xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เงื่อนงำพฤติกรรมทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"โสภณ องค์การณ์"

ผลงานของรัฐบาลคุณท่านไม่เป็นที่น่าประทับใจ มีโพลแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นสำนักใด มักจะเป็นผลงานแต่ละเรื่องสำคัญผ่านแบบเฉียดฉิว บางเรื่องก็สอบตก แต่นั่นแหละเรื่องของการทำโพลในบ้านเรามักถูกมองว่าขาดความแม่นยำ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ

ชาวบ้านทั่วไปยังเชียร์และชื่นชมคุณท่านผู้นำลุงตู่เหมือนเดิม เป็นขวัญใจในยามที่การเมืองไร้นักการเมืองมีส่วนร่วมในการบริหาร เป็นอย่างนี้มานานกว่า 3 ปีแล้ว และยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีเลือกตั้งตามโรดแหม็บๆ ที่ขาใหญ่ในรัฐบาลพูดย้ำซ้ำซากหรือไม่

เมื่อมีโพลออกมาในเรื่องสำคัญ น่าเชื่อถือหรือไม่ ชื่อของสำนักจึงมีน้ำหนัก

จะว่าเป็นโพลห่วยทุกครั้ง ไม่น่าจะถูกเช่นกัน เว้นแต่ว่าทุกสำนักพร้อมกันทำโพล แบบลวกๆ หรือเอาใจหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ประเภทโพลรับจ้างหวังผลเฉพาะกิจ มีโพลขาประจำบางรายถูกมองว่าไร้ความน่าเชื่อถือ ชาวบ้านไม่ให้ราคา ทำไปก็เท่านั้น

ถ้าให้ทำโพลขณะนี้ สอบถามประชาชนว่าจะมีเลือกตั้งปีหน้าหรือไม่ คำตอบน่าจะไปคนละแนว แม้แต่คนรัฐบาลพูดย้ำว่าจะมีเลือกตั้งปีหน้าแน่นอน คนฟังยังจ้องหน้าเหมือนใช้สายตาถามว่าที่พูดออกมานั้น คนพูดเชื่อในคำพูดของตัวเองหรือไม่

แสดงว่าการพูดเรื่องเดียวบ่อยๆ เป็นเพราะคนฟังเริ่มไม่เชื่อว่าจะมีเลือกตั้งนั่นเอง ต่างจากความคิดของฮิตเลอร์ผู้นำนาซีเยอรมันนียุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บอกว่ายิ่งโกหกคำโตบ่อยครั้งเท่าไหร่ โอกาสที่คนฟังจะเชื่อโดยสนิทใจก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

กรณีรัฐบาลของคุณท่านลุงตู่ อาจมีผลย้อนเป็นลบเพราะเกิดจากการพูดมาก พูดยาวเกินไป บ่อยเกินไป ชาวบ้านไม่ติดใจตามฟังทุกเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความน่าเบื่อในสภาวะของ “การรู้ทุกเรื่อง” แต่ผลงานจากการกระทำไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น

อย่างที่ว่า “พูดจาน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” หรือ “มัวแต่พูดพล่ามทำเพลง” เมื่อชาวบ้านฟังแต่คำพูดยาวๆ นานกว่า 3 ปี เป็นธรรมดาที่คำพูดสะสมเริ่มเกินผลงานที่เป็นเนื้อเป็นหนัง แถมสภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องไม่ได้รับการแก้ไขให้สำเร็จจริงจัง

ชีวิตคนรากหญ้า พ่อค้าแม่ขายนอกห้างจึงทะยอยเฉาตายเพราะสินค้าขายไม่ออก อำนาจการซื้อของขาวบ้านถดถอย สภาพเศรษฐกิจโดยรวมซบเซาเกือบทั้งโลก

เมื่อชาวบ้านจะบ่น เรียกร้องนั่นนี่โน่นโดนสวนกลับ ถูกตะคอก ทำให้อารมณ์บูดสะสมตกค้าง เมื่อถึงเวลาคุณท่านพูดอะไร คนรู้ทันลีลาจึงไม่ให้ความเชื่อถือ แต่ก็ยังมีชาวบ้านเอาใจช่วยเพราะทางเลือกคือนักการเมืองเสือหิวและเสือลำบากรอเข้ามาแทน

ชาวบ้านจึงมองว่า “อยู่กับผีที่รู้จักมักคุ้น ดีกว่าไปเสี่ยงกับผีตัวที่ไม่รู้จัก” แต่ก็ยังมีเหมือนกันที่บอกว่าอยู่แบบนี้เหมือนตายซาก ไปเสี่ยงกับนักการเมืองดีกว่า อย่างน้อยก็ยังด่ามันได้บ้างถ้าทำอะไรไม่ถูกใจ ไม่กล้าตะคอกใส่ชาวบ้านเพราะยิงคำถามแทงใจ

เป็นธรรมชาติของทุกรัฐบาล ถ้าย่างเข้าปีที่ 4 ถ้าไม่มีผลงานดีเลิศถูกใจ ความเบื่อหน่ายย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ความนิยมย่อมเสื่อมได้ ถ้าไม่สามารถผูกใจคน ยิ่งคุณท่านผู้นำไม่ใช่นายแสนดีวจีไพเราะ พูดจากระโชกโฮกฮาก คนไม่ชอบยิ่งเหม็นหน้ากว่าเดิม

ก็คุณท่านพูดเองอย่างน้อย 2 ครั้ง “ผมขอบคุณท่านที่ชอบผม และขอบคุณท่านที่ไม่ชอบผม” อะไรทำนองนั้น เป็นเชิงตัดพ้อเล่นลีลา เป็นลูกเล่นเดิมๆ ที่มนต์เริ่มไม่ขลัง

ระยะหลังปรากฎว่าคำพูดคำจาของคุณท่านในเรื่องสำคัญมักมีคำถามย้อนและคำถามย้ำซ้ำซากจากผู้สื่อข่าว นักการเมืองว่างงาน หรือคนในวงการอื่นๆ สร้างความหงุดหงิดให้คุณท่านเสมอ คนสำคัญในรัฐบาลคุณท่านก็เผชิญสถานการณ์เดียวกัน

หมายความว่าบุคคลในรัฐบาลคุณท่านมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ ความน่าไว้วางใจ เช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นจริง ปัญหามาจากอะไร ผู้ติดตามสถานการณ์น่าวิเคราะห์ให้ชาวบ้านได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการสังเกต เพราะอนาคตบ้านเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

ปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ หรือการดิสเครดิตโดยฝ่ายใดก็ตามจะไม่มีผล ถ้าชาวบ้านไม่เชื่อตามนั้น และส่วนใหญ่เกิดจากรูปแบบพฤติกรรมซ้ำๆ โดยตัวคุณท่านเองหรือคนในคณะรัฐบาลเช่นการพลิกไปพลิกมากรณี พรก. กฎเข้มเรื่องแรงงานต่างด้าว

เมื่อขาดความรอบคอบ เจตนาไม่โปร่งใสในการออก พรก. ทำให้เกิดผลกระทบหนัก อย่างที่รับรู้กัน แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหนีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญา ผู้ประกอบการ ชาวบ้านที่พึ่งแรงงานต่างด้าวต้องลำบาก ไม่มีใครเสนอหน้ารับผิดชอบ

เหมือนกรณีออกกฎเข้มเกี่ยวกับเรื่องการใช้รถปิกอัพ ทำให้เกิดปัญหา มีข้อสงสัยว่าการบริหารบ้านเมืองมีความเป็นมืออาชีพ หรือแบบมือสมัครเล่น ใช้วิธีลองผิดลองถูก

เมื่อเจตนาไม่ชัดเจน ขาดความโปร่งใส ตอบคำถามมีเหตุผลไม่ได้ นั่นคือปัญหาความน่าเชื่อถือ ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธา ถ้าเสียไปแล้วโอกาสฟื้นลำบาก เพราะคนไม่เชื่อเสียแล้ว ทั้งยังสร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ อยู่ในสภาวะ “ทำอะไรก็ผิด” นั่นแหละ

การดันทุรังไม่ฟังใคร ก็สร้างความรู้สึกไม่น่าไว้ใจ ยิ่งมีกลิ่นทุจริตโชยต่อเนื่อง จะหวังให้ชาวบ้านรักใคร่ตลอดไป ความนิยมไม่ตกนั้น เป็นไปไม่ได้ในวงการเมือง การสร้างหอชมเมืองก็มีปัญหาคำอธิบายไม่กระจ่าง เหตุผลไม่หนักแน่น ขาดความโปร่งใส

ล่าสุด การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ถ้าไล่ดูรายชื่อของกรรมการก็มีเสียงโวยวายว่าไม่มีตัวแทนของภาคประชาสังคม บุคคลที่มักวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาตำรวจ เรื่องพฤติกรรมไม่สุจริต กินส่วย รีดไถ ทำให้ดูไม่จริงใจ มีผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือ

พฤติกรรมเป็นตัววัด ถ้าเกิดวิกฤติความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น วิกฤตศรัทธาแล้ว โอกาสที่จะฟื้นคืนได้นั้นยากกว่าหาบันไดไต่ขึ้นสวรรค์ ต่อให้ใช้มาตรา 44 บังคับก็ไร้ผล


กำลังโหลดความคิดเห็น