xs
xsm
sm
md
lg

สธ.รื้อระบบให้บริการคนไข้ หลังเจอดรามา รอคิวจนตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-รมว.สธ. เสียใจเหตุเด็ก 15 ปี รอคิวเสียชีวิต เหตุเป็นโรคหายาก พบไม่บ่อย ขออย่าวิตก “รอคิวจนตาย” พร้อมปรับปรุงระบบบริการให้เร็วขึ้น ขอประชาชนเข้าใจ เหตุจำนวนบุคลากรน้อย แต่ภาระงานมาก ด้านนางพยาบาลโอดท้อแท้โดนสังคมกระหน่ำโจมตี ย้ำทำตามหน้าที่ ไม่เลือกปฏิบัติ

จากกรณีดรามาเด็กชายวัย 15 ปี มารักษาพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง โดยญาติร้องว่าบุคลากรทางการแพทย์ปล่อยให้รอจนเกิดภาวะช็อกแล้วเสียชีวิต โดยสาเหตุมาจากอาการเส้นเลือดใหญ่โป่งพองในช่องอกแตก ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรอคิวรักษาในโรงพยาบาล

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่โรคที่เป็นนั้นเกิดขึ้นได้ยาก และไม่ได้พบได้บ่อย บางครั้งในชีวิตของแพทย์บางคนอาจไม่พบเลย จึงไม่อยากให้ประชาชนมองเป็นตัวอย่างว่าหากรอนานจะมีผลเสีย เพราะระบบของการแพทย์ทั่วโลกทุกคนต้องรอคิว แต่สิ่งที่สำคัญ คือ กระบวนการคัดกรอง ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเมื่อไปถึงสถานบริการก่อนที่จะมีการตรวจก็จะมีการวัดความดัน ตรวจชีพจร หากพบความผิดปกติ ก็จะมีการคัดกรองว่า มีความเร่งด่วนมากน้อยหรือพอนั่งรอได้ เป็นต้น

“ผมไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลว่าการไปนั่งรอจะต้องเกิดกรณีลักษณะนี้ทุกราย เพราะต้องดูที่อาการมากกว่า และระบบของเราก็มีการคัดกรองก่อน บางครั้งก็จะมีพยาบาลมาคอยสอบถาม และถ้านั่งรอแล้วเกิดมีอาการไม่พึงประสงค์ ก็น่าจะมีช่องทางให้สามารถไปบอกกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเข้าใจกันซึ่งกันและกัน เนื่องจากทุกฝ่ายอยากได้รับบริการที่รวดเร็วและดีที่สุด แต่ก็ต้องเข้าใจในจำนวนของเจ้าหน้าที่ด้วย” รมว.สธ. กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สธ. พร้อมที่จะปรับปรุงให้ระบบบริการให้ดีขึ้น ซึ่งทุกโรงพยาบาลกำลังหาทางแก้ไข ทั้งเรื่องการเข้าพบแพทย์และได้รับการตรวจที่เร็วที่สุด โดยขณะนี้มีการพัฒนาหลายรูปแบบ อาทิ กระจายระบบการตรวจไม่ให้มากระจุกที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์อย่างเดียว โดยตั้งคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี จะมีคลินิกหมอครอบครัวรอบโรงพยาบาลขนาดใหญ่สามารถดูแลคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว หากมีปัญหาต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ก็สามารถส่งได้โดยตรง ส่วนระบบนัดหมายก็จะใช้เทคโนโลยีที่ทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้นเช่นเดียวกับระบบจ่ายยา ซึ่งตนเชื่อว่าโรงพยาบาลทุกสังกัด พยายามที่จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัด สธ. ในฐานะโฆษก สธ. กล่าวว่า สธ. ได้มีการตั้งคณะกรรมกรสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจะทราบผลภายใน 2-3 วัน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็น่าเห็นใจ เพราะว่าทำงานหนักอยู่แล้ว

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตทราบว่าเกิดจากเส้นเลือดใหญ่แตก ซึ่งถือเป็นกรณีที่พบได้น้อยและวินิจฉัยได้ยาก ทั้งยังเกิดขึ้นในเด็กที่พบได้น้อยมากประมาณ 3-5 คนต่อประชากรล้านคน และส่วนมากพบในผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูงมาก่อน เป็นกลุ่มไขมันพอกเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดเปราะบาง โดยโรคนี้ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษหรือเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ที่จะทำให้เห็นแบบสามมิติ ไม่สามารถตรวจได้ด้วยวิธีปกติได้

อย่างไรก็ตาม สธ. อยากขอความรวมมือประชาชนให้บอกอาการให้ละเอียดทุกครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้การรักษาที่แม่นยำและรวดเร็วขึ้น ส่วนการช่วยเหลือและการเยียวยานั้นเป็นไปตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขณะที่ทางโรงพยาบาลก็จะมีการช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย

นางสมจิต กายสอน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่ประจำห้องตรวจอายุรกรรม งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า กรณีที่มีคลิปวีดีโอภาพตนในระหว่างที่ให้การช่วยเหลือน้องนิว ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และได้ถูกเผยแพร่ออกไปในโลกโซเชียล ทำให้ถูกกระแสสังคมวิพากย์วิจารณ์ในหลายแง่มุม จนทำให้ตนเกิดอาการเครียดและรู้สึกท้อแท้อย่างมาก อีกทั้งหลังจากเกิดเรื่องดังกล่าว ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี เมื่อได้พบเห็นกับตนก็มองด้วยสายตาที่แปลกไปจากเดิม ตนรู้สึกกดดันเป็นอย่างมากและอึดอัด จึงวอนขอให้สังคมได้เข้าใจถึงหัวอกของพยาบาลทุกคนที่มีความรักในวิชาชีพ มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคนแบบไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านั้นได้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นั้นคือความมุ่งหมายสูงสุดของคนเป็นพยาบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น