xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คดีสลายการชุมนุม พธม. ป.ป.ช. สู้ป้อแป้ แพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฐมบทการนำคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายบาดเจ็บอีก 471 คน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น

ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดที่มี ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ชี้มูลความผิดกับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

อย่างไรก็ตามกว่าที่คดีจะถูกพิจารณาในชั้นศาล ก็ต้องกินเวลาไปกว่า 6 ปี เนื่องจาก สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นไม่ตรงกับ ป.ป.ช. พิจารณาไม่ส่งฟ้องศาล หลังมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวหลายหนก็ตาม และได้ตีกลับสำนวนไปให้แก่ ป.ป.ช.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.ก็มีมติในการยื่นฟ้องต่อศาลเอง โดยการประสานกับทางสภาทนายความในการว่าความ

จนเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ป.ป.ช.ชุดของนายปานเทพ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อวาระให้ชั่วคราว ก็ได้ส่งสำนวนฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง

ในสำนวนฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้ง 4 มีคำสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.-ส.ว. เข้าประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของนายสมชาย แต่ทางผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา นายสมชายได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ พร้อมเรียก พล.ต.อ.พัชรวาท ผบ.ตร.ในขณะนั้น และ พล.ต.อ.สุชาติ ผบช.น. และในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เข้ารับฟังนโยบายของรัฐบาลต่อสถานการณ์ชุมนุม และมีคำสั่งให้ฝ่ายตำรวจต้องดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้ จนทำให้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณโดยรอบรัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ป.ป.ช.ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า “เป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม และไม่ได้ดำเนินการตามหลักสากลที่ใช้สลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต”

ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลได้ประทับรับฟ้อง และนัดไต่สวนพยานนัดแรก เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559

แต่ระหว่างนั้นก็มี “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญเกิดขึ้น เพราะช่วงปลายปี 2558 กรรมการ ป.ป.ช.ได้ทยอยพ้นวาระการดำรงตำแหน่งพร้อมกันถึง 5 จาก 9 คน ได้แก่ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช., วิชา มหาคุณ, วิชัย วิวิตเสวี, ประสาท พงษ์ศิวาภัย และ ภักดี โพธิศิริ

ถือเป็นการถ่ายเลือดครั้งใหญ่ และส่งผลให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่เคยดูแลคดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯไม่หลงเหลืออยู่เลย ตลอดจนการเข้ามาของ ป.ป.ช.ชุดใหม่ ที่มีชื่อ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมอยู่ด้วย

แถม “บิ๊กกุ้ย” ยังนอนมาแบบไม่มีพระนำขึ้นตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. อีกต่างหาก โดยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า เป็นเพราะแรงสนับสนุนของพี่น้อง “วงษ์สุวรรณ” ทั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมทั้ง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. เจ้านายเก่าของ “บิ๊กกุ้ย” สมัยรับราชการอยู่ในรั้วกรมปทุมวัน สำนักงานตำแหน่งชาติ (สตช.)

จนมีการขุดคุ้ยสายสัมพันธ์ของ “ประธานกุ้ย” กับ “พี่ป้อม-น้องป๊อด” ทำให้เห็นร่องรอยของความแนบแน่นระหว่างกันที่ชัดเจนขึ้น ย้อนกลับไปสมัย “บิ๊กป๊อด” เป็น ผบ.ตร.นั้น หน้าที่การงานของ “บิ๊กกุ้ย” รุ่งโรจน์อย่างมาก ได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆ เพียบ ไม่ว่าจะเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร.ด้านการบริหาร ก่อนที่ดรอปๆลงไป และกลับมาเปรี้ยงอีกครั้ง หลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วเพื่อนซี้อย่าง “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ก็ลุกออกจากเก้าอี้ ผบ.ตร. เปิดทางให้ “บิ๊กกุ้ย” ได้สัมผัสเก้าอี้ “จ่าฝูงสีกากี” รักษาการแทน ผบ.ตร. จนเกษียณอายุราชการ

ก่อนได้รับความไว้วางใจจาก “บิ๊กป้อม” ที่แต่งตั้งให้มาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ช่วยงานรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง อยู่ในทำเนียบรัฐบาล ประทับตรา “เด็กป้อม” ไว้กางหน้าผาก

พลันที่มีการเปิดสรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่ พล.ต.อ.วัชรพล ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และลุกจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเชื่อว่าได้รับไฟเขียวจาก “ลูกพี่” แล้ว ส่งผลให้คาดการณ์กันว่า พล.ต.อ.วัชรพล จะเข้าวินเป็น ป.ป.ช.แน่นอน

แต่ที่ผิดคาดก็คือการผลักดัน พล.ต.อ.วัชรพล ขึ้นตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ข้ามหน้ากรรมการ ป.ป.ช. ชุดเก่าที่มีอาวุโสมากกว่าไปอย่างสบายๆ

พลันที่ “บิ๊กกุ้ย” ขึ้นเป็น “บิ๊กบอสปราบโกง” ก็ขับเคลื่อน “ภารกิจพิเศษ” ที่ได้รับมอบหมายมาในทันที นั่นก็คือการหยิบจับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นหนึ่งในจำเลย ซึ่งตอนนั้นอยู่ในมือของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว

โดยช่วงเดือนเมษายน 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้ลงมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯ 7 ตุลาฯ 51 โดยอ้างว่า 3 ใน 4 จำเลย คือ นายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ พร้อมใจกันร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม เข้ามาที่ ป.ป.ช. ให้พิจารณาถอนฟ้องคดี

พอเรื่องแดงขึ้นมาก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และเป็นการเฉลยว่าทำไมประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ถึงต้องเป็น พล.ต.อ.วัชรพล

อย่างไรก็ตามที่สุดแล้ว “ท่านประธานกุ้ย” ก็ไม่กล้าลุยไฟ โดยเฉพาะเมื่อถูกดักคอจาก ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติชอบ เพิ่มเติมปี 2554 ของสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุว่า การตั้งคณะทำงานศึกษาของ ป.ป.ช.เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะคดีอยู่ใน “เขตอำนาจศาล” และอยู่นอกเขตอำนาจ ป.ป.ช.แล้ว จึงมองได้ว่า สิ่งที่ประธาน ป.ป.ช.กำลังทำอยู่เป็นการ "ท้าทายอำนาจศาล” ตลอดจนถึงการ "ท้าทายกระแสสังคม" โดยเฉพาะห้วงเวลาที่ 3 จำเลยยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ประจวบเหมาะกับที่ "บิ๊กกุ้ย" เข้ามาเป็นประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ทั้งที่ศาลฎีกาฯได้ประทับรับฟ้องคดีนี้ไปเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว

เช่นเดียวกับ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.และอดีตประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาฯ51ที่ระบุในช่วงนั้นว่า คดีใดที่ ป.ป.ช.ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาล และศาลมีคำสั่งรับและดำเนินการพิจารณาไปแล้ว ย่อมไม่สามารถหยิบยกข้ออ้างมาขอถอนฟ้องได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดอำนาจดังกล่าวเอาไว้ ทั้งนี้ มาตรา86 ของพ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น ดังนั้น ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุข้อยกเว้นให้สามารถทำได้ จึงต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ความเห็นของอดีต ป.ป.ช.อย่างนายวิชา ก็ทำให้ ป.ป.ช.ชุดใหม่ถึงกับชะงัก และมีมติไม่ถอนฟ้อง คดีก็เดินหน้าไปตามกระบวนการ และใช้เวลาปีกว่า ก่อนไต่สวนพยานนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 พร้อมการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของฝ่ายจำเลย

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาปีเศษที่มีการไต่สวนสู้คดีในชั้นศาล ก็มีการตั้งข้อสังเกตทิศทางการต่อสู้ของ ป.ป.ช.ในชั้นศาลฎีกาฯว่า ลดระดับความเข้มข้นลงไปอย่างมากหลังพยายามถอนฟ้องคดีแล้วไม่สำเร็จ

เมื่อ “แผนเอ” ไม่สำเร็จ ก็มีการเดิน “แผนบี” ต่อ ในการสู้คดีแบบไม่เต็มที่ จนมีข้อวิจารณ์ “มวยล้มต้มคนดู-ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ดังระงมมาอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งเมื่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ออกมาแบบผิดจากความคาดหวังไปไม่น้อย หลังองค์คณะผู้พิพากษาตัดสิน “ยกฟ้อง” จำเลยทั้งหมดแบบไม่เอกฉันท์ 8 ต่อ 1 เสียง ก็ทำให้ย้อนไปถึงข้อวิจารณ์การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ระหว่างการต่อสู้คดีในฐานะโจทก์ ในชั้นศาลฎีกาฯ

โดย วีระ สมความคิด หนึ่งในผู้ที่ได้เข้าไปให้การในชั้นศาล ออกมาระบุว่า ตอนเข้าไปร่วมให้การก็สังเกตเห็นว่า “โจทก์ประหนึ่งไม่เต็มใจขึ้นชก”

“มองเห็นเค้าลางของคำพิพากษาในวันนี้ ตั้งแต่ประธาน ป.ป.ช.คนปัจจุบัน เด็กของประวิตร พยายามจะถอนฟ้องคดีนี้ และยิ่งเห็นชัดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2559 ที่เราไปเป็นพยานโจทก์เปิดคดีปากแรก ได้เห็นการทำหน้าที่ของทีมทนายแล้วหวั่นใจ และแล้วที่คาดไว้ก็ไม่ผิดคาดจริงๆ” นายวีระ ระบุไว้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวเสียงแข็งเมื่อถูกถามถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ที่บอกว่างานนี้เพราะลุงป้อมนั้น ลุงป้อมยังไม่ได้ทำอะไร เพราะยังไม่ได้เจอน้องชายเลย และก็ไม่ได้โทรศัพท์คุยให้กำลังใจกัน และไม่ได้ทำอะไรให้ด้วย ผมดูแลเเฉพาะเรื่องส่วนตัว”

และเมื่อย้ำว่า เหตุที่ศาลยกฟ้องคดีนี้ เป็นเพราะจำเลยมีนามสกุลวงษ์สุวรรณหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “มันจะไปเกี่ยวอะไร เพราะในคดีมีคนเป็นอดีตนายกฯ 2 คน แต่ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นอดีต ผบ.ตร. เท่านั้น”

แต่เรื่องราวมหากาพย์ “คดี 7 ตุลาทมิฬ” นี้ก็ยังไม่จบบริบูรณ์ ก็เผอิญว่า รัฐธรมนูญฉบับใหม่ ได้เปิดช่องไว้ในมาตรา 195 ที่ให้สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน โดย อุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะเป็นโจทก์ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันที แม้ในเวลานี้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ เพิ่งจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. และยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม

สำหรับท่าทีของ ป.ป.ช.ก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร มีการอ้างขอทำการศึกษาข้อกฎหมาย รวมทั้งคำวินิจฉัยขององค์คณะผู้พิพากษาเสียก่อน จึงจะตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่

มีเพียง 2 ทางเลือกสำหรับ ป.ป.ช.ของ พล.ต.อ.วัชรพล ในการยื่นอุทธรณ์เพื่อให้สังคมสิ้นสงสัย หรือตัดจบเรื่องโดยการไม่ยื่นอุทธรณ์ ตัดจบมหากาพย์คดี 7 ตุลาฯ ที่ยืดเยื้อมาถึง 9 ปีเต็มๆ

หาก ป.ป.ช.เลือกเดินทางแรกโดยการยื่นอุกทธรณ์ ที่แม้จะมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะพลิกคำพิพากษาจากขาวเป็นดำ แต่ก็ยังพอทำให้เชื่อได้ว่า ป.ป.ช.เต็มที่กับการทำหน้าที่ และเป็นการกู้หน้าของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เอง ที่ครั้งหนึ่งมีมติชี้มูลความผิดจำเลยทั้ง 4 คนไปแล้ว

แต่หาก ป.ป.ช.เลือกอีกทาง ในการไม่ยื่นอุทธรณ์ ก็จะเป็นการแก้ผ้าล่อนจ้อนให้เห็นธาตุแท้ของ ป.ป.ช.ชุดนี้ อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความไม่เต็มที่ของ “ท่านประธานกุ้ย” ที่ได้รับ “ภารกิจพิเศษ” ในการปลดเปลื้องพันธนาการให้กับ “นาย” ที่สำคัญยังจะเป็นบรรทัดฐานในการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.วัชรพล ที่กว่าจะหมดวาระก็ปาเข้าไปปี 2565 นู่น เมื่อมีข้อครหาถึงตัวประธาน ก็คงหมายรวมไปถึงองค์กรด้วย

การตัดสินครั้งนี้จึงเดิมพันไว้ด้วยศรัทธาประชาชนที่จะมีต่อองค์กรปราบโกงอย่าง ป.ป.ช.ในอนาคตด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น