xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เสรีภาพของอุดมศึกษาต้องมีธรรมาภิบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๗/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในข้อ 4 ยังกำหนดให้ คณาจารย์และบุคลากรอื่นของสถาบันอุดมศึกษานั้นซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์แต่เป็นข้าราชการหรือพนักงานของสถาบันอุดมศึกษานั้นมีสิทธิเลือกและดำรงตำแหน่งในสภาคณาจารย์ได้เช่นเดียวกัน

ต้องขอพูดตรงๆ ว่า ทำไม รัฐบาลต้องทำแบบนี้ ก็เพราะในมหาวิทยาลัยไทยในสมัยนี้ ขาดธรรมาภิบาล บางที่เอาเงินทุนคณะไปลงทุนสร้างและซื้อตึกแถวและหมู่บ้านจัดสรรขายใช้เงินที่หามาจากการเปิดภาคพิเศษ ภาคสมทบ ภาคอินเตอร์ หรือการรับนักศึกษาปริมาณมหาศาล (โดยมีปัญหาด้านคุณภาพ) มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดปกติไม่โปร่งใสขาดธรรมาภิบาล หลายที่มีปัญหาให้นายทุนเข้ามาครอบงำจนอดีตอธิการบดีผู้อาวุโสเป็นที่เคารพนับถือในสังคมต้องออกมาพูดว่าให้เอาชื่อท่านออกไปจากสถานที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเสีย หลายที่กัดตีกันแย่งชิงผลประโยชน์เล่นพรรคเล่นพวกกันยิ่งกว่าหมากัดกัน บางที่เลือกหรือสรรหาอธิการบดีไม่ได้มาหลายปีแล้ว ไม่อยากจะเอ่ยชื่อมหาวิทยาลัยดังกล่าวออกมา และไม่ได้มีแค่ที่เดียว มีหลายที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นแหละตัวดี ตีกันไม่เลิก เน่าจนรัฐบาลเองก็ไม่อยากจะแตะ แต่จะไม่แตะก็ไม่ได้ ประเทศชาติเสียหายหนัก คดีฟ้องร้องกันในศาลปกครองนั้นจำนวนมากเกิดจากปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ยิ่งมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นองค์การอิสระในกำกับของรัฐ ยิ่งออกระเบียบกันตามอำเภอใจ ใช้เงินกันอย่างไม่ถูกต้อง ที่สำคัญที่สุดในยุคนี้เกิดปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มวัย ทำให้มีปัญหานักศึกษาลดจำนวนลงยิ่งเกิดการแข่งขันกันลดแหลกแจกแถม ลดคุณภาพการเรียนการสอนลงเพื่อดึงดูดนักศึกษา มีหลักสูตรพิสดาร จ่ายครบ จบง่ายเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งนอกที่ตั้งและในที่ตั้ง

มันไม่ใช่เรื่องว่าสมัย ทหารจะมาปกครองมหาวิทยาลัยเพื่อกุมความคิดปัญญาชนหรอกครับผม นั่นมันสมัยเดือนตุลาคม ก่อนประชาธิปไตยเบ่งบาน ทหารเข้ามาเป็นอธิการบดี กรรมการสภามหาวิทยาลัยกันมากมาย แต่ยุคนี้ไม่ได้มีสภาพการณ์เช่นนั้นเลย

ปัญหาที่แท้จริงคือมหาวิทยาลัยไทยมันเน่าใน เน่าจากเนื้อใน อยู่ดีๆ ทหารไม่ได้อยากเข้ามา เขาออกกฎหมายแบบนี้เพื่อแก้ปัญหาธรรมาภิบาลอุดมศึกษา

ยกตัวอย่างมีมหาวิทยาลัยบางแห่งตีกันไม่เลิก ตีกันจริงๆ ปิดล้อมมหาวิทยาลัย ใช้กำลังอาวุธเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัยเยี่ยงนักเลงหัวไม้ จนรัฐบาลต้องใช้ ม.44 ให้คนนอกเข้าไปบริหาร ทำหน้าที่ท้าวมาลีวราช ถือถังน้ำร้อนไปสาดให้หมามันเลิกกัดกันแล้วมาสนใจดูแลการเรียนการสอนดูแลนักศึกษาบ้างก็เท่านั้นเอง

ส่วนจะใช้ ม.44 แบบที่ว่าพร่ำเพรื่อ มันก็ไม่ไหว มหาวิทยาลัยไทยมีเป็นสองสามร้อย จะประกาศ ม.44 รายวันมันก็ดูไม่สมเหตุสมผล

อย่าโยงไปเรื่องการเมืองเลยว่าทหารจะเข้ามาคุมมหาวิทยาลัย มันไม่ใช่เรื่องนั้นเลย สมัยเดือนตุลาคม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้ตีกันแบบนี้ สภามหาวิทยาลัยไม่ได้เกาหลังกันเองหรือเล่นพรรคเล่นพวกขนาดนี้ สถานการณ์มันต่างกัน (ในทางที่เลวลงไปมาก) และมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาก็ไม่ได้มีมากขนาดนี้

ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีปัญหาธรรมาภิบาล รัฐบาลก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงให้ถูกด่าออกมาอย่างแน่นอน ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาธรรมาภิบาล (ที่ยังมีอีกมาก) รัฐบาลก็จำเป็นต้องเข้าไปแก้ปัญหา

รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้แสดงความเห็นว่า “เห็นด้วยกับการแก้ปัญหานี้ด้วยคำสั่งนี้ แต่เป็นคำสั่งที่ปลายเปิดไปหน่อย ถ้ากำหนดไว้ว่าเอาแค่ 65 ปีก็น่าจะดี แก่กว่านี้ยอมรับว่ามีประสบการณ์ แต่ความคิดความอ่าน ความทันสมัย ความแคล้วคล่องว่องไว และการทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการบริหารน่าจะไม่เป็นการดีกับองค์กรและการดำเนินงานด้านต่างๆ ในด้านการศึกษา แก่กว่า 65 ถ้าจะช่วยมหาวิทยาลัย ไปเป็นอาจารย์พิเศษ กรรมการสภา หรือกรรมการด้านต่างๆ ในมหาวิทยาลัยถือว่าเหมาะสมกว่าเข้าไปทำหน้าที่บริหาร นี่ขอพูดตามประสบการณ์ตรงที่ตนเองมี เพราะได้ถูกเสนอชื่อและถูกทาบทามให้ไปเป็นอธิการบดีหลายแหง แต่ได้แจ้งไปว่าอายุเกินแล้ว ฝ่ายทาบทามบอกว่าไม่มีข้อห้ามเรื่องอายุ ก็ต้องชี้แจงไปว่าผมกำหนดของผมเองว่าถ้าเกิน 65 แล้วไม่ควรทำหน้าที่ใดๆ ที่เป็นฝ่ายบริหาร ยินดีช่วยเป็นกรรมการหรืออาจารย์พิเศษเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันแค่เป็นกรรมการก็ต้องทำหน้าที่แทบไม่ได้อยู่บ้าน แต่ก็ยินดีที่ได้ทำงานในลักษณะนี้ เพราะได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ดีๆ มาช่วยส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่รุ่นหลังได้ตั้งใจทำงาน ทั้งทางวิชาการและการบริหาร”

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ได้แสดงความคิดเห็นว่า “อยู่ในวงการนี้มาสามสิบปี..ปัญหานี้มีมากสุดเพราะต่างคนต่างอยากเป็นใหญ่ในองค์กร ยอมหักไม่ยอมงอ...โดยเฉพาะเหล่ามหาวิทยาลัยนอกเขตกรุงเทพ (ในกรุงเทพ ก็มี)...ยิ่งมีศาลปกครอง ฟ้องง่าย ฟ้องกันไปฟ้องกันมา คนอยู่ในตำแหน่งขณะถูกฟ้องก็รักษาการไปเรื่อยๆ กว่าคดีจะสิ้นสุดก็อยู่อยู่อีกหลายปี ยิ่งนานก็ยิ่งแบ่งแยกแบ่งกลุ่ม กลายเป็นโรคเรื้อรัง...ศรีธนญชัยเยอะมาก ผลัดกันเกาหลัง ซื้อใจกันตั้งแต่คณะกรรมการสรรหาจนถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย...เคยเรียกหลายคนว่าเป็นพวกมีอาชีพพิเศษ...อาชีพอธิการบดี...ไม่เคยคิดว่าคนอื่นจะทำได้ดีกว่าตน ต้องตนเองเท่านั้น...อยู่นานนับสิบปี ไม่ใช่เพราะความสามารถในการบริหารงานการศึกษา แต่บริหารผลประโยชน์ได้ลงตัว...”

ชาวมหาวิทยาลัยที่เกาะกระแสนี้เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการและลามไปถึงอ้างเพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองและการเลือกตั้ง น่าจะพิจารณาเงาตัวเองก่อนว่า เสรีภาพของอุดมศึกษาที่ปรารถนาจะได้มานั้น มีธรรมาภิบาลเพียงพอหรือยัง?


กำลังโหลดความคิดเห็น