชชัย ยืนยันว่าเป็นการจับโดยไม่มีการปะทะ ยังมีอาการปกติ ไม่ได้เจ็บป่วย พร้อมปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมทั้งยืนยันว่าไม่พบร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย ก่อนจะผูกคอเสียชีวิตในวันถัดมา

5.นายแพทย์เหรียญทอง ระบุว่า การเสียชีวิตของ นายธวัชชัย อนุกูล อาจเป็นการฆาตกรรมที่มีเจ้าหน้าที่ภายใน ดีเอสไอ รู้เห็นเป็นใจหรือร่วมมือกับคนร้ายเพื่อหวังผลกระทบเพราะช่วงดังกล่าวมีคดีสำคัญต้องดำเนินการ (คดีธัมมโย) จึงใช้สถานที่หวังทำร้ายภาพลักษณ์องค์กร

6.ตำรวจสอบสวนเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่ควบคุมห้องขัง นายธวัชชัย วันเกิดเหตุ (นายสมมาตร นาควงศ์ ) ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า นายธวัชชัย ใช้ถุงเท้าผูกคอตัวเองกับบานพับของประตู แต่กลับไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชาของดีเอสไอว่าใช้เสื้อยืดผูกคอเสียชีวิต (ต้องมีรอยฉีกเสื้อผ้า) โดยการให้การลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นพิรุธแต่อาจจะอยู่ระหว่างการตื่นตระหนกหรือหวาด
กลัวจึงให้การสับสน เบื้องต้นดีเอสไอได้นำตัวนายสมมาตรไปเข้าเครื่องจับเท็จของแล้ว

7.ผลตรวจดีเอ็นเอที่พบในถุงเท้าของผู้ตายมีมากกว่า 1 คน พบเป็นของ นายธวัชชัย และ พ.ต.ท.ไพโรจน์ เล้ารัตนานุรักษ์ หัวหน้าเวรรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือนำร่างนายธวัชชัยลงมาในวันเกิดเหตุ หรืออาจมีมากกว่านี้หรือไม่

8.การจำลองเหตุการณ์โดยการนำถุงเท้าชนิดที่ใกล้เคียงกับที่พบในที่เกิดเหตุมาทดสอบว่าบานพับประตูรับน้ำหนักการผูกคอได้ตัวเองเสียชีวิตหรือมีบุคคลอื่นทำให้เสียชีวิต หากเป็นการผูกคอด้วยตัวเองจะไม่มีร่องรอยหรือบาดแผลภายนอก แต่หากถูกบุคคลอื่นกระทำจะต้องมีร่องรอยการต่อสู้ และขัดขืนจนทำให้เกิดบาดแผล ส่วนกรณีร่องรอยการถูกรัดที่บริเวณลำคอมีขนาดเล็กกว่าความหนาของถุงเท้านั้น จากการจำลองเหตุการณ์เป็นไปได้ว่าถุงมีความยืดหยุ่นจากการรับน้ำหนัก

9.ในห้องคุมขังผู้ต้องหาไม่มีกล้องวงจรปิด มีเพียงบริเวณทางเดินด้านหน้าเท่านั้นเนื่องจากถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ดีเอสไอ ยืนยันว่า กล้องวงจรปิดทุกตัวสามารถใช้การได้ แต่ระบบเซิร์ฟเวอร์บันทึกภาพมีปัญหาไม่สามารถบันทึกภาพได้บางตัวตั้งแต่ เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยกล้องที่สามารถบันทึกภาพได้มีเพียงบริเวณหน้าอาคารและหน้าลิฟต์ชั้นจีเท่านั้น ส่วนกล้องทั้งหมดภายในชั้น 6 เป็นการจับภาพแบบเรียลไทม์หรือถ่ายสด แต่ไม่สามารถบันทึกภาพได้ พร้อมกันนี้เชื่อว่าไม่น่ามีบุคคลภายนอกเข้าออกภายในอาคารตั้งแต่หลังเวลา 18.00 น. และหากเข้าออกจะต้องมีบัตรแสกนเข้าออกเท่านั้น

10.เรื่องรูปถ่ายซึ่งเป็นภาพที่ นายชยพล หวานชะเอม หัวหน้าผู้ควบคุมผู้ต้องขัง และ พ.ต.ท.ไพโรจน์ เล้ารัตนานุรักษ์ รองหัวหน้าผู้ควบคุมผู้ต้องขัง ถ่ายเอาไว้ บริเวณห้องควบคุมและชั้นล่างห้องควบคุม เมื่อทำการตรวจสอบพบว่ามีบางรูปที่จะใกล้ชิดกับเหตุการณ์น้อยมาก นี่คือประเด็นที่หนึ่งที่จะมาเรียกมาสอบว่าได้บันทึกภาพไปตอนไหน อย่างไร ทำไมการสอบสวนครั้งแรกถึงไม่เปิดเผยภาพออกมา โดยจะต้องนำมาซักถามว่าถ่ายตอนไหน ถ่ายเพื่ออะไร หรือเป็นหน้าที่ที่ต้องถ่าย โดยการเข้าให้การครั้งแรกนั้นทั้งคู่ไม่ได้พูดถึงรูปภาพดังกล่าวเลย11.นายธวัชชัย เสียชีวิต มีความเป็นไปได้ว่า น่าจะมีผู้อื่นทำให้ตาย แต่อาจไม่ใช่ฆาตกรรม ซึ่งจะต้องสืบสวนสอบสวนประเด็นนี้ต่อไป

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อพนักงานอัยการได้รับคำสั่งและสำนวนการไต่สวนการตายจากศาลอาญาแล้ว ก็จะจัดส่งคำสั่งศาลพรัอมกับสำนวนไต่สวนการตายและสำนวนการชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุ เพื่อสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไปว่า การตายของนายธวัชชัย ซึ่งถึงแก่ความตายระหว่างถูกควบคุมนั้น เกิดจากการกระทำความผิดอาญาของใครหรือไม่ หรือว่าการตายเกิดโดยไม่มีการกระทำความผิดอาญา ซึ่งการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน อาจเริ่มคดีได้เอง หรือทายาทผู้ตายเป็นผู้ร้องทุกข์ก็ได้

ทั้งนี้ แนวทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จะมีขั้นตอนปฎิบัติ 2 แนวทางด้วยกัน

แนวทางแรก เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนเมื่อทำการการสอบสวนแล้ว พบว่า การตายเกิดจากการกระทำความผิดอาญาโดยมีการกล่าวหาว่า มีผู้ทำให้นายธวัชชัยถึงแก่ความตาย เมื่อพนักงานสอบสวนไดัทำการสอบสวนคดีเสร็จแล้ว ต้องส่งสำนวนสำนวนดังกล่าว พร้อมความเห็นทางคดีไปพร้อมสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพและคำสั่งของศาลอาญา และสำนวนไต่สวนการตายไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวว่ากระทำผิดอาญาฐานใดหรือไม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย และมาตรา 150 วรรค 11 ซึ่งการสั่งของอัยการสูงสุดไม่ว่าจะสั่งฟ้องขัอหาใดหรือไม่ถือเป็นที่สุด

ส่วนอีกแนวทางหนึ่งในกรณีที่พนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนแล้ว เห็นว่า การตายไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลใด คือไม่ได้มีการตั้งสำนวนกล่าวหาใคร ตรงนี้เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นจะต้องส่งสำนวนประเภทนี้ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา มาตรา 156 ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้วิธีปฏิบัติและผลทางกฎหมายที่แตกต่างกัน...


กำลังโหลดความคิดเห็น